Goldman Sachs ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับสาเหตุที่ค่าเงินบาทไทยแข็งค่า ส่วนหนึ่งมาจากคนไทยซื้อขายทองคำ นอกจากนี้ยังมองถึง 4 แนวทางของธปท. ที่จะแก้ไขค่าเงินบาทแข็ง
Goldman Sachs สถาบันการเงินรายใหญ่ของโลก ได้จัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับค่าเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นมาจากอะไรบ้าง และพบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากคนไทยซื้อขายทองคำ โดยค่าเงินบาทในขณะนี้แข็งค่าอันดับ 1 ของเอเชียนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา นอกจากนี้ Goldman Sachs มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีทางออก 4 ทางในการทำให้ค่าเงินบาทของไทยไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้
เราจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาคนไทยกับการซื้อขายทองคำเป็นสองสิ่งที่แทบคู่กัน โดย Goldman Sachs เผยว่าไทยนั้นเป็นแหล่งซื้อขายทองคำอันดับ 1 ในกลุ่ม Emerging Markets ในเอเชีย โดยในไตรมาส 3 ของปี 2018 มีปริมาณการซื้อขายทองคำคิดมากกว่า 0.6% ของ GDP ไทย ขณะที่ช่วงสูงสุดนั้นในอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมาซึ่งสูงเกิน 1% ของ GDP ด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ราคาทองคำที่ขึ้นมาถึง 20% ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2018 ทำให้ Goldman Sachs มองว่าเป็นสาเหตุทำให้บาทแข็งด้วยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยมองว่าราคาทองลงก็มักจะซื้อเก็บไว้ และขายทำกำไรเมื่อมีราคาดี
นอกจากนี้ Goldman Sachs ยังมองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีทางเลือก 4 ทางในการทำให้ค่าเงินบาทของไทยไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้ คือ
- แทรกแซงค่าเงิน โดย Goldman Sachs มองว่ามีผลดีในระยะสั้นแต่ระยะยาวมีต้นทุนที่สูงมากๆ
- ควบคุมเงินไหลเข้า เช่น เก็บภาษีกำไรจากพันธบัตร หรือ คุมระยะเวลาที่นำเงินเข้ามา อย่างไรก็ดี Goldman Sachs มองว่าวิธีนี้รัฐบาลจะไม่สามารถแยกแยะระหว่างเงินร้อนกับเงินลงทุนในประเทศไทยได้ และยังกีดกันนักลงทุนจากต่างประเทศอีกด้วย
- ส่งเสริมให้เงินไหลออก เช่น ให้ต่างชาติสามารถออกพันธบัตรในสกุลเงินบาท หรือแม้แต่นโยบายปัจจุบันของธนาคารแห่งประเทศไทยคือผ่อนคลายให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนต่างๆ โดย Goldman Sachs มองว่าวิธีนี้เป็นวิธีในระยะยาวที่ดีสุด เพราะจะลดส่วนเกินของดุลบัญชีเดินสะพัดได้
- ใช้นโยบายทางการเงิน เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ฯลฯ โดย Goldman Sachs มองว่าการใช้นโยบายนี้อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในภาคการเงินมากขึ้นถ้าหาก กนง. ลดดอกเบี้ย และไม่คุ้มเสี่ยงกับภาคเศรษฐกิจทั้งหมด
ซึ่งผลในข้อ 4 นั้นทำให้ Goldman Sachs มีมุมมองที่ว่า กนง. จะไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากความเสี่ยงทางภาคการเงินนั่นเอง แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะใช้วิธีการอื่นที่ทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่า
Update: ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออก 2 มาตรการสกัดเงินร้อนจากต่างชาติออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่มา – บทวิเคราะห์จาก Goldman Sachs
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา