ทำไมคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ มองประเทศตัวเองเหมือนนรก? จากผลสำรวจทัศนคติชาวเกาหลีใต้จำนวน 5,000 คน ราว 75% ที่พบว่าคนรุ่นใหม่รู้สึกเป็นกังวลกับชีวิตตัวเองมากกว่าคนรุ่นก่อน มองประเทศตัวเองเป็นเหมือนนรก อยากย้ายออกจากประเทศนั้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใด ประชาชนประเทศเกาหลีใต้จึงมองประเทศตนเองเช่นนั้น
แม้สถิติจะเผยให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เพศหญิงรู้สึกแย่กับประเทศจนอยากย้ายออกนอกประเทศมากกว่าคนรุ่นใหม่ที่เป็นเพศชาย แต่ก็ถือว่ามีจำนวนที่ไล่เลี่ยกัน ไม่แตกต่างกันอย่างชัดเจนนัก ดังนั้น ถ้ามองจากผลสำรวจพบว่าความอึดอัด คับแค้นใจที่คนรุ่นใหม่เผชิญ เป็นประเด็นที่ไปไกลกว่าเรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องความไม่พอใจในวิถีชีวิตที่เป็นอยู่
Hell Joseon นรกโชซอน วลีติดปากที่คนรุ่นใหม่เกาหลีใต้ใช้เรียกประเทศ
โชซอนเป็นชื่อเรียกแทนอาณาจักรโชซอนที่มีกษัตริย์ปกครองเป็นประมุขสูงสุดของประเทศ มีระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์มีอำนาจสิทธิขาดในการปกครองประเทศ ซึ่งมีคำเรียกอีกคำว่า Tal-Jo เป็นการผสมคำสองคำเข้าไว้ด้วยกันคือคำว่า ออกจาก กับคำว่า นรก เมื่อสองคำรวมกันจึงกลายเป็น ออกจากนรก
คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีใต้เล่าว่า พวกเขาใช้คำว่า นรกโชซอน เพราะมันเป็นคำที่สะท้อนว่าประเทศชาติมีประวัติศาสตร์ที่แย่ ยุคสมัยปัจจุบันนี้ไม่ต่างอะไรกับยุคสมัยโชซอนที่เป็นยุคที่มีการปกครองแย่ บางคนให้สัมภาษณ์ว่า เราเรียกประเทศเกาหลีใต้ว่า นรกโชซอน และพูดคุยกันเหมือนเป็นเรื่องตลก แต่ถ้ามีโอกาสที่ดี พวกเราก็อยากจะย้ายออกไปทำงานนอกประเทศ
ทั้งนี้ พวกเธอเล่าต่อว่า การจะออกไปทำงานต่างประเทศได้นั้น ส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นคนที่อย่างน้อยต้องเรียนจบแพทย์ หรือเป็นพยาบาล หรือเป็นพวก UX designer แต่พวกเธอและเพื่อนเรียนธุรกิจและศิลปศาสตร์ จึงขาดโอกาสที่จะไปทำงานต่างประเทศ
การทำงานต่างประเทศหรือการไปอาศัยอยู่ต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้ามันง่าย ก็คงไม่มีคนเรียกร้องอยากออกนอกประเทศ แต่จะออกไปเลยไม่ต้องเรียกร้อง แต่ที่เรียกร้องก็เพราะขาดความสามารถในการเข้าถึงโอกาสนั้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่ติดตัว ทักษะ หรือแม้แต่ปัจจัยทางการเงินก็เป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่บางคนให้สัมภาษณ์ว่า มันเป็นวิกฤตของคนชั้นกลางที่อยู่ในประเทศที่ร่ำรวย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้ถูกเรียกขานว่าเป็น นรกโชซอน คืออะไร?
นรกโชซอนที่คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีใต้เรียกติดปาก จนอยากย้ายออกนอกประเทศนั้น มีเหตุผล มีที่มาที่ทำให้คนเกิดความคับแค้นใจไม่อยากอยู่ในประเทศที่ตัวเองถือกำเนิดเกิดมา พวกเขาเปรียบเทียบตัวเองกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ก็พบว่า ยุคของพ่อแม่นั้น อาจจะมีเรื่องวัตถุนิยมน้อยกว่า แต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็มีชีวิตที่มีความหวังมากกว่า ในทุกๆ ปีพวกพ่อแม่ของเขาจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่สิ่งนั้นไม่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ที่นี่
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นนรกโชซอนมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องอัตราการว่างงานสูง กลายเป็นหายนะหนักของประเทศ คนรุ่นใหม่ว่างงานจำนวนมาก เฉลี่ย 7.19% นับตั้งแต่ปี 1982 จนถึงปี 2019 และสูงขึ้นเป็น 11.7% นับตั้งแต่เมษายน 2019 ที่ผ่านมา จากนั้นจึงลดลงเหลือ 7.1% ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
อสังหาริมทรัพย์ราคาแพง เอื้อมมือไปเท่าไร ก็ไม่มีเงินจ่ายถึง คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยลงทุนในหลักทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินเท่าไรนัก มักจะปล่อยให้เงินจมไปกับการซื้อบ้านซึ่งถือเป็นการออมเงินอีกแบบหนึ่ง คนเกาหลีใต้มีทั้งหมดราว 51 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 24 ล้านคน อาศัยอยู่ทั้งภายในเมืองและรอบๆ โซล
อัตราการฆ่าตัวตายของคนหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งมีอัตราส่วนอยู่ที่ 24.6 ต่อ 100,000 ราย อยู่ในอัตราที่สูงกว่าญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ 15.2 (กลุ่มสมาชิกประเทศ OECD มี 36 ประเทศ) อัตราที่สูงขนาดนี้ไม่ได้เกิดเพียงแค่ปัจจัยเดียวแต่มันเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคมด้วย
คนสูงอายุและต้องอาศัยอยู่คนเดียวมักจะคิดสั้นมากถึง 50 คนต่อจำนวน 100,000 คน ลักษณะครอบครัวของชาวเกาหลีใต้เป็นครอบครัวเดี่ยว มีคำเรียกขานว่า Nuclear families มีพ่อ แม่ และลูก รูปแบบครอบครัวค่อยๆ ถูกบีบให้กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หลังสงครามเกาหลีเป็นต้นมา
ผู้สูงอายุที่ต้องอยู่ตัวคนเดียวส่วนมากเกิดจากสามีเสียชีวิตจากสงคราม คนหนุ่มสาวถูกบีบให้มีลูกชายเท่านั้น นานวันเข้าอัตราหย่าร้างก็สูงขึ้น อัตราการแต่งงานก็น้อยลง อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ก็น้อยตามไปด้วย ขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายของคนหนุ่มสาวและคนสูงวัยก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวน
แม้รัฐบาลจะออกแผนการเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายมาถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ทำให้จำนวนการฆ่าตัวตายลดลงแต่อย่างใด ยิ่งมีเหล่าเซเลบคนดังฆ่าตัวตายนำแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แฟนคลับรู้สึกอยากทำตามไปด้วย
ทุ่มเทอย่างหนักกับการเรียน การสอบ จบออกมา.. ไม่มีงานทำ
คนรุ่นใหม่ชาวเกาหลีใต้รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ชีวิตไม่ยุติธรรม พวกเขาเรียนหนัก ทำงานอย่างหนักเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาได้รับมันไม่เป็นอย่างที่พวกเขาทุ่มเท ทำให้เขามองประเทศเป็นเหมือนนรก ชาวเกาหลีใต้นับล้านๆ รายถูกบังคับให้เรียนอย่างหนักมาตลอด เพื่อที่จะเอาความรู้ที่สั่งสมมาทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ แต่..ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาหวัง
Lee Jin-hyeong อายุ 35 ปี เล่าว่า เขาเรียนอย่างหนักทุกวัน เริ่มเรียนตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงตี 1 ของอีกวันหนึ่ง เขาเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หวังว่าเรียนจบมาจะได้ทำงานตำรวจ แต่จนป่านนี้ เขายังไม่มีงานประจำทำเลย หลายต่อหลายคนเรียนจบแต่ยังว่างงาน
Hell Joseon คือนิยามที่หมายถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงการทำงาน ขาดโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัว ขาดความหวังในการมีชีวิตอยู่ ผู้เชี่ยวชาญจากสแตนฟอร์ดมองว่า วัฒนธรรมเกาหลีใต้คือการทุ่มให้กับการศึกษาอย่างสุดโต่งจนเกินไป จนทำให้คนรุ่นใหม่ป่วย ขาดความเตรียมพร้อมที่จะเผชิญโลกในชีวิตจริง บางคนบอก คนรุ่นใหม่ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างหลังจริงๆ
ที่มา – Asia Times, Asia Nikkei Review, South China Morning Post, ABC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา