Brand Inside เคยนำเสนอบทวิเคราะห์เรื่อง เหตุผลสำคัญที่ทำให้ใครๆ ก็อยากเป็น gig เพราะกระแสการทำงานอิสระมาแรงมากในยุคปัจจุบัน แต่หารู้ไม่ว่า เป็น gig ก็เจ็บปวดเช่นเดียวกัน
ถึงจะดูชีวิตดี แต่อันที่จริงแล้ว อิสรภาพของชาว gig นั้นแลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ผลสำรวจของ EIC บอกว่า ไม่ใช่ชาว gig ทุกคนที่พอใจกับชีวิตอิสระนี้ มี gig worker บางคนอยากเปลี่ยนมาทำงานประจำ ยิ่งคนที่มีรายได้ไม่เยอะ หรือคนที่เคยทำงานประจำมาก่อน ก็ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์อยากจะเลิกรับงาน gig สูง เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี โลกของชาว gig ก็เช่นกัน ความอิสระนั้นไม่ได้มาแบบได้เปล่า
ห้ามป่วย ห้ามพัก มันห้ามกันได้ที่ไหน
ความเจ็บปวดแรกของชาว gig คือ รายได้ที่ไม่แน่นอน จากผลสำรวจของอีไอซี ข้อนี้เป็นข้อที่ได้แรงโหวตสูงสุด
(ชาว gig 80% เลือกตอบข้อนี้) ด้วยรูปแบบงานที่บางทีก็เดาไม่ถูกว่างานจะเข้ามาเมื่อไหร่ พองานเริ่มไม่แน่ไม่นอน รายได้ก็ไม่แน่ไม่นอนตามไปด้วย อันนี้เป็นข้อแตกต่างสำคัญจากคนทำงานประจำซึ่งไม่ต้องมาคอยพะวงว่าเดือนนี้ฉันจะมีเงินใช้หรือเปล่า
และถึงจะมีอิสระในการเลือกงานได้ตามใจ แต่ก็ใช่ว่าเราจะเป็นฝ่ายเลือกได้ทุกครั้ง อย่าลืมว่าคุณไม่ใช่คนเดียวในโลกที่ทำงานได้และทำงานเป็น ยิ่งเป็นงานที่ใช้ทักษะพื้นฐานทั่วไปก็ยิ่งมีคู่แข่งเยอะ มีคนเข้ามาแทนที่คุณได้ตลอด
เวลา เพราะสมัยนี้ใครๆ ก็เป็น gig ได้ บางทีคนจ้างงานต่างหากที่เป็นฝ่ายเลือก
นึกภาพง่ายๆ ถ้าคุณเป็นคนขับ Uber ใช่ว่าคุณจะเป็นคนขับคนเดียวในละแวกนั้นเสียเมื่อไหร่ ถ้าผู้โดยสารต้องรอรถนาน เขาก็อาจจะเปลี่ยนใจไปเลือกคนขับคนอื่น หรือสำหรับคนทำงานเป็นฟรีแลนซ์ เช่น ช่างภาพงานแต่ง แน่นอนว่าตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเองก็เลือกได้ว่าอยากจ้างช่างภาพคนไหน ดูสไตล์รูปแล้วไม่ชอบ คุยกันแล้วไม่ถูกใจ ก็เปลี่ยนไปจ้างคนใหม่ได้ ดังนั้น คนเป็น gig worker จึงต้องคอยรับความเสี่ยงที่จะโดนแย่งงานจากคนที่มีความสามารถแบบเดียวกันด้วย
ความเจ็บปวดที่สอง คือไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันลา เพราะรับงานอิสระ ชาว gig เลยไม่มีสวัสดิการแบบที่คนทำงานประจำทั่วไปเขาได้กัน อย่างเช่น ประกันสุขภาพ เครื่องแบบพนักงาน วันลาพักผ่อน ค่าเดินทาง เงินโบนัส กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น สวัสดิการนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ชาว gig อิจฉาคนมีงานประจำกันตาร้อน (เห็นได้จากการที่ชาว gig ผู้ตอบแบบสำรวจ 71% พากันกดโหวตข้อนี้)
เรื่องวันลาหรือเงินโบนัสอาจไม่ใช่ประเด็นมากถ้ารู้จักบริหารตารางชีวิตดีๆ ประกันสุขภาพต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ สำหรับชาว gig ในยามป่วย ถ้าไปโรงพยาบาลรัฐต้องรีบไปแต่เช้าและนั่งรอคิวกันยาวๆ อยากสบายหน่อยก็ไปโรงพยาบาลเอกชน แต่พอรับใบเสร็จมาอาจเป็นลมเพราะค่ารักษานั้นแพงหูฉี่ แถมเอาไปเบิกกับใครก็ไม่ได้ ถึงจะบอกตัวเองว่าห้ามป่วย ห้ามพัก แต่ในความเป็นจริง เรื่องแบบนี้มันห้ามกันได้ที่ไหน
นอกจากนี้ ชาว gig ยังเจอปัญหายิบย่อยอื่นๆ เช่น ขอสินเชื่อยากเพราะไม่มีหลักประกันที่มั่นคง อยากขอวีซ่าไปต่างประเทศจะหาใบรับรองจากไหน ทำงานคนเดียวก็เหงาเหมือนถูกตัดขาดจากสังคม หรือที่ร้ายไปกว่านั้นคือเจอผู้ว่าจ้างที่ไม่ทำตามสัญญา แก้งานก็เยอะ โอนเงินก็ช้า สารพันปัญหาที่ทำให้ชาว gig ต้องร้องออกมาพร้อมกันว่า
“อ่าวเฮ้ย ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า”
เป็น gig ต้อง “อยู่เป็น”
ถึงเป็น gig แล้วดูจะเจ็บปวด แต่ผลสำรวจของอีไอซีกลับบอกเราว่า 80% ของชาว gig (ที่ทำแต่งานอิสระจริงๆ ไม่ได้มีงานประจำ) ยังพอใจกับงานที่ทำอยู่ตอนนี้ และเกินครึ่งก็ไม่คิดจะเปลี่ยนไปทำงานประจำ แม้อิสระของชาว gig แลกมาด้วยความเจ็บปวดหลายอย่าง แต่หลายคนก็ยังเลือกที่จะอยู่ในวงการนี้ต่อ
ชาว gig เขามีเคล็ดลับการอยู่รอดนี้ยังไง
1. บริหารเวลาให้เป็น
หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ชาว gig กับวิถีการทำงานแบบ gig ไปด้วยกันไม่รอด ก็เพราะบริหารจัดการเวลาไม่เป็น ดังนั้น การจัดสรรเวลาที่ดีจึงเป็นเคล็ดลับสำคัญ การบริหารเวลาที่ดีนั้นมีอยู่หลายแง่ เช่น รู้จักจัดลำดับความสำคัญของงาน คือรู้ว่างานไหนควรทำก่อนงานไหนควรทำทีหลัง ยิ่งคนที่รับหลายงานก็ต้องจัดสรรเวลาให้ถูก อีกแง่คือแยกชีวิตส่วนตัวกับชีวิตทำงานออกจากกันได้ ถึงจะทำงานหนักก็ต้องมีเวลาพักผ่อน มีเวลาให้กับตัวเองและคนรอบข้างบ้าง
อย่ามัวแต่ปั่นงาน ถ้าบริหารเวลาเป็น ทั้งคุณ คนรอบข้าง และคนที่ดีลงานด้วยก็จะแฮปปี้กันทุกฝ่าย แถม work-life balance ที่คนทำงานต่างฝันหาก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
2. รู้จักหาคอนเนคชั่น
ใครว่าคอนเนคชั่นไม่สำคัญ? ผลสำรวจบอกเราว่า gig worker ส่วนใหญ่หางานผ่านคอนเนคชั่นทางสังคมกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นติดต่อเองโดยตรง คนรู้จักแนะนำมา หรือจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ และการมีมนุษยสัมพันธ์ดีก็เป็นทักษะลำดับต้นๆ ที่ชาว gig พึงมี เพราะยิ่งรู้จักคนมากโอกาสงานก็ยิ่งสูง คอนเนคชั่นที่กว้างขวางนี้ไม่ได้หมายถึงแค่สังคมผู้ว่าจ้างอย่างเดียว แต่รวมถึงกลุ่มคนที่รับงานเหมือนๆ กับเราด้วย เช่น คนที่เป็นทนายความอิสระก็ควรจะทำความรู้จักเพื่อนๆ ที่เป็นทนายความเหมือนกัน เพราะอะไร ก็ถ้าเรารับงานแล้วเกิดไม่ว่างขึ้นมาจะได้หาคนมาแทนได้ และถ้าเพื่อนเกิดไม่ว่าง เราก็เสนอตัวทำงานแทนได้เช่นกัน
3. มีทักษะหลากหลาย หรือมีทักษะเป็นเอกลักษณ์
ทักษะคือสิ่งที่ทำให้เราโดดเด่นออกมาจากคนอื่น ข้อนี้ก็คล้ายๆ กับการทำงานประจำทั่วไป คือถ้าเรามีภาษีดีกว่าคนอื่น โอกาสที่เราจะได้รับเลือกก็ยิ่งมาก ดังนั้น ยิ่งในตลาดงานที่มีคนทำงานแบบเดียวกับเราเยอะ เราก็ต้องยิ่งหาทางทำให้ตัวเองโดดเด่นออกมาจากคนอื่นๆ เคยคุยกับเพื่อนที่เป็นล่ามฟรีแลนซ์ภาษาญี่ปุ่น เธอบอกว่าถึงตอนนี้จะมีคนพูดภาษาญี่ปุ่นเก่งๆ กันเยอะ แต่คนที่มีคลังศัพท์ในหัว และมีทักษะพอที่จะเป็นล่ามได้จริงๆ มีอยู่ไม่มาก เธอก็เลยมีงานเข้ามาอยู่เรื่อยๆ
4. ความชอบ และความสุข
ความชอบและความสุขนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนเลือกจะมาเป็น gig worker และมันก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนอยู่ในวงการนี้กันยืดเช่นกัน ศิลปินอิสระคนหนึ่งที่เราสัมภาษณ์ได้สรุปถึงข้อนี้ไว้อย่างน่าประทับใจ เขาบอกว่าตัวเองคงจะทำงานเป็นศิลปินฟรีแลนซ์แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้ก็มีความสุขดี มันเป็นความสุขที่ไม่ได้มาจากการทำงานอิสระ แล้วก็ไม่ใช่ความสุขจากตัวเงินเป็นหลัก แต่เป็นความสุขจากการทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ
5. พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าชาว gig ผู้รับงานอิสระต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงกว่าคนอื่นๆ ทั้งรายได้ไม่แน่นอน งานที่ไม่รู้ว่าจะเข้ามาเมื่อไหร่ แถมอาจจะเจอค่าใช้จ่ายแบบไม่ทันตั้งตัวได้อีก (เช่น ค่ารักษาพยาบาล) เคล็ดลับการอยู่รอดข้อสุดท้าย ซึ่งน่าจะเป็นข้อที่สำคัญที่สุดของชาว gig จึงเป็นการพร้อมเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับศิลปินกราฟิกคนหนึ่งที่รับงานอิสระ รุ่นพี่คนนี้มีเอกลักษณ์ในงานสูงมาก ชนิดที่ว่าใครเห็นงานก็ต้องรู้ว่าเป็นผลงานของเขา เมื่อถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จ เขาตอบว่าคือการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง คอยอัพเดทสิ่งใหม่ๆ หามุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม เพราะสไตล์งานที่ทำวันนี้ พรุ่งนี้ก็อาจจะมีคนทำตามแล้ว ถ้างานของเราไม่สดใหม่ ไม่มีอะไรแปลกใหม่ สักวันก็จะถูกคนอื่นเข้าแทนที่ ถึงตอนนั้นคงไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่หมดสนุก แต่คนที่ทำงานกับเราก็จะหมดสนุกไปด้วย
พูดกันตามตรง เคล็ดลับข้อสุดท้ายนี้เป็นสิ่งที่เอาไปปรับใช้กันได้ทุกคน ไม่ว่าคุณจะเป็น gig worker เป็นมนุษย์เงินเดือน หรือทำงานอะไรก็ตาม ถ้ารู้จักปรับตัว เปิดรับสิ่งแปลกใหม่ และพัฒนาสิ่งที่ตัวเองมีอยู่เสมอ ถึงอนาคตจะเปลี่ยนงาน จะตกงาน หรือเจอกับความเปลี่ยนแปลงอะไร เราก็จะยังยิ้มสู้และอยู่กับมันได้
แบบนี้สิถึงเรียกว่า ‘อยู่เป็น’
แล้วแบบนี้เป็น gig ดีไหม งานอะไรที่เหมาะกับเรา
สรุปแล้วเป็น gig นี่มันดีหรือไม่ดี? อย่างเรานี่ควรจะทำงานแบบไหน?
สำหรับคำถามแรก งานแบบ gig จะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองและความชอบของแต่ละคน ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณลองไปถามปู่ย่าตายายว่าลาออกไปรับงานอิสระดีมั้ย รับรองว่าโดนดุกลับมาพร้อมคำถามว่าจะเอางานที่แสนจะมั่นคงไปทิ้งขว้างทำไม แต่ถ้าลองเปลี่ยนมาถามคนรุ่นใหม่แบบเพิ่งจบมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ อาจจะได้คำตอบว่าเอาที่สบายใจเลย คนเราเกิดมาชีวิตเดียวจะเสียเวลาทำสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบทำไมล่ะ (ถ้าเป็นวัยรุ่นฝรั่งคงชูมือบอกว่า YOLO! ย่อมาจาก you only live once) จะเห็นว่าแค่คนต่างรุ่นก็คิดต่างกันแล้ว
ส่วนคำถามที่สอง คำตอบคือให้หันกลับมาดูที่ตัวเราเองก่อน ว่าเหมาะกับงานแบบไหน
งานในรูปแบบ gig อาจจะดีเลิศตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนที่รักความเป็นอิสระ แต่สำหรับคนที่ต้องการความแน่นอนในชีวิต (ทุกเดือนฉันจะต้องมีเงินใช้ ไปโรงพยาบาลแล้วมีประกันจ่ายให้) งานประจำก็ตอบโจทย์ได้ดีกว่า
ที่สำคัญ อย่าลืมว่าเราทำตามความชอบของตัวเองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องนึกถึงข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงคนรอบตัวด้วย เช่น ถ้ามีความจำเป็นต้องผ่อนบ้านผ่อนรถ ต้องมีรายได้เข้ามาแน่นอนในระดับหนึ่ง กรณีนี้ทำงานประจำอาจจะเหมาะกว่า ในทางกลับกัน ชาว gig หลายคนก็รับงานอิสระด้วยความจำเป็นเพราะต้องแบ่งเวลาไปดูแลครอบครัว ทำให้รับงานประจำที่ต้องเข้างานเป็นเวลาไม่ได้
โดยสรุปแล้ว จะรับงานแบบ gig หรือแบบไม่ gig ดีนั้น ให้ลองดูไลฟ์สไตล์ ความชอบ รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิตของเราว่าเหมาะกับงานแบบไหน ลองชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของงานแต่ละแบบดู เรื่องนี้ไม่มีผิดไม่มีถูก
ถ้ามีโอกาส ลองรับงานทั้งสองแบบดูเลยก็ดี เพราะสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น และร้อยตาเห็นก็ไม่เท่าได้ลองทำเอง
สำหรับใครที่ยังตัดสินใจให้ตัวเองไม่ได้ว่าจะเป็น gig หรือไม่เป็น gig ดี อีไอซีจะไม่ทิ้งคุณไว้ตรงกลางทาง ลองทำแบบทดสอบคร่าวๆ ดูว่าคุณเหมาะจะเป็น gig หรือเปล่า
รู้สึกว่าคำตอบยังไม่ใช่? ยังไม่แน่ใจ? … ไม่เป็นไร เรามีอีกสองแบบทดสอบให้ลอง
· https://www.fieldnation.com/technician-blog/freelance-quiz
· https://www.policybee.co.uk/freelancing/should-i-go-freelance.aspx
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา