เป็นเวลา 7 ปีแล้วที่ Wongnai สร้างขึ้นจากความฝันที่จะเป็นพื้นที่รีวิวร้านอาหารในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันก็เป็นเบอร์หนึ่งในเรื่องนี้แล้ว แต่จะหยุดแค่นั้นก็ใช่เรื่อง และก้าวต่อไปของธุรกิจนี้คือการเป็น Lifestyle Platform
Disclaimer // Wongnai เป็นเจ้าของเว็บไซต์ Brand Inside และ Blognone
หยุดยาก เพราะโอกาสธุรกิจยังมีอีกมาก
วัยหนุ่มสาวหลายๆ คนคงคุ้นเคยกับชื่อ Wongnai กันบ้าง เพราะบริการนี้กลายเป็นมาตรฐานในการหาร้านอาหารที่อร่อย เหมือนกับคนรุ่นก่อนที่ต้องมีตำราเชลล์ชวนชิม หรือเปิบพิศดารเวลาจะเดินทางไปหาร้านอาหารดีๆ และถึงทั้งคู่จะเหมือนกัน แต่จริงๆ ก็ต่าง เพราะที่ก่อตั้งมาก่อนจะใช้คนเพียงไม่กี่คน แต่ Wongnai ใช้คนทั่วไปช่วยกันประเมิน
ยอด ชินสุภัคกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วงใน มีเดีย จำกัด เล่าให้ฟังว่า User-Generated Content (UGC) คือหัวใจของบริษัทในการเติบโตขึ้น ผ่านร้านอาหารที่ถูกรีวิวหลักแสนแห่ง โดยผู้ใช้งานกว่า 8 ล้าน UIP (Active ราว 7 แสน/เดือน) และความแข็งแกร่งนี้ การต่อยอดไปในธุรกิจอื่นก็เป็นไปได้
“ผมเคยมองว่า Wongnai เป็นเบอร์หนึ่งเรื่องรีวิวร้านอาหาร แต่ถ้ามองอย่างนั้นก็คงวนอยู่ในเรื่องเดิมๆ ดังนั้นการก้าวข้ามไปที่ตลาดอื่นๆ ก็น่าจะมีความท้าทายมากกว่า และด้วยปัจจุบันเรามีทั้งรีวิวร้านอาหาร, สอนทำกับข้าว และบริการความสวยความงาม การจะก้าวขึ้นไปสู่ Lifestyle Platform ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก”
เป้าหมายใหม่ กับ Lifestyle Platform
การเดินเกมไป Lifestyle Platform ยังทำให้บริษัทต้องคิดใหม่ตลอดเวลา เพราะเมื่อเข้ามาอยู่ตรงนี้ก็กลายเป็นผู้ตามในตลาดทันที แต่ด้วยโอกาสธุรกิจที่มหาศาล ทำให้การปรับแนวคิดครั้งนี้ก็คุ้ม โดยจะเริ่มต้นด้วยบริการด้านท่องเที่ยว ที่อาศัยหลักการ UGC เช่นเดิม มีเป้าหมายเป็นเหมือน Trip Advisor ของประเทศไทย
“ก่อนหน้านี้เราเหมือน Yelp ที่รวมรีวิวร้านอาหารของสหรัฐอเมริกา แต่พอเราเริ่มแตกไลน์ไปสู่ Cooking และ Beauty มันก็เริ่มมีความ Unique ยิ่งเราไปท่องเที่ยวอีก รวมถึงเพิ่งซื้อเว็บไซต์ Blongnone และ Brand Inside เข้ามา ก็ทำให้เราแทบจะมีรูปแบบธุรกิจที่ไม่มีใครเหมือน หรือถ้าคล้ายจริงๆ ก็คงแค่ Dianping ของจีนเท่านั้น”
ส่วนคำจำกัดความของ Lifestyle Platform แบบ Wongnai คือพื้นที่แบ่งปันสิ่งดีๆ หลากหลายที่สร้างโดยผู้ใช้ให้ผู้ใช้ด้วยกัน และในทุกๆ เรื่องใหม่ที่บริษัทจะทำ ทั้งท่องเที่ยวที่กำลังจะเริ่ม และ Deal, Beauty กับ Cooking รวมถึงบริการส่งอาหารกับ Line Man ที่เริ่มไปแล้ว ก็จะทำแบบลงลึกในรายละเอียดเหมือนที่รีวิวอาหารทำเอาไว้
ไม่ใช่ Startup-เตรียมเข้า IPO ปี 2562
อย่างไรก็ตามในสายตาหลายๆ คนยังมอง Wongnai ว่าเป็น Startup อยู่ แต่ “ยอด” ไม่ได้มองตัวเองอย่างนั้นแล้ว เพราะการระดมทุนรอบล่าสุดก็ทำไปเมื่อปี 2559 เพื่อสร้างบริการใหม่ๆ จนปีนี้ก็มีรายได้ปิดที่ 150 ล้านบาท และมีกำไรเป็นเปอร์เซนต์เลขหลักเดียวแล้ว ส่วนปีหน้าตั้งเป้ารายได้เติบโต 60% และมีกำไรราว 10% ด้วย
ขณะเดียวกันในครึ่งหลังของปี 2562 ทาง Wongnai เตรียมจดทะเบียนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ MAI โดยมีบมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษา ส่วนเรื่องชื่อย่อ และจะเข้าไปอยู่ในหมวดใด ยังอยู่ระหว่างพิจารณา แต่เพื่อไปถึงจุดนั้น ทางบริษัทจำเป็นต้องเพิ่มพนักงานจาก 199 คน เป็น 300 คนเช่นกัน
“เมื่อเราโต การขยายคนเพื่อรองรับงานเพิ่มก็จำเป็น โดยเฉพาะฝั่ง Engineer และ Production ที่ต้องเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเมื่อเราขายโฆษณาได้มากขึ้น ทั้งสองฝ่ายก็ต้องทำงานกันหนัก และจากนี้รายได้หลักๆ ก็คงไม่ได้มาจากฝั่งรีวิวอาหาร แต่จะเฉลี่ยๆ กันจากหลายหลายธุรกิจ เพื่อกระจายความเสี่ยง และเติบโตไปพร้อมกันด้วย”
สรุป
การขยายธุรกิจของ Wongnai แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของ Startup รุ่นบุกเบิก ที่สร้างตัวเองขึ้นมาจนกำไร และเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เร็วๆ นี้ แต่กว่าจะถึงจุดนี้ได้ เรื่องแผนธุรกิจที่ชัดเจน และการดึงนักลงทุนเข้ามาสร้างการเติบโตก็สำคัญ และกลายเป็นตัวอย่างให้ Startup รุ่นใหม่ศึกษาได้เป็นอย่างดี
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา