ทำไมเราถึงเกลียดวันจันทร์มากกว่าวันอื่น? สำรวจจิตวิทยาของการทำงาน มาวิเคราะห์กันว่าอะไรคือสาเหตุลึกๆ ของอาการ “วันจันทร์ทีไร ไม่อยากตื่นทุกที”
วันจันทร์ทีไร ใจบางทุกที
TGIF คงเป็นคำที่สะท้อนชีวิตมนุษย์เงินเดือนอย่างเราได้ดี ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องเคยโมเมนต์ “ในที่สุดก็วันศุกร์สักที” กันบ้างแหละ
จะพูดก็ได้ว่าวันศุกร์คือวันสุขของคนทำงาน เพราะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นรอบปฐมฤกษ์ของ “ชีวิตจริงๆ” ที่เป็นอิสระในช่วงสุดสัปดาห์ และขั้วตรงข้ามของวันศุกร์คือผู้ร้ายอย่าง วันจันทร์ พอเวลาย่างเข้าอาทิตย์เย็นทีไร ก็ได้แต่ถอนหายใจแล้วบ่นว่า “วันจันทร์อีกแล้วหรอ” ทุกที
คำถามคือ แล้วทำไมคนทำงานอย่างเราๆ ถึงได้เกลียดกลัววันจันทร์กันขนาดนี้?
Brand Inside พาทุกท่านไปสำรวจจิตวิทยาการทำงาน ไขปริศนากันว่าทำไม ใกล้ถึงวันจันทร์ทีไร ไม่อยากตื่นทุกที
จังหวะของร่างกายที่เปลี่ยนไป
สิ่งที่แตกต่างกันของวันทำงานและวันหยุดสำหรับคนทำงานคือ จังหวะชีวิต เพราะเราสร้างพฤติกรรมขึ้นมา 2 ชุด คือ
- นอนเร็ว ตื่นเช้า ทำงาน ในวันทำงาน
- นอนดึก ตื่นสาย ใช้ชีวิต กินดุ ดื่มหนัก ในวันหยุด
ประเด็นคือคนไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะมีปุ่มเปลี่ยนโหมดได้อย่างไหลลื่น จะเปลี่ยนโหมดแต่ละครั้งก็มีราคาที่ต้องจ่าย
จะว่าไปแล้วเปลี่ยนโหมดจากทำงานไปเป็นวันหยุดนี่ไม่เท่าไหร่ เพราะหลังจากการทำงานหนักวันศุกร์หลายคนก็อยากใช้ชีวิตชดเชยกับความเหนื่อยล้าทั้งสัปดาห์
แต่เปลี่ยนจากโหมดวันหยุดไปเป็นทำงานนี่สิเรื่องใหญ่
ในวันหยุด ร่างกายได้อิ่มเอมกับการนอนเต็มอิ่ม ตื่นตอนไหนก็ได้ ได้พบปะเพื่อน ได้ออกไปไหนไกลๆ ได้ทำกิจกรรมที่อยากทำ ใช้พลังงานหมดไปเป็นโหลกับสุดสัปดาห์ แต่พอถึงจันทร์เราต้องกลับมาตื่นเช้าลากสังขารไปทำงานอีกครั้ง
Meg Gitlin นักจิตบำบัด มองว่า คนมักจะคิดว่าวันหยุดคือวันฟื้นฟูกายและใจและโหมกิจกรรมทุกอย่างมากเท่าที่จะมากได้จนพลังงานหมด วันจันทร์ที่มาถึงจึงกลายเป็นเหมือนฝันร้าย
นอกจากนี้ Sanam Hafeez นักประสาทจิตวิทยาระบุว่า “แม้การหลับชดเชยในวันหยุดจะเป็นเรื่องดี แต่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการนอนทุกๆ 5 วัน จะไปรบกวนนาฬิกาชีววิทยาที่ควบคุมการนอนและตื่นของแต่ละคน”
ชีวิต 2 โหมดจึงอาจทำร้ายกายและใจของคนทำงานมากกว่าที่คิด
อิสระที่กำลังหลุดมือ
เหตุผลง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คนขยาดกับคำว่าวันจันทร์ คือ ความรู้สึกสูญเสียอิสระ
เพราะวันหยุดสำหรับคนทำงานเป็นเหมือน “ชีวิตจริง” ของตัวเอง นี่คือเวลา 48 ชั่วโมงที่เราเลือกจะตื่นตอนไหนก็ได้ กินตอนไหนก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ได้หายใจหายคอไปกับกิจกรรมมากมาย
Becky Stuempfig นักบำบัดด้านชีวิตสมรสและครอบครัวมองว่า วันจันทร์ซึ่งเป็นประตูสู่ชีวิตทำงานจึงกลายเป็นเรื่องทรมานหัวใจ เพราะให้ความรู้สึกเหมือนสูญเสียอิสระ
และต้องรอไปอีก 120 ชั่วโมง กับชีวิตที่คนอื่นกำหนดให้ กว่าจะได้อิสระกลับมาอีกครั้ง
จังหวะเปลี่ยนผ่านยากเสมอ
วันจันทร์คือสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนโหมดชีวิต และการเปลี่ยนผ่านจากอิสระสู่ภาระหน้าที่
และนี่คือเหตุผลที่ John Mayer นักจิตวิทยาคลินิกอธิบายว่าทำไมวันจันทร์ถึงไม่ค่อยน่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก เพราะการเปลี่ยนผ่านยากเสมอ ด้วยความที่ในแง่หนึ่งมันมีความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้า
ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนว่าลูกค้าจะส่งอีเมลอะไรกองเอาไว้ใน inbox รอให้เราได้เซอไพรส์ในวันจันทร์ ความไม่แน่นอนจากโปรเจกต์ใหม่ๆ ในสัปดาห์ถัดไป หรือ ไอเดียใหม่ๆ จากการประชุมทีมที่จะมาถึง
สรุป
ปัญหาคือการทำงานปัจจุบันผลักให้เราสร้างชีวิต 2 โหมดที่ต่างกันสุดขั้วขึ้นมา คือ โหมดตื่นเช้าทำงาน-โหมดตื่นสายพักใจ หรือ โหมดอิสระ-ภาระหน้าที่ เพราะสังคมเรียกร้องให้เราทุ่มสุดตัวกับงาน การพักผ่อนในวันหยุดเพื่อชดเชยจึงต้องใหญ่พอกัน
พูดให้ถึงที่สุด การเกลียดวันจันทร์คือยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหา Work-Life Balance เพราะถ้าชีวิตสมดุลจริง 2 โลกที่ต่างสุดขั้วต้องไม่เกิด จะวันไหนๆ ก็ควรต้องเหมือนกัน และอาการเกลียดวันจันทร์ก็ต้องไม่มีอยู่
แน่นอนว่าอาการกลัววันจันทร์ไม่ได้เป็นเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคลเพียงอย่างเดียว Erin Kelly ศาสตราจารย์ด้านการทำงานและองค์กรจาก MIT เสนอว่าชีวิตการทำงานที่ดีเริ่มต้นที่บริษัท
เพราะหากงานไม่ได้เอื้อให้ใช้ชีวิตได้อย่างสมดุลตั้งแต่แรก ความพยายามส่วนบุคคลในการสร้าง Work-Life Balance ก็ย่อมไม่เกิดผล ชีวิตก็ยังคงถูกแยกเป็น 2 โหมด วันจันทร์ก็จะตามหลอกหลอนเรากันต่อไป
ถ้าชีวิต 2 ฝั่งของเราไม่ได้แตกต่างกันมากไป เช่น งานไม่ได้หนักถึงขั้นที่เราต้องพักผ่อนสุดเหวี่ยงในช่วงวันหยุด หรือหนักถึงขึ้นที่ทำให้เรามองว่าวันทำงานเหมือนชีวิตถูกกำหนดโดยคนอื่น
การเปลี่ยนผ่านจากเย็นวันอาทิตย์สู่เช้าวันจันทร์ก็อาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา