ทำไมกองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้มละลายในอีก 30 ปี? ​กับหนึ่งมรดกการแต่งตั้งของ คสช.

ช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจเห็นข่าวความกังวลของประชาชนหลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย (สส.) หลายพรรคตั้งข้อสงสัย เรื่องกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะความ ‘เสี่ยงการล้มละลายในอนาคต’ แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อย้อนดูในช่วงสิบปีที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานออกมาตั้งคำถามนี้กันมากมาย อย่างปี 2557 ก็เห็นข่าวว่า TDRI มองถึงปัญหานี้เช่นกัน

วันนี้ Brandinside อยากชวนคุณมาอ่านภาพรวม ความเป็นไปได้ ข้อสงสัย และอีกหลากหลายคำถามที่กองทุนประกันสังคมต้องเริ่มเปลี่ยนแปลง เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง 

ประกันสังคม

สถานการณ์ปัจจุบันของกองทุนประกันสังคมเป็นอย่างไรหลายคนอาจสงสัยแล้วว่า หากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้นกับกองทุนประกันสังคมจะกระทบกับประชาชนมากแค่ไหน โดยข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ณ มิ.ย. 2023 นี้มีผู้ประกันตนรวม 24.51 ล้านคน แบ่งเป็น 

  • ผู้ประกันตน ม.33 อยู่ที่ 11.72 ล้านคน 
  • ผู้ประกันตน ม.39 อยู่ที่ 1.85 ล้านคน 
  • ผู้ประกันตน ม.40 อยู่ที่ 10.93 ล้านคน
ภาพจาก สปส.

ขณะที่ บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดผลการดำเนินงานการบริหารการลงทุนกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ณ 31 พ.ค. 2566 ว่า 

  • กองทุนประกันสังคม มีเงินลงทุนสะสมทั้งสิ้น 2.31 ล้านล้านบาท โดยลงทุนหลักทรัพย์ที่มีความมั่งคงสูง 1.74 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75.22% ซึ่งผลตอบแทน 5 เดือนแรกอยู่ที่ 23,191 ล้านบาท 
  • กองทุนเงินทดแทน มีเงินลงทุนสะสม 76,118 ล้านบาท โดยลงทุนหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 61,886 ล้านบาท คิดเป็น 81.30% ทั้งนี้ผลตอบแทน 5 เดือนแรกอยู่ที่ 851 ล้านบาท
    (รวมทั้ง 2 กองทุนมีผลตอบแทนที่ 24,042 ล้านบาท) 


3 ประเด็นที่สังคมสงสัยต่อกองทุน ทำไมเสี่ยงล้มละลาย – ทำไมต้องเพิ่มเงินสบทบฯ – เงินลงทุนในกองฯ ล้านล้านนี้ใครมีสิทธิ์ตัดสินใจ?

ความกังวลว่า ‘กองทุนประกันสังคมเสี่ยงล้มละลาย’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยพบว่าเมื่อปี 2014 ทาง มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยตั้งสมมติฐานไว้ว่า กองทุนประกันสังคมอาจขาดสภาพคล่องหรือล้มละลายภายใน 30 ปี (ราวปี 2044 / 2587) หากปล่อยให้สัดส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพมากกว่าการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน และด้วยพอร์ตการลงทุนของกองทุนฯ ที่เน้นสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ (เช่น พันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ) ในสัดส่วน 60% จึงเป็นไปได้ยากที่จะทำกำไรได้ถึง 10% หากเป็นเช่นนี้ ในอีก 25 ปีข้างหน้าเงินในกองทุนจะลดลงอย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้นอีก 5 ปี กองทุนจะติดลบและล้มลงในที่สุด

ทั้งนี้ปี 2557 เป็นปีที่กองทุนประกันสังคมครบกำหนด และเริ่มต้นจ่ายเงินบำนาญกรณีชราภาพให้ผู้ประกันตน (แรงงานที่จ่ายเงินสมทบเข้ามาในกองทุน)

ขณะเดียวกัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) เคยประเมินไว้ว่า หากกองทุนชราภาพไม่มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ของกองทุน จะมีความเป็นไปได้สูงที่ภายในปี 2597 เงินของกองทุนชราภาพจะหมดลง  เนื่องจากผู้ประกันตนรุ่นหลังมีอายุขัยยืนยาวขึ้น 

ประกันสังคม

แน่นอนว่า หากคิดแบบเร็วๆ ทางแก้ไขเบื้องต้น คือ เงินในกองทุนต้องเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะจากการลงทุน การเพิ่มจำนวนผู้ประกันตน หรือ การเพิ่มเงินสมทบในแต่ละเดือน…

จนกระทั่งช่วงต้นปี 2566 นี้เอง กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังพิจารณาที่จะปรับขึ้นอัตราเงินสมทบ โดยได้นำร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ เงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. … มาเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และคาดว่าอาจจะเริ่มใช้จริงตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กำหนดเพดานเงินเดือนสูงสุดที่ 15,000 บาท ผู้ประกันตน (ม. 33 จะส่งเงินสมทบเดือนละ 750 บาท โดยการปรับขึ้นจะแบ่งเป็น 3 ระยะ (ปรับเงินสมทบและวงเงินสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย) ได้แก่

  • ม.ค. ปี 2567–2569 กำหนดเพดานเงินเดือนที่ 17,500 บาท ส่งเงินสมทบสูงสุด 875 บาท/เดือน
  • ม.ค. ปี 2570–2572 กำหนดเพดานเงินเดือนที่ 20,000 บาท ส่งเงินสมทบสูงสุด 1,000 บาท/เดือน
  • ตั้งแต่ปี 2573 เป็นต้นไป ม.ค. ปี 2567–2569 กำหนดเพดานเงินเดือนที่ 23,000 บาท ส่งเงินสมทบสูงสุด 1,150 บาท/เดือน
ประกันสังคม
ภาพจาก สปส.

นอกจากการปรับเพิ่มเงินสมทบแล้ว ช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ในสภาผู้แทนราษฎร ยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับ เกี่ยวกับความโปร่งใส และความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม เช่น 

  • ความกังวลต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคม ว่าอาจล้มละลายหากไม่ปรับแผนการดำเนินงาน เนื่องจากรายจ่ายสูงกว่ารายได้ (ในระยะสั้นเกิดจากผลกระทบด้าน COVID-19 ที่ลดเงินสมทบและมีรายจ่ายค่อนข้างสูง)
  • ความโปร่งใสในการบริหารพอร์ตการลงทุน 
  • การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมที่เหมือนถูกแช่แข็งมาอย่างต่อเนื่อง หลังจาก 8 พ.ย. 2558 ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ (ถึงปัจจุบันราว 8 ปีแล้ว)
  • ความเสี่ยงหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญ ที่เกิดมาตลอด และกองทุนประกันสังคมไม่สามารถเรียกเก็บจากนายจ้างได้ (นาทีที่ 2.20.00 เป็นต้นไป)
  • ข้อสงสัยถึงความสามารถของคณะกรรมการในการบริหารจัดการพอร์ตลงทุนของประกันสังคมที่มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท

นอกจากปัญหาเชิงโครงสร้างของกองทุนประกันสังคมเหล่านี้แล้ว  ผู้ประกันตนต่างต้องเผชิญกับความลำบากในการเข้าถึงบริการของประกันสังคม เช่น การรอคิวเพื่อพบแพทย์ การปรับลดขอบเขตในการรักษา (ปรับลดยา- ความครอบคุลมในการรักษาโรคต่างๆ น้อยลง)


คำชี้แจงจากกองทุนประกันสังคม

ด้าน เธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในด้านการลงทุน ผลตอบแทนการลงทุนกองทุนประกันสังคมในปี 2564 นั้นอยู่ที่ 4.91% คิดเป็นจำนวนเงิน 79,438 ล้านบาท หากรวมรายได้จากการเก็บเงินสมทบและรายได้อื่นๆ กองทุนมีรายได้รวมอยู่ที่ 2.31 แสนล้านบาท

ขณะเดียวกัน ช่วงที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้ผู้ประกันตน (กรณีเจ็บป่วย 1.04 แสนล้านบาท, กรณีว่างงาน 26,725 ล้านบาท ) ลดเงินสมทบฯ 3 ครั้ง (64,246 ล้านบาท) และการช่วยเหลืออื่นๆ ทำให้มีรายจ่ายมากกว่ารายรับเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะยาว ณ 30 มิ.ย. 2566 มีเงินลงทุนสะสมอยู่ที่ 2.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.24 % เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปีก่อน (ณ 31 ธ.ค. 2565 มีเงินลงทุนสะสมอยู่ที่ 2.27 ล้านล้านบาท) และจากการประมาณการสถานะกองทุนประกันสังคม ในปี 2570 คาดว่าจะมีเงินลงทุนสะสมคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านบาท

ประกันสังคม
ภาพจาก สปส.

นอกจากนี้ยังยืนยันว่า กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่มีเสถียรภาพ มั่นคง สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอ ดังนั้นจึงขอให้พี่น้องผู้ประกันตนทุกท่านมั่นใจได้ว่า ในอนาคตกองทุนไม่มีทางล้มละลายและจะสามารถจ่ายสิทธิประโยชน์ในระยะยาวให้กับผู้ประกันตนในทุกกรณีได้อย่างแน่นอน (ในระหว่างหารประชุมสภาฯ ผู้ชี้แจงจากกองทุนประกันสังคมระบุว่า จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการฯ ภายในปีนี้)

อย่างไรก็ตามในระยะยาวประกันสังคมยังต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายด้าน 

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาปัจจัยที่เร่งให้สถานะของกองทุนประกันสังคมน่าเป็นห่วงมากขึ้น คือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลต่อตัวผู้ประกันตนโดยตรง รวมถึงส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินที่ทำให้การผลตอบแทนของประกันสังคมยากยิ่งขึ้น

แต่หากมองถึงภาพรวมและพื้นฐานแล้วจะพบว่า ประกันสังคมต้องเผชิญกับ ปัจจัยใหญ่ๆ ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาทั้งการหาทางออกที่เหมาะสม และแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้แก่

  • ปัญหาสังคมสูงวัย เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ Aging Society ที่มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนที่สูง และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นต่อเนื่อง ย่อมส่งผลจำนวนแรงงานในระบบน้อยลง และส่งผลต่อเนื่องไปยังให้จำนวนเงินสมทบของผู้ประกันตนที่จะเข้ามาในกองทุน อาจลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในบางจุดอาจทำให้ รายจ่ายของกองทุนฯ สูงกว่ารายรับ 
  • การสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน เนื่องจากปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนส่วนใหญ่ 60-70% อยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ฯลฯ จึงส่งผลให้ผลตอบแทนอาจไม่สามารถสูงกว่า แนวโน้มรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น (ในกรณีที่เงินสมทบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ)

แต่ปัญหาที่สำคัญและถูกตั้งคำถามมากที่สุดในช่วงเร็วๆ นี้ คือ ความโปร่งใสของการทำงานคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม ซึ่งยังไม่มีคำตอบและความชัดเจนว่า ผู้ประกันตนจะได้เลือกตั้งคณะกรรมฯ นี้เมื่อไร

ในมุมมองของนักวิชาการกองทุนประกันสังคมควรรับมือปัญหาต่างๆ อย่างไร?

ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะจาก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคม และกองทุนชราภาพของไทย ได้แก่ 

  1. การออกแบบระบบการจัดการรายได้ยามขราภาพของภาครัฐต้องคิดอย่างบูรณาการ และมองรายได้รวมจากทุกระบบ รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบคอบ
  2. ไทยต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมในเรื่องนโยบายระบบรายได้ผู้สูงอายุ เช่น การตั้งคณะกรรมการเพื่อวิเคราะห์ภาพใหญ่ของระบบบำเหน็จบำนาญ
  3. ทุกระบบรายได้ผู้สูงอายุของประเทศไทย ไม่ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าของเงินที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทน เพดานเงินสมทบ และเงินร่วมสมทบ การปรับตัวแปรเหล่านี้ให้เป็นมูลค่าจริง (indexation) เป็นสิ่งจำเป็น และเป็นคุณลักษณะของระบบรายได้ยามชราภาพทั่วโลก
  4. ควรจะมีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์อีกหลายข้อของระบบประกันสังคมภาคบังคับเพื่อให้ตัวระบบมีความยั่งยืนทางการคลังเงินบำนาญเพียงพอ
  5. การออกแบบระบบรายได้ยามชราภาพจำเป็นต้องเข้าใจตลาดแรงงานของประเทศนั้น ๆ
  6. ควรมีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขึ้นแต่อาจจะมีการพิจารณาว่า ระดับที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด ทั้งนี้ เพื่อช่วยครัวเรือนสูงวัยที่ยากจนในรุ่นปัจจุบัน แต่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต ระบบประกันสังคมและการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุควรเชื่อมโยงกัน เพื่อกลั่นกรองเงินช่วยเหลือให้ไปสู่เฉพาะผู้ที่ยังได้รับบำนาญไม่เพียงพอ 

สุดท้ายนี้ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายรอบด้านและพัฒนาการของกองทุนประกันสังคมควรให้ความสำคัญกับความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงควรพัฒนาการบริการในทุกด้านให้ครอบคลุม และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ประกันตนอยู่เสมอ

ที่มา สำนักงานประกันสังคม, ไตรมาสที่ 1 ปี 2023, ธนาคารแห่งประเทศไทย (1), (2)

 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา