วันที่ 13 มิ.ย. 2022 เว็บไซต์ Deal Street Asia มีการรายงานข่าว Shopee ประกาศเลิกจ้างพนักงานกว่าครึ่งหนึ่งในส่วนธุรกิจส่งอาหาร หรือ Shopee Food และบริการชำระเงิน หรือ Shopee Pay ในหลายประเทศโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งไทยคือหนึ่งในนั้น
น่าสนใจว่าทำไมถึงเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น เพราะ Shopee Food พึ่งให้บริการอย่างเป็นทางการในไทยเมื่อเดือน พ.ย. 2021 ส่วน Shopee Pay มีการทำตลาดไทยมาเกือบ 10 ปี และมีรายได้เติบโตโตยตลอด
Brand Inside จึงอยากชวนผู้อ่านไปเจาะตัวเลขรายได้ของทั้งสองธุรกิจในไทย และภาพรวมธุรกิจของ Sea บริษัทแม่ของ Shopee ว่า จริง ๆ แล้ว Shopee กำลังประสบปัญหาทางธุรกิจหรือไม่
Shopee ทำตลาดไทยมานานแต่ยังขาดทุนอยู่
เริ่มต้นที่ภาพรวมธุรกิจ Shopee ในประเทศไทยกันก่อน โดยหากสำรวจข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะพบว่า บริษัทที่มีทุนจดทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรกที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก หรือมีคำว่า Shopee อยู่ในชื่อบริษัทจะประกอบด้วย
- บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 50,000 ล้านบาท
- บริษัท เอสคอมเมิร์ซ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท (บริการ Fulfillment)
- บริษัท ช้อปปี้ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาท (บริการขนส่งสินค้า)
- บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท (บริการชำระเงิน Shopee Pay)
- บริษัท ช้อปปี้ฟู้ด จำกัด ทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท (บริการส่งอาหาร Shopee Food)
แต่เกือบทุบบริษัทดังกล่าวอยู่ในสภาวะขาดทุนสะสม และน่าจะต้องรอเวลาที่จะกลับมามีกำไรอย่างยั่งยืน เช่น ช้อปปี้ (ประเทศไทย) ที่จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2015 มีจำนวนขาดสุทธิสะสมตั้งแต่ปีที่จดทะเบียนกว่า 20,000 ล้านบาท อาจเพราะยังต้องเผาเงินเพื่อแข่งขันกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซคู่แข่งตลอดกาลอย่าง Lazada อยู่
แม้จะขาดทุนต่อเนื่อง ทาง Shopee ยังต้องการสร้างช่องทางรายได้ใหม่ หนึ่งในนั้นคือ Shopee Food บริการส่งอาหารที่ปัจจุบันมีคู่แข่งในตลาดที่พร้อมใส่เงิน 3 รายหลักคือ Grab, LINE MAN และ Food Panda ซึ่งการเข้ามาครั้งนี้ Shopee ต้องเผาเงินเพื่อทำโปรโมชันเพื่อจูงใจลูกค้าจากคู่แข่งเข้ามาใช้บริการเช่นกัน
Shopee Food กับการเสร็จนาฆ่าโคถึก
หากเจาะไปที่ Shopee Food จะพบว่า บริษัทจดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2017 และเริ่มมีรายได้เข้ามาในปี 2018 ก่อนให้บริการอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 2021 อาจเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้กว่าจะพร้อมทำธุรกิจต้องรอนานจากช่วงที่จดทะเบียนกว่า 4 ปี
และนับตั้งแต่ปีจดทะเบียน Shopee Food ขาดทุนสุทธิสะสมอยู่ 86 ล้านบาท โดยปี 2021 มีรายได้รวม 4.07 แสนบาท อาจจะดูน้อยเพราะพึ่งเริ่มได้ไม่นาน แต่แหล่งข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Shopee กล่าวกับ Brand Inside ว่า ก่อนจะเริ่มธุรกิจใหม่นี้ Shopee มีการจ้างพนักงานเข้ามารับผิดชอบจำนวนมากเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่ง
หลังจากธุรกิจเริ่มอยู่ตัว ทาง Shopee กลับไม่เลือกจ้างงานเพิ่ม แต่เลือกที่จะลดความเข้มข้นในการจ้างงาน และเลือกปลดพนักงานเหล่านั้นแทน คล้ายกับสำนวน เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล โดยทางการของบริษัทยังไม่มีการให้ข้อมูลถึงเหตุผล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวนี้
Shopee Pay กับช่องทางชำระเงินที่แข่งดุ
ต่อด้วย Shopee Pay หรือชื่อเดิม Airpay หนึ่งในบริการเก่าแก่ของกลุ่ม Sea หรือ Garena เดิม มีต้นกำเนิดมาจากบริการเติมเกมของบริษัท ก่อนต่อยอดไปสู่บริการเติมเงินโทรศัพท์มือถือ, ซื้อตั๋วภาพยนตร์ รวมถึงใช้ชำระสินค้า และบริการต่าง ๆ ได้ทั้งบนโลกออนไลน์ และออฟไลน์
อย่างไรก็ตาม Shopee Pay ยังขาดทุนสะสมเช่นเดียวกับบริการอื่น ๆ ของ Shopee โดยนับตั้งแต่ปี 2015 ตัวบริษัทขาดทุนสะสม 324 ล้านบาท และต้องเจอคู่แข่งทั้ง Rabbit LINE Pay และ TrueMoney ที่ต่างมีผู้ใช้ และจุดรับชำระจำนวนมาก และทั้งหมดนี้สามารถเติมเกม และชำระบริการอื่น ๆ ใกล้เคียงกับที่ Shopee Pay ทำได้
นอกจากนี้ ความคุ้มชิน และการใช้งานโมบายแบงก์กิ้งอย่างแพร่หลายผ่านจำนวนบัญชีเงินฝากกว่า 100 ล้านบัญชี มากกว่าจำนวนประชากรไทย และร้านค้ายินดีที่จะรับชำระด้วยวิธีนี้ ทำให้ความจำเป็นในการใช้งาน อี-วอลเล็ต หรือบริการชำระเงินต่าง ๆ น้อยลงเช่นกัน จนที่สุดแล้ว Shopee ตัดสินใจลดจำนวนพนักงานในธุรกิจนี้ออกไป
ภาพรวมรายได้ธุรกิจแม่ที่เติบโต แต่ยังขาดทุน
ในทางกลับกันภาพรวมของ Sea ธุรกิจแม่ของ Shopee ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ปี 2021 ทางกลุ่มบริษัททำรายได้รวม 9,955 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.48 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 128% จากปี 2020 ที่เจอวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด โดยรายได้ทั้งหมดนี้แบ่งเป็น
- ธุรกิจ E-Commerce (EC) 5,123 ล้านดอลลาร์ (แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้า Shopee)
- ธุรกิจ Digital Entertainment (DE) 4,320 ล้านดอลลาร์ (แพลตฟอร์มเกี่ยวกับเกม Garena)
- ธุรกิจ Digital Financial Services (DFS) 469 ล้านดอลลาร์ (แพลตฟอร์มชำระเงิน Shopee Pay)
ทั้งนี้ในแต่ละไตรมาส ธุรกิจ EC และ DFS ต่างมีแนวโน้มรายได้เติบโตเฉลี่ย 89% และ 711% ตามลำดับ ยกเว้นธุรกิจ DE ในไตรมาส 4 ปี 2021 มีอัตรารายได้เติบโตลดลง โดยทาง Sea ไม่ได้ระบุถึงเหตุผล อาจเพราะการกลับมาใช้ชีวิตปกติในหลายประเทศ ทำให้การเติมเกมต่าง ๆ เพื่อเล่นเมื่ออยู่บ้านมีอัตราลดลง
เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในไตรมาส 1 ปี 2022 ด้วย แต่คราวนี้ธุรกิจ EC เจอผลกระทบเช่นกัน เพราะจำนวนการสั่งซื้อ และมูลค่าการสั่งซื้อต่างลดลงจากไตรมาสก่อนหน้านี้ และมีเพียง DFS ที่เติบโตในเรื่องจำนวนผู้ใช้ และการขาดทุนที่ลดลง แต่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจนี้คิดเป็นแค่ 8% ของรายได้รวมทั้งหมด
เมื่อทุกอย่างตก ก็ต้องกลับไปโฟกัสที่ธุรกิจหลัก
จากแนวโน้มรายได้ 2 ธุรกิจหลักที่ลดลง Brand Inside มองว่า Sea จำเป็นต้องกลับไปให้ความสำคัญกับธุรกิจ EC และ DE มากขึ้นก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป จึงไม่แปลกที่ธุรกิจเกิดใหม่อื่น ๆ และธุรกิจที่ทำมานานแต่ยังไม่มีแนวโน้มจะสร้างรายได้อย่าง Shopee Food และ Shopee Pay จะต้องถูกลดความสำคัญ
แหล่งข่าวอีกรายหนึ่งได้กล่าวกับ Brand Inside ว่า การประกาศปลดพนักงานครั้งนี้เกิดขึ้นกับฝั่ง Shopee Food และ Shopee Pay เท่านั้น ไม่มีพนักงานฝั่ง Shopee ที่รับผิดชอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้รับผลกระทบนี้ โดยในวันที่ 13 มิ.ย. 2022 ทางบริษัทไม่มีการแจ้งข้อมูลใด ๆ เพิ่มเติมหลังมีการประกาศดังกล่าว
ทั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Shopee ประกาศปลดพนักงานกระทันหัน เพราะเมื่อปลายเดือน มี.ค. 2022 Shopee ประกาศหยุดให้บริการในประเทศอินเดียหลังเริ่มธุรกิจใน ต.ค. 2021 และต้นเดือน มี.ค. 2022 ทาง Shopee ประกาศถอนตัวออกจากตลาดฝรั่งเศสเช่นกัน
สรุป
กลายเป็นเรื่องที่น่าจับตาในวงการธุรกิจเทคโนโลยีในประเทศไทย เพราะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติมีการจ้างงานคนเก่ง ๆ ในไทยจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อน และปลดล็อกการเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้องจับตาว่า องค์กรเทคโนโลยีรายใหญ่ในไทยที่ทำธุรกิจมานานแต่ยังขาดทุน จะมีรายไหนปลดพนักงานฟ้าผ่าอีกหรือไม่
อ้างอิง // กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, Sea 1, 2, ภาพปกจาก Shopee
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา