ใครๆ ก็บอกว่าเศรษฐกิจในเอเชียเติบโตอย่างรวดเร็ว และเงินทุนไหลเข้ามามหาศาล ตัวเงินเดือนของหนุ่มสาวออฟฟิศก็น่าจะได้อานิสงส์จากเรื่องนี้บ้าง แต่ไทยที่อยู่ในพื้นที่นี้ กลับมีค่าเฉลี่ยเงินเดือนขึ้นแค่ 5.2% จากเดิมเท่านั้น
ถึงขึ้นน้อย แต่ก็ยังดีที่ยังขึ้น
แม้การลงทุนจะไหลเข้ามาในประเทศไทยเยอะ รวมถึงฝั่งหน่วยงานภาครัฐก็อัดงบประมาณเต็มที่เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่ได้ทำให้บริษัทต่างๆ ประกาศขึ้นเงินเดือนให้เป็นที่พอใจกับพนักงานมากนัก เพราะหากนับตั้งแต่ต้นปี 2560 ถึงสิ้นไตรมาส 3 การปรับขึ้นเดือนขององค์กรธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้นแค่ 5.2%
พิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย จำกัด เล่าให้ฟังว่า ประเทศในเอเชียแปซิฟิค 3 อันดับแรกที่มีการเพิ่มอัตราเงินเดือนขึ้นสูงสุดประกอบด้วยอินเดีย, ศรีลังกา และอินโดนีเซีย โดยเพิ่มขึ้น 10%, 8.6% และ 8.5% ตามลำดับ ส่วนญี่ปุ่นคือประเทศที่มีการปรับขึ้นน้อยที่สุด หรือเพียง 2.3%
“อุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงคือ งานเกี่ยวกับประกันชีวิต เพราะมีการปรับลดของอัตราการขึ้นเงินเดือนตั้งแต่ปี 2559-2560 และในปี 2561 ก็คาดว่าจะปรับลดอัตราการขึ้นเงินเดือนอยู่ โดยน่าจะอยู่ที่ 5.5% เท่ากับที่บริษัทคาดการณ์ภาพรวมการขึ้นเงินเดือนของทุกอุตสาหกรรมในปี 2561 ไว้”
ขึ้นน้อย ส่งผลเรื่องการลาออก
ขณะเดียวกันการขึ้นเงินเดือนที่ค่อนข้างน้อย ก็ส่งผลกับอัตราการลาออกของพนักงานเช่นเดียวกัน โดยในไทยนั้นมีอัตราการลาออกอยู่ที่ 12% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในปี 2559 แต่ตัวเลขนี้ยังดีกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งเอเชียแปซิฟิคที่อยู่ราว 15% และกลุ่มที่มีอัตราการลาออกสูงสุดคือกลุ่มงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านค่าเฉลี่ย 18%
โดยนอกจากเรื่องเงินเดือน พนักงานไทยยังมีเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมถึงความสัมพันธ์กับหัวหน้างานมาเป็นอีกปัจจัยในการตัดสินใจลาออกด้วย ซึ่งบริษัทในไทยต่างมองเห็นเรื่องนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้มากนัก ทำให้อัตราการลาออกยังไม่ปรับตัวลดลง
โบนัสไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
ทั้งนี้การแก้ไขเรื่องดังกล่าวด้วยการให้โบนัสเพิ่มก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะขนาดตัวธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่ให้โบนัสสูงสุด หรือ 5.5 เดือน ก็ยังมีการลาออกอยู่ และยิ่งกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ให้ต่ำสุดเพียง 1.8 เดือน ก็ยิ่งทำให้คนในอุตสาหกรรมนั้นลาออกยิ่งเยอะเข้าไปอีก
สรุป
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้คงเริ่มรู้กันว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างในรั้งคนเก่งๆ ให้อยู่ในบริษัท ดังนั้นการสร้างคุณค่าให้พนักงาน หรือ Employee Value Proposition (EVP) น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องมากกว่า ซึ่งการทำอย่างนั้นนอกจากความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงาน ยังมีเรื่องสิทธิประโยชน์ เช่นความก้าวหน้า, ความมั่นคง และความมั่งคั่งทางการเงินด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา