อ่านกลยุทธ์ Wishbeer กับการเป็นมากกว่าคนขายเบียร์ และ Platform ของร้านอาหารในอนาคต

กับระยะเวลา 5 ปี Wishbeer ร้านอาหาร และ E-Commerce ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะมีรายได้แตะ 100 ล้านบาท แต่จริงๆ แล้ว “เจอโรม เลอลัว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบอกว่ายังมีเรื่องให้ทำอีกเยอะ

เจอโรม เลอลัว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Wishbeer

ไม่ใช่ร้านเบียร์ แต่คือ Tech Company

หลายคนอาจรู้จัก Wishbeer ในฐานะร้านอาหารที่มีเบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำหน่ายเป็นจำนวนมาก หรือบ้างก็รู้จักว่าเป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะหลังจากนี้ไป Wishbeer ที่เราๆ คุ้นเคยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เจอโรม เลอลัว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้ง Wishbeer เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจเริ่มเมื่อ 5 ปีก่อนผ่านการเปิดจำหน่ายเบียร์ออนไลน์ จนขยับมาเปิดร้านอาหารที่จำหน่ายคราฟต์เบียร์ และสร้าง Community ของคนที่ชอบดื่มเบียร์ขึ้นมา ซึ่งปัจจุบันทางร้านก็สามารถเป็นเบอร์หนึ่งของทุกเรื่องที่กล่าวมา

บรรยากาศภายในร้าน Wishbeer

“ตอนนี้เรามีเครื่องดื่มให้เลือกกว่า 8,000 รายการบน Online และมีร้านอาหาร 4 ร้านในกรุงเทพ แต่จริงๆ แล้วทั้งหมดไม่ใช่เรา เพราะ Wishbeer คือ Tech Company ที่พัฒนา Platform ที่เกี่ยวกับร้านอาหาร ซึ่งจากนี้เราจะระดมทุนเพิ่ม เพื่อเดินหน้าต่อยอดธุรกิจด้วยเทคโนโลยี และสร้างการเติบโตได้ในอนาคต”

ระดมทุนอีกหลายสิบล้านบาทต่อยอดธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ Wishbeer ได้รับการลงทุนจาก 500 Startups, 500 Tuktuks และนักลงทุนในรูปแบบบุคคลรวมกันเกือบ 40 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบหลังบ้าน และขยายธุรกิจในรูปแบบเฟรนไชส์ ซึ่งปีนี้คาดการณ์ว่าจะปิดรายได้ราว 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 70 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จาก Online และ Offline เท่าๆ กัน

โครงสร้างธุรกิจของ Wishbeer

“จะบอกว่าตอนนี้เราเป็น Omni-Channel ที่ค่อนข้างแข็งก็ได้ เพราะเรามี O2O (Online-Offline) ที่เติบโตไปพร้อมๆ กัน ยิ่งตั้งแต่เราทำธุรกิจมาก็มีรายได้เติบโต 50-100% มันก็พิสูจน์ว่าเรื่องระบบหลังบ้านต่างๆ ที่เราลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีไปกว่า 20 ล้านบาทนั้นมันไปได้ดี และมันต้องดีขึ้นไปอีก เพื่อสร้างให้ธุรกิจเรายังเติบโตอยู่”

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ไกลกว่านี้ Wishbeer จึงเข้าร่วมระดมทุนใน LIVE หรือ Platform การทำ Crowdfunding ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยตั้งเป้าเงินทุนไว้ที่ 20 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเตรียมหานักลงทุนเพิ่มเติมเพื่อระดมทุนอีกกว่า 30 ล้านบาทด้วย

ภาพรวมรายได้ของ Wishbeer

เปิดโรงเบียร์-เพิ่ม 10 สาขา-บุกต่างประเทศ

สำหรับเงินทุนที่ได้มานั้น Wishbeer จะนำไปพัฒนาเทคโนโลยี O2O ให้ดียิ่งขึ้นทั้งการเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อทำ Loyalty Program และอื่นๆ รวมถึงนำระบบดังกล่าวไปทำตลาดให้กับร้านอาหาร และร้านค้าทั่วไปอีกด้วย ขณะเดียวกันยังวางตัวเป็นผู้จำหน่ายสินค้าแอลกอฮอล์แบบค้าส่งให้กับร้านอาหารที่สนใจเช่นกัน

“ปี 2562 เราตั้งเป้าว่าจะเปิดหน้าร้านเพิ่มอีก 10 สาขา โดยส่วนใหญ่เป็นเฟรนไชส์ แต่เราก็ไม่ทิ้ง E-Commerce เพราะมีแผนเปิดเว็บไซต์สำหรับจำหน่ายไวน์ รวมถึงกาแฟโดยเฉพาะ เนื่องจากชื่อ Wishbeer มันอาจไม่ค่อยตรงกับกลุ่มเป้าหมายเท่าไรนักหากยังทำบน Platform เดิมอยู่”

บรรยากาศในโรงเบียร์ หรือ Brewpub // ภาพโดย MB-one [CC BY-SA 4.0 (https://creativecommons.org/licenses/by-sa/4.0)], from Wikimedia Commons
ทั้งนี้บริษัทมีแผนเปิดโรงเบียร์ (Brewpub) ที่สามารถผลิต และจำหน่ายเบียร์ภายในร้านได้ ช่วยให้กำไรมากขึ้นทันที พร้อมกันนี้ยังศึกษาตลาดเวียดนามเพื่อเข้าไปทำตลาดในลักษณะเฟรนไชส์ เพราะมีการบริโภคเบียร์ และกินสัดส่วนมูลค่าตลาดเบียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 20,000 ล้านเหรียญ (ราว 6.55 แสนล้านบาท) ค่อนข้างมาก

สรุป

เมื่อ Wishbeer ไม่ใช่แค่ร้านอาหาร หรือ Platform จำหน่ายสินค้าแอลกอฮอล์ Online อีกต่อไป ก็ต้องติดตามว่าธุรกิจนี้จะเดินหน้าออกไปไกลได้มากแค่ไหน แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ไป “เทคโนโลยี” จะเข้ามามีผลกับธุรกิจอาหารมากขึ้นแน่ๆ เพราะมันสามารถตรวจจับข้อมูลได้ทุกอย่าง และร้านเองก็สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปต่อยอดธุรกิจได้ไกล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา