ทำไมเศรษฐกิจอินเดียเติบโตช้าลง | BI Opinion

ปี 2019 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจอินเดียเติบโตช้าที่สุดในรอบ 6 ปี การลงทุนลดลงและอัตราการว่างงานสูงขึ้น อะไรคือสาเหตุเหล่านี้ และเศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตอย่างร้อนแรงได้อีกหรือไม่

ตั้งแต่เข้าสู่ยุคสหัสวรรษใหม่หลังปี 2000 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของอินเดียเติบโตขึ้นอย่างร้อนแรง ในช่วงระหว่างปี   2006 – 2016 ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้นส่งผลให้ประชากรกว่า 270 ล้านคนพ้นจากสภาพการเป็นคนยากจน ทำให้สัดส่วนประชากรผู้ยากจนลดจาก 55% ของประชากรทั้งหมดลดลงเหลือ 28% ถึงแม้ว่าจะยังเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงแต่ก็ลดลงไปเป็นอย่างมาก ประชากรที่เข้าถึงไฟฟ้าจาก 70% ในปี 2007 กระโดดมาเป็น 93% ในปี 2017 การขยายตัวของ GDP เติบโตได้ระดับมากกว่า 5% ได้อย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจของอินเดียเริ่มจะลดแรงส่งทำให้การขยายตัวของ GDP ไตรมาส 3 ของปี 2019 เศรษฐกิจขยายตัว 4.5% ต่ำหลุด 5% เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 

ถึงแม้ว่าตัวเลข 4.5% จะไม่ได้ดูแย่ ยังมากกว่าหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วที่เติบโตกันในระดับ 1% แต่นักเศรษฐศาสตร์มีมุมมองทางสถิติที่น่าสนใจ ในทุกๆ ปี จะมีประชากรราว 12 ล้านคนที่จะเข้ามาในตลาดแรงงาน เพื่อที่จะรองรับแรงงานเหล่านี้ได้ทั้งหมด เศรษฐกิจอินเดียจะต้องเติบโตได้ในระดับ 9% ต่อปี ดังนั้นแล้ว ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ที่ 4.5% ถึงแม้จะสูงในระดับโลก แต่เป็นตัวเลขที่ต่ำไปสำหรับอินเดีย

ภาพจาก Shutterstock

มาดูกันว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดีชะลอความร้อนแรงลง

รัฐบาลอินเดียมองว่าที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงมาจากความวุ่นวายของตลาดการเงินระดับโลกที่มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายลดต่ำลง แต่ดูเหมือนว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นปัจจัยรองๆ มากกว่า ปัจจัยที่แท้จริงที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลงมาจากปัญหาของธนาคารเงาหรือ Shadow Banking 

ในช่วงปี 2000 ต้นๆ ที่ผ่านมา เศรษฐกิจอินเดียเติบโตอย่างสูง การค้าการลงทุนขยายตัวเป็นอย่างมาก ธนาคารส่วนใหญ่ที่เป็นของรัฐมีการปล่อยกู้กันในระดับสูงโดยเฉพาะสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก บางบริษัทที่กู้เงินไปไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ เมื่อธนาคารไม่ได้รับเงินคืนจากที่ปล่อยกู้ไป ก็ไม่สามารถที่จะปล่อยกู้ใหม่ได้ การที่จะให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ ธนาคารเงาจึงได้เริ่มเข้ามามีบทบาท สถาบันการเงินลักษณะนี้ดำเนินธุรกิจคล้ายๆ กับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจในกติกาเดียวกันและปล่อยกู้ไปถึง 1 ใน 3 ของเงินกู้ใหม่ในระบบทั่วประเทศโดยปล่อยกู้ไปที่ธุรกิจขนาดเล็กและผู้บริโภคผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ได้เป็นหลัก

ในปี 2018 ธนาคารเงาขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า Infrastructure Leasing & Financial Services ไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ได้ การล้มลงของธนาคารเงาแห่งนี้ส่งผลแรงกระเพื่อมไปสู่เศรษฐกิจอินเดียและกลุ่มธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มธนาคารเงา ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอินเดียพอสมควรเพราะทำให้การซื้อสินค้า Big Ticket (สินค้าที่มีราคาต่อชิ้นสูง) อย่างรถยนต์เป็นเรื่องที่ยากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ที่จัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียที่มีการจ้างงานสูงถึง 35 ล้านคนและมีสัดส่วนต่อ GDP สูงถึง 7% ชะลอตัวลงไป ยอดขายเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 19 ปี

ภาพจาก Shutterstock

ตัวเลขการว่างงานก็ดูไม่ค่อยดี จากตัวเลขการว่างงานที่ต่ำกว่าระดับ 4% ในช่วงกลางปี 2017 ล่าสุด ตัวเลขพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.7% ในเดือนธันวาคม 2019 ตัวเลขการว่างงานถือเป็นอะไรที่น่ากลัวมากสำหรับเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ของเศรษฐกิจในทุกประเทศ เมื่อการว่างงานมากขึ้นส่งผลให้การบริโภคลดลง เมื่อบริโภคลดลงก็ส่งผลให้การผลิตและการลงทุนลดลง การเลิกจ้างมากขึ้น ส่งผลกระทบมาที่อัตราการว่างงานอีกครั้งที่จะขยายตัวขึ้นมาอีก ยิ่งวงจรนี้หมุนหลายรอบมากเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็จะยิ่งชะลอตัวลงมากเท่านั้น

ธนาคารกลางอินเดียพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน โดยมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในปี 2019 ที่ลดดอกเบี้ยไปแล้วถึง 5 ครั้ง ส่งผลให้ประชาชนมีอัตราการออมที่ลดลงจาก 23.6% ต่อ GDP ในปี 2012 มาเป็น 17.2% ในปี 2018 และทำให้หนี้สินภาคครัวเรือนของอินเดียเพิ่มจากระดับต่ำกว่า 8% ต่อ GDP มาที่ 10.9% ในระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งก็ยังถือว่าต่ำมาก ยังมีพื้นที่ให้ขยายได้อีกพอสมควร

อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติอินเดีย รากุราม ราจัน มีมุมมองต่อเศรษฐกิจอินเดียที่ชะลอตัวลงมาจากการที่รัฐบาลอินเดียขาดการปฏิรูปในเรื่องต่างๆ อย่างมีนัยยะสำคัญนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 อินเดียจะต้องมีการปฏิรูปทั้งในแง่กฎหมายและภาษีในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาในอินเดีย หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะต้องรีบปฏิรูป คือกำแพงภาษีสินค้านำเข้า เมื่อเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อินเดียถือเป็นประเทศที่มีค่าเฉลี่ยของภาษีนำเข้าสูงเป็นอันดับต้นๆ ที่ 17% สูงกว่าจีนที่ระดับต่ำกว่า 10% ค่อนข้างมากในการที่จะทำให้เศรษฐกิจอินเดียกลับมาขยายตัวได้สูงขึ้นอีกครั้ง การปฏิรูปกฎหมายและภาษีเป็นเรื่องที่สำคัญมาก 

ภาพจาก Shutterstock

ด้านวิสัยทัศน์ระยะยาวก็มีความสำคัญเช่นกัน การลงทุนระยะยาว การพัฒนาขีดความสามารถของตลาดแรงงาน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศน่าจะเป็นคำตอบของประเทศอินเดีย ที่ผ่านมาในปี 2019 รัฐบาลอินเดียได้มีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ปฏิรูปภาคการเงิน และการลดดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้ง เชื่อว่านโยบายเหล่านี้น่าจะออกดอกออกผลในปี 2020 และจะทำให้ตัวเลข GDP ของอินเดียกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกครั้ง ภาพการลงทุนคงต้องดูเป็นรายอุตสาหกรรมไป โดยยังมองว่ากลุ่มธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ สื่อสาร และเทคโนโลยีคือกลุ่มหลักที่น่าลงทุน

มาถึงตรงนี้ ไม่สำคัญแล้วว่าที่ผ่านมาอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียชะลอตัวลง แต่การเติบโตของเศรษฐกิจต้องกลับมาและที่สำคัญต้องกลับมาอย่างรวดเร็วสำหรับประเทศที่จะมีประชากรมากที่สุดในโลกในปี 2027

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา