ทำไมค่ายรถญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในตลาดไฮบริด ถึงล้มเหลวในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน?

หากย้อนไปเมื่อปี 2010 รถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) มียอดขายทั่วโลกหลักหมื่นคันต่อปี และแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นคือผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 70-90% มีรุ่นยอดนิยมคือ Nissan Leaf

แต่ปี 2022 แบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นกลับไม่มีที่ยืนในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน เพราะมีส่วนแบ่งไม่ถึง 5% ของตลาด และกลายเป็นรถยนต์แบรนด์จีน, สหรัฐอเมริกา และยุโรปขึ้นมาครองตลาดอย่างเบ็ดเสร็จ

ทำไมค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่เคยเป็นผู้นำในตลาดนี้ แถมประสบความสำเร็จในการทำรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดถึงล้มเหลวในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน Nikkei Asia วิเคราะห์มาอย่างน่าสนใจ Brand Inside จึงนำมารายงานดังนี้

Toyota

จีน, สหรัฐอเมริกา และยุโรป ครองตลาด 90%

Nikkei Asia รายงานว่า นับตั้งแต่เดือน ม.ค. – พ.ย. 2022 การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนทั่วโลกอยู่ที่ 6.8 ล้านคัน จำนวนนี้เพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021 และคิดเป็น 10% ของยอดขายรถยนต์ทั่วโลก เพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2021 ผ่านการอ้างอิงข้อมูลจาก MarkLines

หากเจาะไปที่แบรนด์รถยนต์จะพบว่า แบรนด์รถยนต์จากจีนครองส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนถึง 40% รองลงมาเป็นแบรนด์จากสหรัฐอเมริกา 30% และแบรนด์ยุโรปอีก 20% ส่วนแบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่นกินสัดส่วนที่ 2-3% เท่านั้น และคาดว่าสิ้นปีจะมีสัดส่วนไม่ถึง 5% แน่นอน

ตัวอย่างแบรนด์ที่ครองตลาดนี้ประกอบด้วย BYD จากประเทศจีนที่จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนได้ 2.9 ล้านคัน และปัจจุบันเริ่มขยายตลาดออกจากประเทศจีนมากขึ้น ต่อด้วย Tesla แบรนด์จากสหรัฐอเมริกาที่จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนได้ 2.1 ล้านคัน ส่วน Volkswagen กับ Renault จากยุโรปจำหน่ายได้ 1.2 ล้านคัน

จากอันดับ 1 เมื่อสิบปีก่อน สู่บ๊วยในปี 2022

ส่วนแบรนด์จากญี่ปุ่นทั้ง Toyota, Honda และ Nissan สามารถจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนได้เพียง 2 แสนคัน เท่านั้น ต่างกับปี 2009 หรือกว่าสิบปีก่อนที่แบรนด์จากญี่ปุ่นเคยเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนผ่านการเขย่าตลาดด้วย Mitsubishi i-MiEV รถยนต์ไฟฟ้าล้วนรุ่นแรกของโลกที่ผลิตเพื่อคนทั่วไป และ Nissan Leaf

เพราะเมื่อปี 2009-2010 ภาพรวมการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าล้วนอยู่ที่หลักพันถึงหลักหมื่นคัน และแบรนด์ญี่ปุ่นครองตลาดไป 70-90% แต่หลังจากนั้นแบรนด์จากจีน, สหรัฐอเมริกา และกลุ่มยุโรป ต่างเร่งลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ทำให้ประเทศดังกล่าวมีส่วนแบ่งในตลาดนี้เพิ่มขึ้น และดันญี่ปุ่นลงไปสู่อันดับสุดท้าย

เหตุผลที่แบรนด์จีน, สหรัฐอเมริกา และยุโรป ขยับขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่ารถยนต์น้ำมัน แบรนด์เกิดขึ้นใหม่จึงเข้าตลาดได้เร็วกว่า ทั้งเรื่องนโยบายควบคุมมลพิษของประเทศดังกล่าว เช่น ในกลุ่มยุโรปจะเลิกขายรถยนต์น้ำมันในปี 2030 ทำให้ตลาดตื่นตัวในการทำตลาดรถยนต์ไร้มลพิษเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ไฮบริดกลายเป็นตัวถ่วงความก้าวหน้า

อีกเหตุผลที่น่าสนใจคือ ปี 2015 ที่ตลาดรถยนต์แข่งขันกันในเรื่องประหยัดน้ำมัน และ Volkswagen ชูเครื่องยนต์ดีเซลที่ประหยัดกว่าเป็นจุดขาย แต่สุดท้ายกลับเจอเรื่องโกงค่าไอเสีย ทำให้แบรนด์เลือกจะมองข้ามเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และไปลงทุนเต็มที่กับรถยนต์ไฟฟ้าล้วนแทน

ต่างกับทางการประเทศญี่ปุ่นที่มีนโยบายสนับสนุนเรื่องภาษีให้กับรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษน้อย ทำให้มีทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด, รถยนต์ไฟฟ้าล้วน และรถยนต์ไฟฟ้า Fuel-Cell ได้ประโยชน์ จึงไม่แปลกที่ค่ายรถยนต์จะเลือกทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดเพื่อได้ประโยชน์ในประเทศ ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูงเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วน

ขณะเดียวกันฝั่งญี่ปุ่นยังมองว่า การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นสร้างมลพิษมากกว่าการใช้รถยนต์น้ำมัน ทำให้การไปถึงเป้าหมายประเทศไร้มลพิษของญี่ปุ่นทำได้ช้าลง และการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดในประเทศคือกลยุทธ์ที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพที่สุด

สรุป

แบรนด์รถยนต์จากญี่ปุ่นช้าที่สุดในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างไม่ต้องสงสัย ยิ่งผนวกกับตรรกะที่มองว่าการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดเหมาะสมกว่ารถยนต์ไฟฟ้า ตัวแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นก็ยิ่งถูกทิ้งห่างในตลาดนี้ไปเรื่อย ๆ และต้องติดตามว่าจะเปลี่ยนแนวคิดนี้ได้หรือไม่ เพราะถ้าไม่เปลี่ยน โอกาสที่จะหลุดวงโคจรของตลาดก็มีสูง

อ้างอิง // Nikkei Asia

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา