ทำไมเงินบาทถึงอ่อนค่าสุดในรอบ 11 เดือนทะลุ 37.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทเริ่มอ่อนค่าอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุด เช้าวันนี้ (3 ต.ค. 66) อ่อนค่าทะลุ 37.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปแล้ว ว่าแต่การอ่อนค่าในครั้งนี้เกิดจากปัจจัยใด และจะส่งผลดีผลเสียต่อภาคส่วนใดบ้าง

ข้อมูลจาก Ausiris Gold ระบุว่า ค่าเงินบาทเช้าวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 37.09 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบ 11 เดือน โดยสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยหลัก 

  1. ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 เหลือ 3.4% จากเดิมที่ 3.9% เนื่องจากกังวลผลการส่งออกที่ชะลอตัว
  2. แม้ไทยจะมีรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรับยังแข็งค่าขึ้นที่สุดในรอบ 11 เดือน และ Ausiris Gold ยังคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทวันนี้ อยู่ที่ 36.90-37.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ขณะเดียวกัน ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท ในสัปดาห์นี้ (2-6 ต.ค.) ว่า จะมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 36.35-37.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา (25-29 ก.ย.) ซึ่งเงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (ระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน)

ปัจจัยหลักอย่าง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินสำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้น 11 สัปดาห์ติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถรับมือกับภาวะดอกเบี้ยสูงได้ดีกว่าเศรษฐกิจแห่งอื่นๆ ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯ ยังปรับตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบ 16 ปี 

อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลดช่วงบวกเล็กน้อย หลังดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงสู่ 3.9% ในเดือนส.ค. 

ดังนั้นในภาพรวมแล้วเดือน ก.ย. 2566 จะพบว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 4.35 และไตรมาสสามค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 2.9% โดยมีนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 3,025 ล้านบาท และมียอดขายพันธบัตร 12,048 ล้านบาท โดยเกิดจากตราสารครบอายุ 5,175 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านค่าเงินที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่

ปัจจัยต่างประเทศ

หลังรัฐบาลสหรัฐฯสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ Government Shutdown ขณะที่ตลาดจะติดตามข้อมูลภาคบริการและการจ้างงานเดือน ก.ย.ของสหรัฐฯ  รวมถึงความเห็นของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยเรามองว่าแม้ค่าเงินดอลลาร์อาจมีจังหวะพักฐานบ้างชั่วคราวในระยะสั้น แต่ในมิติของอัตราผลตอบแทนนั้นดอลลาร์จะยังคงได้แรงหนุนต่อไป จนกว่าตัวเลขจะสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังอ่อนแรงลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งจะท้าทายแนวโน้มภาวะดอกเบี้ยสูงยาวนาน (Higher for Longer) ของ Fed

ปัจจัยในประเทศ 

มองว่า นักลงทุนจะให้ความสนใจกับตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 67 เป็น 4.4% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.8% สะท้อนแผนกระตุ้นทางการคลัง โดยเฉพาะ Digital Wallet อีกทั้งภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และการส่งออกกลับมาขยายตัว 

ธปท.เห็นว่ายังต้องติดตามความเสี่ยงด้านสูงของเงินเฟ้อ ทั้งนี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยด้วยเสียงเอกฉันท์โดยมองว่าดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับเป็นกลาง ท่าทีดังกล่าวทำให้เราประเมินว่าดอกเบี้ยนโยบายถึงจุดสูงสุดของวัฎจักรแล้วและกนง.มีแนวโน้มตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.50% ในอีกหลายไตรมาสข้างหน้า

ที่มา Ausiris Gold, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา