คนยุคนี้ มีอาการ Burnout หนักมาก
แต่เคยแยกแยะกันออกมั้ยว่า จริงๆ แล้ว เรา Burnout เพราะอะไร?
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เคยประกาศบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับที่ 11 (International Classification of Diseases, ICD-11) ตั้งแต่ปี 2019 พบว่า Burnout คือปรากฏการณ์ทางอาชีพ ที่ไม่ได้ถูกจัดไว้ว่าเป็นภาวะทางการแพทย์
มีปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสถานะทางสุขภาพ ไม่จัดว่าอยู่ในสภาวะความเจ็บป่วยหรือภาวะทางสุขภาพ
Burn-out คืออาการที่เป็นผลมาจากความเครียดเรื้อรังที่ไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จ แบ่งได้เป็น 3 มิติ ดังนี้
1) ความรู้สึกพลังงานหมดหรือความเหนื่อยหน่าย อ่อนเพลีย
2) การเอาใจออกห่างจากงาน หรือมีความรู้สึกเชิงลบกับงานที่ทำ
3) ประสิทธิภาพในความเป็นมืออาชีพลดลง
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ Burnout มีหลายปัจจัยด้วยกัน
มีทั้งประเด็นปัจเจก องค์กร อุตสาหกรรม รวมถึงสังคมด้วย ซึ่งทาง Harvard Business Review ได้นำเสนอการตั้งคำถาม 9 ข้อสำคัญที่จะทำให้คุณรู้ว่า เรารู้สึก Burnout เพราะอะไร?
แบ่งเป็น 3 หัวข้อใหญ่ๆ คือ ความรู้สึกเหนื่อยล้าที่สั่งสมมานาน, ความไร้ประสิทธิภาพส่วนบุคคล และความรู้สึกที่ทำให้เราเอาใจออกห่างจากงานที่ทำให้เราเครียดเพิ่มขึ้น
เมื่อเกิดอาการ Burnout ที่เป็นความรู้สึกเหนื่อยล้าสั่งสมเป็นเวลานาน (ให้ถามตัวเอง ดังนี้)
1) มีสิ่งใดที่ทำให้คุณเหนื่อยหรือรู้สึกเครียดมากที่สุด
2) มีสิ่งใดที่ขัดขวางไม่ให้คุณได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ หรือไม่ได้หยุดพักเป็นประจำ
3) มีสิ่งใดที่เพิ่มพลังงานให้คุณและขาดหายไปจากงานหรือชีวิตของคุณ
การขาดแคลนพลังงานที่มาพร้อมกับอาการ Burnout อาจมีผลมาจากหลายปัจจัย ซึ่งก็มีทั้งผลงานที่ไม่ดีในทีมของคุณ ไปจนถึงความคาดหวังจากบอสของคุณ หรือแม้กระทั่งความคาดหวังจากลูกค้า ที่ดูไม่สมเหตุสมผลและจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน
อาจจะเป็นเรื่องความเพอร์เฟ็กต์หรือการยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ อาการลังเลที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ หรือไม่สามารถที่จะปฏิเสธคำร้องขอที่ไม่สมเหตุสมผลได้ เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้คุณทำงานเกินความจำเป็น และทำให้เพิ่มความเครียดมากขึ้น
ความไร้ประสิทธิภาพส่วนบุคคล
เมื่อคุณรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นดั่ง Sisyphus (ซิซีฟัส หนังสือที่เป็นบทความเชิงปรัชญาของ Albert Camus พูดถึงซิซีฟัสที่ถูกกษัตริย์ลงโทษ ต้องกลิ้งหินขึ้นภูเขาทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดกาลไม่มีวันยุติ)
การทำงานเช่น Sisyphus นั้น ไม่เพียงสร้างความหงุดหงิดอย่างมหาศาล แต่ยังทำให้รู้สึกว่าทำงานยังไงก็ไม่สำเร็จ งานไม่จบสักที
สิ่งที่มันขัดขวางความมีประสิทธิภาพของคุณคืออะไร ให้ถามตัวเอง ดังนี้
1) จุดไหนที่ทำให้คุณรู้สึกไม่มีประสิทธิภาพ
2) สิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกไม่พอใจหรือขัดขวางคุณมากที่สุด
3) สิ่งใดที่ทำให้คุณต้องใช้พลังงานมากกว่าที่ควรจะเป็น
ความรู้สึกไร้ประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากระบบที่ทำให้งานมันช้าไปหมดหรือสร้างความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น ในทำนองเดียวกัน บางทีมอาจจะขับเคลื่อนด้วยความเห็นพ้องต้องกันมากเกินไป ไปจนถึงการมีกระบวนการตัดสินใจหรือการประชุมที่ลากยาวแบบไม่มีที่สิ้นสุด เป็นต้น
การเอาใจออกห่างจากงานที่ทำ
ปราการด่านสุดท้ายของอาการ Burnout คือการเลิกสนใจงาน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเหยียดหยามงานหรือรู้สึกเชิงลบกับงานที่ทำ เป็นการเอาใจออกห่างจากงานที่ทำและทำให้รู้สึกดีขึ้น หากพบว่าตัวเองกำลังเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว ลองถามตัวเอง ดังนี้
1) สิ่งที่ทำให้คุณมีความรู้สึกเชิงลบหรือรู้สึกแย่กับงานที่ทำ
2) สิ่งที่ทำให้คุณสนุก เมื่อไม่ได้ทำงานนั้นอีกต่อไปแล้ว
3) การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร และอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้
การถามตัวเองตาม 9 ข้อที่ HBR เสนอแนะนั้น อาจช่วยเผยให้เห็นประเด็นที่มันจะช่วยสะท้อนให้คุณได้รู้ตัวและเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า จริงๆ แล้ว เรา Burnout เพราะอะไร มีปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง เพื่อจะหาทางแก้ไขและเพิ่มพลังงานให้ตัวเองได้อีก ขณะเดียวกันก็เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการ Burnout ได้อีกในอนาคต
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา