ทำไม Shopee ถึงต้องปลดพนักงานฝั่งบริการส่งอาหาร และรับชำระเงินในประเทศไทย?

วันที่ 13 มิ.ย. 2022 เว็บไซต์ Deal Street Asia มีการรายงานข่าว Shopee ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่าครึ่งหนึ่งในส่วนธุรกิจส่งอาหาร หรือ Shopee Food และบริการชำระเงิน หรือ Shopee Pay ในหลายประเทศโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น

น่าสนใจว่าทำไมถึงเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น เพราะ Shopee Food พึ่งให้บริการอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อเดือน พ.ย. 2021 ส่วน Shopee Pay มีการทำตลาดไทยมาเกือบ 10 ปี และมีรายได้เติบโตโตยตลอด

Brand Inside จึงอยากชวนผู้อ่านไปเจาะตัวเลขรายได้ของทั้งสองธุรกิจในไทย และภาพรวมธุรกิจของ Sea บริษัทแม่ของ Shopee ว่า จริง ๆ แล้ว Shopee กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจหรือไม่

Shopee

Shopee ทำตลาดไทยมานานแต่ยังขาดทุนอยู่

เริ่มต้นที่ภาพรวมธุรกิจ Shopee ในประเทศไทยกันก่อน โดยหากสำรวจข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะพบว่า บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรกที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก หรือมีคำว่า Shopee อยู่ในชื่อบริษัทจะประกอบด้วย

  • บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 50,000 ล้านบาท
  • บริษัท เอสคอมเมิร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท (บริการ Fulfillment)
  • บริษัท ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท (บริการขนส่งสินค้า)
  • บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท (บริการชำระเงิน Shopee Pay)
  • บริษัท ช้อปปี้ฟู้ด จำกัด ทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท (บริการส่งอาหาร Shopee Food)

แต่เกือบทุบบริษัทดังกล่าวอยู่ในสภาวะขาดทุนสะสม และน่าจะต้องรอเวลาที่จะกลับมามีกำไรอย่างยั่งยืน เช่น ช้อปปี้ (ประเทศไทย) ที่จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2015 มีจำนวนขาดสุทธิสะสมตั้งแต่ปีที่จดทะเบียนกว่า 20,000 ล้านบาท อาจเพราะยังต้องเผาเงินเพื่อแข่งขันกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซคู่แข่งตลอดกาลอย่าง Lazada อยู่

แม้จะขาดทุนต่อเนื่อง ทาง Shopee ยังต้องการสร้างช่องทางรายได้ใหม่ หนึ่งในนั้นคือ Shopee Food บริการส่งอาหารที่ปัจจุบันมีคู่แข่งในตลาดที่พร้อมใส่เงิน 3 รายหลักคือ Grab, LINE MAN และ Food Panda ซึ่งการเข้ามาครั้งนี้ Shopee ต้องเผาเงินเพื่อทำโปรโมชันเพื่อจูงใจลูกค้าจากคู่แข่งเข้ามาใช้บริการเช่นกัน

shopee

Shopee Food กับการเสร็จนาฆ่าโคถึก

หากเจาะไปที่ Shopee Food จะพบว่า บริษัทจดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2017 และเริ่มมีรายได้เข้ามาในปี 2018 ก่อนให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 2021 อาจเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้กว่าจะพร้อมทำธุรกิจต้องรอนานจากช่วงที่จดทะเบียนกว่า 4 ปี

และนับตั้งแต่ปีจดทะเบียน Shopee Food ขาดทุนสุทธิสะสมอยู่ 86 ล้านบาท โดยปี 2021 มีรายได้รวม 4.07 แสนบาท อาจจะดูน้อยเพราะพึ่งเริ่มได้ไม่นาน แต่แหล่งข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Shopee กล่าวกับ Brand Inside ว่า ก่อนจะเริ่มธุรกิจใหม่นี้ Shopee มีการจ้างพนักงานเข้ามารับผิดชอบจำนวนมากเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง

หลังจากธุรกิจเริ่มอยู่ตัว ทาง Shopee กลับไม่เลือกจ้างงานเพิ่ม แต่เลือกที่จะลดความเข้มข้นในการจ้างงาน และเลือกปลดพนักงานเหล่านั้นแทน คล้ายกับสำนวน เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล โดยทางการของบริษัทยังไม่มีการให้ข้อมูลถึงเหตุผล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวนี้

shopee

Shopee Pay กับช่องทางชำระเงินที่แข่งดุ

ต่อด้วย Shopee Pay หรือชื่อเดิม Airpay หนึ่งในบริการเก่าแก่ของกลุ่ม Sea หรือ Garena เดิม มีต้นกำเนิดมาจากบริการเติมเกมของบริษัท ก่อนต่อยอดไปสู่บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ, ซื้อตั๋วภาพยนตร์ รวมถึงใช้ชำระสินค้า และบริการต่าง ๆ ได้ทั้งบนโลกออนไลน์ และออฟไลน์

อย่างไรก็ตาม Shopee Pay ยังขาดทุนสะสมเช่นเดียวกับบริการอื่น ๆ ของ Shopee โดยนับตั้งแต่ปี 2015 ตัวบริษัทขาดทุนสะสม 324 ล้านบาท และต้องเจอคู่แข่งทั้ง Rabbit LINE Pay และ TrueMoney ที่ต่างมีผู้ใช้ และจุดรับชำระจำนวนมาก และทั้งหมดนี้สามารถเติมเกม และชำระบริการอื่น ๆ ใกล้เคียงกับที่ Shopee Pay ทำได้

นอกจากนี้ ความคุ้มชิน และการใช้งานโมบายแบงก์กิ้งอย่างแพร่หลายผ่านจำนวนบัญชีเงินฝากกว่า 100 ล้านบัญชี มากกว่าจำนวนประชากรไทย และร้านค้ายินดีที่จะรับชำระด้วยวิธีนี้ ทำให้ความจำเป็นในการใช้งาน อี-วอลเล็ต หรือบริการชำระเงินต่าง ๆ น้อยลงเช่นกัน จนที่สุดแล้ว Shopee ตัดสินใจลดจำนวนพนักงานในธุรกิจนี้ออกไป

shopee shopee

ภาพรวมรายได้ธุรกิจแม่ที่เติบโต แต่ยังขาดทุน

ในทางกลับกันภาพรวมของ Sea ธุรกิจแม่ของ Shopee ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ปี 2021 ทางกลุ่มบริษัททำรายได้รวม 9,955 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.48 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 128% จากปี 2020 ที่เจอวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด โดยรายได้ทั้งหมดนี้แบ่งเป็น

  • ธุรกิจ E-Commerce (EC) 5,123 ล้านดอลลาร์ (แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้า Shopee)
  • ธุรกิจ Digital Entertainment (DE) 4,320 ล้านดอลลาร์ (แพลตฟอร์มเกี่ยวกับเกม Garena)
  • ธุรกิจ Digital Financial Services (DFS) 469 ล้านดอลลาร์ (แพลตฟอร์มชำระเงิน Shopee Pay)

ทั้งนี้ในแต่ละไตรมาส ธุรกิจ EC และ DFS ต่างมีแนวโน้มรายได้เติบโตเฉลี่ย 89% และ 711% ตามลำดับ ยกเว้นธุรกิจ DE ในไตรมาส 4 ปี 2021 มีอัตรารายได้เติบโตลดลง โดยทาง Sea ไม่ได้ระบุถึงเหตุผล อาจเพราะการกลับมาใช้ชีวิตปกติในหลายประเทศ ทำให้การเติมเกมต่าง ๆ เพื่อเล่นเมื่ออยู่บ้านมีอัตราลดลง

เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2022 ด้วย แต่คราวนี้ธุรกิจ EC เจอผลกระทบเช่นกัน เพราะจำนวนการสั่งซื้อ และมูลค่าการสั่งซื้อต่างลดลงจากไตรมาสก่อนหน้านี้ และมีเพียง DFS ที่เติบโตในเรื่องจำนวนผู้ใช้ และการขาดทุนที่ลดลง แต่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจนี้คิดเป็นแค่ 8% ของรายได้รวมทั้งหมด

shopee shopee

เมื่อทุกอย่างตก ก็ต้องกลับไปโฟกัสที่ธุรกิจหลัก

จากแนวโน้มรายได้ 2 ธุรกิจหลักที่ลดลง Brand Inside มองว่า Sea จำเป็นต้องกลับไปให้ความสำคัญกับธุรกิจ EC และ DE มากขึ้นก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป จึงไม่แปลกที่ธุรกิจเกิดใหม่อื่น ๆ และธุรกิจที่ทำมานานแต่ยังไม่มีแนวโน้มจะสร้างรายได้อย่าง Shopee Food และ Shopee Pay จะต้องถูกลดความสำคัญ

แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งได้กล่าวกับ Brand Inside ว่า การประกาศปลดพนักงานครั้งนี้เกิดขึ้นกับฝั่ง Shopee Food และ Shopee Pay เท่านั้น ไม่มีพนักงานฝั่ง Shopee ที่รับผิดชอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้รับผลกระทบนี้ โดยในวันที่ 13 มิ.ย. 2022 ทางบริษัทไม่มีการแจ้งข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติมหลังมีการประกาศดังกล่าว

ทั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Shopee ประกาศปลดพนักงานกระทันหัน เพราะเมื่อปลายเดือน มี.ค. 2022 Shopee ประกาศหยุดให้บริการในประเทศอินเดียหลังเริ่มธุรกิจใน ต.ค. 2021 และต้นเดือน มี.ค. 2022 ทาง Shopee ประกาศถอนตัวออกจากตลาดฝรั่งเศสเช่นกัน

สรุป

กลายเป็นเรื่องที่น่าจับตาในวงการธุรกิจเทคโนโลยีในประเทศไทย เพราะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติมีการจ้างงานคนเก่ง ๆ ในไทยจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อน และปลดล็อกการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้องจับตาว่า องค์กรเทคโนโลยีรายใหญ่ในไทยที่ทำธุรกิจมานานแต่ยังขาดทุน จะมีรายไหนปลดพนักงานฟ้าผ่าอีกหรือไม่

อ้างอิง // กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, Sea 1, 2, ภาพปกจาก Shopee

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา