ขนส่งมวลชนไทย ทำไมต้องขาดทุน? เปิดสารพัดอุปสรรครถเมล์ไทย ที่ทำอย่างไรก็ไม่เจริญ

เป็นข่าวมาหลายปีว่าขนส่งสาธารณะอย่าง รถไฟ รถเมล์ไทยขาดทุน จนล่าสุดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ขอภาครัฐทำแผนฟื้นฟูกิจการ

แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับไทย รถเมล์ในต่างประเทศก็ขาดทุนทั้งนั้น

ทำไมขนส่งมวลชน รถสาธารณะต้องขาดทุน?

สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกว่า ทั่วโลกส่วนใหญ่ระบบรถเมล์ขาดทุน เช่น ที่ลอนดอนระบบรถเมล์ขาดทุน แต่รัฐบาลอุดหนุนส่วนต่างที่ขาดทุนเพื่อพยุงค่าโดยสารให้ถูก และคนเข้าถึงได้จำนวนมาก

แต่มีอยู่ 2 ประเทศที่ระบบรถเมล์ทำกำไรเลี้ยงตัวเองได้ คือ ฮ่องกง และสิงคโปร์ สาเหตุเพราะคนใช้บริการรถเมล์มีจำนวนมาก รัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนให้ราคา หรือค่าตั๋วรถเมล์ไม่แพงและไม่ถูกเกินไป

“ปัจจุบันคนในฮ่องกง และสิงคโปร์ ใช้รถเมล์มากกว่ารถไฟฟ้าเพราะโครงสร้างพื้นฐานของเมืองทำให้คนเดินทางมาใช้บริการได้สะดวก และรัฐมีมาตรการเสริม เช่น สิงคโปร์ คิดค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่เข้ามาในเมือง ส่วนฮ่องกง ญี่ปุ่น สภาพแวดล้อมทำให้คนใช้รถเมล์ เพราะค่าที่จอดรถแพง หรือที่ลอนดอนมีมาตรการจำกัดจำนวนรถที่เข้าเมืองได้ พอรถไม่ติด บริการของรถเมล์ก็ดีขึ้น”

อย่างไรก็ตามต้นทุนของขนส่งมวลชน เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับ 3 อย่างคือ 1.การจัดการในระบบเดินรถ 2.ปริมาณผู้โดยสาร (เยอะยิ่งดีทำให้ถึงจุดคุ้มทุนง่ายขึ้น) 3.การกำหนดราคาค่าโดยสารซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ

คนไทยเดินทางด้วยอะไรบ้าง รถเมล์สำคัญกับคนเมืองแค่ไหน?

ปัจจุบันคนกรุงเทพ 50% ใช้บริการรถเมล์ (รถตู้เป็นส่วนน้อย) รองลงมาเป็นรถยนต์ส่วนตัว 40%  และรถไฟฟ้า 10% แต่ในต่างประเทศที่โมเดลระบบขนส่งมวลชนที่น่าสนใจ เช่น ลอนดอน ประมาณ 80% คนเลือกใช้รถเมล์และรถไฟฟ้าในสัดส่วนเท่าๆกัน มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวแค่ 15-20%

ส่วนคำถามที่ว่าเปลี่ยนให้ทั้งเมืองมีรถไฟฟ้าอย่างเดียวได้ไหม? สุเมธ ตอบว่า รถเมล์เป็นสิ่งจำเป็น และต้นทุนต่ำที่สุด ปัจจุบันเส้นทางรถเมล์ไทยมี 200 เส้นครอบคลุมเส้นทางทั่วกรุงเทพและปริมณฑล 3,000-4,000 กิโลเมตร ในขณะที่รถไฟฟ้าปัจจุบันคลอบคลุม 100 กิโลเมตร และถ้าสร้างเสร็จครบทุกสายที่วางแผนไว้ก็จะอยู่ที่ 400 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งแต่ถ้าต้องการสร้างรถไฟฟ้าให้คลอบคุลมทั้งเมืองก็ติดปัญหาผังเมืองที่ปรับได้ยาก 

แต่อีก 5 ปีที่รถไฟฟ้าทยอยสร้างเสร็จอาจจะทำให้คนใช้บริการมากขึ้น รถติดน้อยลง ก็มีหวังว่าระบบรถเมล์จะให้บริการได้ดีขึ้นบ้าง

“จากแนวโน้มตอนนี้คนใช้รถเมล์ลดลงเรื่อยๆ เพราะความช้า ไม่สะดวก คนจะหันไปใช้รถยนต์ บางส่วนไปที่รถไฟฟ้าที่ค่าโดยสารแพง ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ รถเมล์ก็จะยิ่งขาดทุน ผู้ประกอบการถอนตัว คนก็ใช้รถเมล์ยากขึ้น ยิ่งกลุ่มคนที่รายได้กลางถึงน้อยยิ่งมีทางเลือกน้อยลง อาจต้องใช้มอเตอร์ไซด์หรืออย่างอื่น ที่อาจจะสร้างปัญหาด้านอื่นๆเพิ่มเติม”

รถเมล์ไทยขาดทุนเพราะรถติด ต่างประเทศแก้ปัญหาอย่างไร?

ปัญหาระบบรถเมล์ไทย อย่างขสมก.ที่ขาดทุนต่อเนื่องเกิดขึ้นจากหลายอย่าง ทั้งราคาค่าโดยสารที่ถูกกว่าต้นทุนในการเดินรถ การจราจรติดขัดทำให้คุณภาพการบริการแย่ เช่น เมื่อจราจรติดขัดรถเมล์ก็ทำความเร็วไม่ได้ รถเมล์มาไม่ตรงเวลา คนยิ่งไม่อยากใช้บริการ

“ปัญหารถเมล์ไทยไม่ดีเพราะการจราจรติดขัด รถก็ช้าลง ความถี่ก็มีปัญหา เพราะถึงท่ารถต้นสายปล่อยรถเมล์ทุกๆ 10 นาที แต่รถติดทำให้เวลาที่รถเมล์มาถึงป้ายต่อไป ถ่างออกไปเรื่อยๆ พอรถมาช้า มาไม่ตรงเวลา คนยิ่งไม่อยากใช้”

นอกจากนี้ระบบรถเมล์ไทย มีปัญหาจากโครงสร้างพื้นฐาน อย่างป้ายรถเมล์ที่หน่วยงานรัฐท้องถิ่นดูแลไม่ได้มาตรฐาน เช่น ป้ายรถเมล์ ควรมีความยาวประมาณ 50 เมตรเพื่อให้รถเมล์ 3 คันสามารถจอดต่อกันได้เพื่อรับผู้โดยสาร แต่ไทยป้ายรถเมล์สั้น รถเมล์เลยกลายเป็นปัญหาจราจร นอกจากนี้ประชาชนยังเดินทางมาขึ้นรถเมล์ไม่ง่าย

ปัญหาการจราจร ถ้าดูจากเคสที่ลอนดอนช่วงปี 2004-2005 มีปัญหาเดียวกันคือจราจรติดขัด ทำให้ลอนดอนออกมาตรการเก็บค่าใช้จ่ายกับรถยนต์ส่วนตัวที่ต้องการเข้ามาในเมืองเหมือนสิงคโปร์ ทำให้จำนวนรถบนถนนลดลง เมื่อรถติดน้อยลง รถเมล์ก็ทำเวลาได้ ความถี่ดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง คนก็หันมานั่งรถเมล์มากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพก็ดีขึ้นตามมา

ภาพจาก Unsplash

แล้วรัฐไทยทำอะไรอยู่? ต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง

สิ่งที่ไทยต้องแก้ไขและพัฒนาเพื่อให้ระบบรถเมล์ดีขึ้น ได้แก่

  • ขสมก. พัฒนาการเดินรถของตนเอง ทั้งแผนฟื้นฟู การเปลี่ยนรถคันใหม่ ทำระบบ E-Ticket คนขับต้องมีคุณภาพ ฯลฯ
  • กรมขนส่งทางบกต้องควบคุมมาตรฐานรถร่วมบริการให้คุณภาพดีขึ้น ปรับเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการที่เป็นรถร่วมฯ ขอใบอนุญาตเดินรถได้ง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มการแข่งขันในระบบรถเมล์ และกระตุ้นให้รถเมล์ต้องพัฒนาบริการมาแข่งกัน
  • ปรับโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ถนน ป้ายรถเมล์ การจราจร ให้รถเมล์เดินรถได้สะดวก หน่วยงานรัฐอาจเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้รถเมล์สามารถทำธุรกิจได้ และกระตุ้นการพัฒนาให้บริการดีขึ้น เช่น ทำให้ผู้ประกอบการมีมากขึ้น และแข่งขันกันทำบริการให้ดีขึ้น, Bus Lane ให้รถเมล์เดินรถได้ ฯลฯ

สรุป

รถเมล์ไทยขาดทุนเพราะเจอปัญหาหลายอย่าง ทั้งราคารถโดยสารที่ต่ำกว่าต้นทุน การจราจรที่ติดขัด ไหนจะโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้อให้คนขึ้นรถเมล์ได้สะดวก ต่างประเทศมีมาตรการหลายอย่างเพื่อทำให้คนทั่วไปใช้รถเมล์ได้สะดวก ง่าย ในราคาถูก แต่เขาทำมาตรการในหลายด้านไม่ได้เกิดจากหน่วยงานเดียวแล้วทำได้เลย เมื่อไรรัฐไทยจะทำงานร่วมกันแบบนี้ให้ชื่นใจ?

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา