ทำไมคนรุ่นใหม่ไม่อยากมีลูก? เปิดค่าใช้จ่ายเลี้ยงลูก 1 คนจนโต ต้องหมดกันไปเท่าไหร่

ถ้าถามว่าทำไมคนจำนวนมากไม่อยากมีลูก ค่านิยมที่เปลี่ยนไปคือเหตุผลหนึ่ง ส่วนเรื่องเงินก็อธิบายเรื่องนี้ได้ดีเหมือนกัน ลองมาดูกันว่าการเลี้ยงลูก 1 คนจนโตในยุคนี้ มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง

หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดในสังคมสมัยนี้คือการที่ผู้คนไม่อยากมีลูกมากขึ้น ซึ่งเหตุผลหนึ่งมาจากมุมมองต่อ ‘ความสำเร็จในชีวิต’ ที่เปลี่ยนไป ในสหรัฐฯ มีงานวิจัยออกมาชิ้นหนึ่งของ Pew Research พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยพบว่าคนเกินครึ่งระบุว่าไม่ได้มีเหตุผลอะไรพิเศษที่ไม่อยากมีลูก พูดง่าย ๆ คือไม่มีเพราะไม่อยากมี 

ซึ่ง Christine Whelan ผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยด้านการเงินและความสัมพันธ์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ตีความเรื่องนี้ว่าเป็นการ “สะท้อนให้เห็นว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” 

จากเดิมที่ผู้คนมองว่าการสร้างครอบครัวคือหนึ่งในเงื่อนไขของความสำเร็จในชีวิต (รวมถึงการมีบ้าน มีรถ มีธุรกิจ) การบอกว่าไม่อยากมีลูกหากย้อนไปเมื่อ 15 ปีก่อนอาจเป็นเรื่องที่สังคมยากจะรับได้ มาทุกวันนี้ความสำเร็จในชีวิตไม่จำเป็นต้องผูกอยู่กับเงื่อนไขบางอย่างที่สังคมสร้างขึ้น แต่แตกต่างออกไปแล้วแต่ชุดคุณค่าที่บุคคลให้ความสำคัญ

แต่นอกจากเหตุผลด้านวัฒนธรรมแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการเลือกไม่มีลูกคือ เรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะแม้คนกว่าครึ่งไม่มีลูกเพราะแค่ไม่อยากมี แต่ถ้าดูในงานวิจัยของ Pew Research ชิ้นเดียวกันก็จะพบว่าถ้าดูแค่กลุ่มคนที่บอกว่ามีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้ไม่อยากมีลูก คนเกือบ 1 ใน 5 บอกว่าการเงินคือปัจจัย 

วันนี้ Brand Inside จะพาไปเปิดข้อมูลค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูบุตร 1 คน ในบริบทแบบไทย ๆ ว่าตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนเรียนจบจะอยู่ที่เท่าไหร่บ้างภายใต้เงื่อนไขแบบต่าง ๆ เพื่อคลี่คลายให้เห็นปัญหาในอีกหนึ่งมิติว่าทำไมในปัจจุบันคนจำนวนมากถึงเลือกที่จะไม่มีลูก 

ค่าใช้จ่ายช่วงตั้งครรภ์และช่วงทารก

มาที่ค่าใช้จ่ายแรก เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ก็จะต้องจ่ายค่าฝากครรภ์และค่าพบแพทย์ ซึ่งเมื่อคิดค่าใช้จ่ายตลอด 9 เดือนที่ตั้งครรภ์ ก็เฉลี่ยอยู่ที่ 1,500-2,500 ต่อเดือน แล้วแต่คลินิกและโรงพยาบาล นอกจากค่าฝากครรภ์ที่ต้องเสียทุกเดือนก็ต้องเสียค่าทำคลอด ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 30,000-100,000 บาท แล้วแต่โรงพยาบาล

ต่อมาก็จะมีค่าใช้จ่ายช่วงทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 2 ปี โดยจะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเป็นส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเด็ก ผ้าอ้อม นม เครื่องอาบน้ำ อาหารสำหรับเด็ก โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีค่าใช้จ่ายที่ 10,000-50,000 บาทต่อเดือน และถ้าไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ก็อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ก็จะอยู่ที่ 10,000-20,000 ต่อเดือน

ค่าเล่าเรียนต่อปีตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย

ค่าเล่าเรียนต่อปีตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยจะแบ่งเป็น 3 ระดับ 

  • แบบพอเพียง หมายถึง เรียนโรงเรียนรัฐ มหาลัยรัฐ และใช้จ่ายแบบทั่วไป
  • แบบปานกลาง หมายถึง ส่งเรียนโรงเรียนคาทอลิก ต่อด้วยมหาลัยเอกชน และใช้จ่ายด้านอื่น ๆ อีกในระดับปานกลางค่อนข้างดี
  • แบบจัดเต็ม หมายถึง ส่งเรียนโรงเรียนนานาชาติ ไปต่อปริญญาตรีที่ต่างประเทศ และเลี้ยงดูปูเสื่อแบบจัดเต็ม

นอกจากค่าเทอมที่ต้องเสียแล้ว ยังมีค่าอุปกรณ์การเรียน ไหนจะต้องทำงานส่งอาจารย์ อุปกรณ์เครื่องเขียนต่าง ๆ ซึ่งเราก็จะแบ่งเป็นสามระดับเหมือนกัน ตั้งแต่ระดับพอเพียง ระดับปานกลาง ไปจนถึงระดับจัดเต็มสุด ๆ

ค่ากินอยู่ต่อปี

มาดูค่าใช้จ่ายกินอยู่ต่อปีที่เราลองรวมมาให้ดูบ้าง แน่นอนว่ายิ่งเราโตขึ้น ค่าใช้จ่ายกินอยู่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เราจะเฉลี่ยมาให้เป็นรายปีตั้งแต่เกิดจนถึงอายุประมาณ 24 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับเหมือนกัน โดยระดับพอเพียงก็อยู่ที่ 36,000 บาทต่อปี แบบปานกลางจะอยู่ที่ปีละ 72,000 บาท และแบบจัดเต็มสุด ๆ จะอยู่ที่ 200,000 บาทต่อปี 

และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายกินอยู่จนถึงอายุ 24 ปี แบบพอเพียงจะอยู่ที่ 864,000 บาท แบบปานกลางจะอยู่ที่ 1,728,000 บาท และแบบจัดเต็มจะอยู่ที่ 4,800,000 บาท

สรุปค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกทั้งหมด

พอมารวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่ค่าทำคลอด ค่าใช้จ่ายช่วงทารก ค่าเล่าเรียน และค่ากินอยู่ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 24 แล้ว แบบพอเพียงจะอยู่ที่ 1,560,000 บาท แบบปานกลางจะอยู่ที่ 7,810,000 บาท และแบบจัดเต็มจะอยู่ที่ 36,180,000 บาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็เป็นแค่การประมาณค่าเท่านั้น บางคนอาจจะมากกว่านี้หรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ต่างกันออกไปของแต่ละคน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา