สรุป 5 ประเด็น เหตุผลที่หุ้นไทยตกหนัก ในสายตาดร.นิเวศน์ เหมวชิรากร

ทำไมหุ้นไทยตกหนัก เรื่องนี้สะท้อนอะไร เศรษฐกิจไทยยังไหวหรือไม่

Brand Inside สรุปประเด็นนี้ให้อ่านจากบทความของผู้เชี่ยวชาญในวงการลงทุนอย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรากร นักลงทุนหุ้น

ดร.นิเวศน์ บอกว่า การที่ราคาหุ้นไทยตกหนัก จนรู้สึก “ท้อแท้” และ “สิ้นหวัง” จนถึงจุดที่เรียกได้ว่าตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่ร่วงหนักมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ซึ่งหลังจากปีที่แล้ว ไทยเองก็มีดัชนีตลาดที่ “แย่ที่สุดในโลก” 

คำถามคือ ทำไมหุ้นไทยนั้นตกต่ำลง ทั้งๆ ที่ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างทั่วหน้า นี่คือ 5 เหตุผลที่ดร.นิเวศน์ เขียนอธิบายไว้

  • ต่างชาติขายหุ้นไทยแสนล้านบาท

ดร.นิเวศน์ มองว่า เหตุผลที่หุ้นไทยตก เพราะนักลงทุนต่างชาติ “ขายสุทธิ” หุ้นในตลาดค่อนข้างมาก และเป็นการขายต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันนี้ สูงถึงเกือบแสนล้านบาท ในเวลาไม่ถึง 6 เดือน ซึ่งก็เป็นการขายสุทธิที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่ต่างชาติขายเฉลี่ยปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท รวมแล้วขายมาแล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท

แต่การขายสุทธิโดยตัวของมันเองก็ไม่ได้แปลว่าหุ้นจะต้องลงเสมอไป ตัวอย่างเช่นหุ้นในเอเชียส่วนใหญ่ ในช่วงนี้ต่างก็ถูกขายสุทธิเช่นเดียวกัน แต่ตลาดหุ้นก็ไม่ได้ลง เช่น 

ตลาดหุ้นเวียตนามในช่วงนี้ก็ถูกขายสุทธิจากต่างชาติหนักมาก แต่ดัชนีหุ้นยังปรับตัวขึ้นถึงประมาณ 13% นับจากต้นปี หรืออย่างดัชนีฮั่งเส็งของตลาดฮ่องกงเองก็ปรับตัวขึ้นประมาณ 6% ทั้ ๆ ที่มีปัญหาตกลงมาหนักถึงประมาณ 10% ในช่วงต้นปี

  • นักลงทุนระยะสั้นพอมีโอกาสทำกำไร แต่โอกาสขาดทุนก็สูง

แบ่งออกเป็นนักลงทุนระยะสั้น และ นักลงทุนระยะยาว 

สำหรับนักลงทุนระยะสั้น หรือ “นักเทรด” สามารถทำกำไรในตลาดหุ้นได้แม้ในยามหุ้นตก ก็คือว่า ช่วงระยะเวลาที่หุ้นตก จะมีช่วงเวลาที่หุ้นจะเด้งหรือดีดตัวขึ้น พวกเขาก็สามารถช้อนซื้อหุ้นในช่วงหุ้นตกและขายในช่วงที่หุ้นขึ้นทำกำไรได้ 

แต่ในช่วงนี้หุ้นปรับตัวขึ้นมีระยะเวลาสั้นมาก บางทีแค่ 2-3 ชั่วโมงในตอนเช้า โอกาสที่จะทำกำไรน้อย แต่โอกาสขาดทุนสูง ทำให้หมดกำลังใจที่จะเล่น

ส่วนนักลงทุนระยะยาว “แนว VI” นักลงทุนแห่เข้าไปลงทุนกับบริษัทที่มีผลประกอบการดี ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเหนือดัชนีมาก ทำกำไรให้กับนักลงทุนรายใหญ่ ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่เข้าไปร่วม “เก็งกำไร” ก็สามารถทำกำไรได้ “ทุกวัน”

  • ผลประกอบการหลายบริษัทติดลบ

สำหรับหลายๆ บริษัทที่ประกาศ ตัวเลขผลประกอบการออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปีนั้น เรียกได้ว่าแทบจะเป็น “หายนะ” กันเลยทีเดียว เพราะบางบริษัทก็มีปัญหาหนี้สินหุ้นกู้ ก็อาจจะไม่สามารถชำระหุ้นกู้ได้ ดังนั้นหุ้นจึงร่วงลงมา 

นอกจากนี้ บริษัทที่เคยถูกมองถึงว่าจะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ผลประกอบการออกมา ไม่ได้ “แย่” แต่ “น่าผิดหวัง” เพราะการเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่ก็ทยอยลดลง 

สอดคล้องกัน หุ้นมีอาการ “คอร์เนอร์แตก” มาก่อนแล้ว และดังนั้น การที่บริษัทก็ยังมีกำไรที่ดีอยู่ เพียงแต่โตช้าลงหรือไม่โต จึงไม่สามารถที่จะหยุดการตกลงมาของหุ้นได้

  • ลบล้างทฤษฎี ผลกระกอบการดี หุ้นโตเร็ว

หุ้นใหญ่บางตัว คือ เป้าหมายการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งตัวเลขผลประกอบการของบริษัทที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นตัวเลือกให้กับนักลงทุนที่อยากลงทุน แต่ข้อเท็จพบว่า “ราคาหุ้นกลับตกลงอย่างแรง” 

สวนทางกับคำว่า ผลประกอบการของบริษัทเป็น “พ่อทุกสถาบัน” ซึ่งในวงการหุ้นนั้นหมายความว่า ถ้าบริษัทไหนผลประกอบการดี หุ้นจะต้องวิ่งตามอย่างแรง แต่ทฤษฎีนี้กลับถูกทำลายอย่าสิ้นเชิง

และถ้าผลประกอบการไม่สามารถที่จะทำให้หุ้นขึ้นได้ หุ้นจะไปได้อย่างไร? 

เราจะรออะไรได้อีก! และทั้งหมดก็คือ ความท้อแท้-สิ้นหวัง ในตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ ซึ่งก็แสดงออกผ่านปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันที่ลดลงมาเรื่อยๆ และผมเชื่อว่าลดลงในทุกกลุ่มตั้งแต่นักเล่นหุ้นรายวันไปจนถึงรายใหญ่และเหล่า VI แม้แต่คนที่ถือยาวแบบไม่คิดจะขาย

  • ปัญหาที่แท้จริงของตลาดหุ้นไทย

ดร.นิเวศน์ มองว่า ปัญหาของตลาดหุ้นไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไขยาก แบ่งออกเป็น 3 โครงสร้าง คือ 

โครงสร้างแรก คือ ประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่จำนวนคนเกิดใหม่น้อยลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่า ส่งผลต่อ GDP ลดลง และจะลดลงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับคนวัยทำงานที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีต่ำ 

โครงสร้างที่สอง คือ ระบบการปกครองประเทศที่ค่อนข้างล้าสมัยและก็ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วพอ กล่าวคือ ระบบการปกครองของเราไม่สามารถให้เสรีภาพแก่ประชาชนได้ และรัฐบาลก็ไม่สามารถมีเสถียรภาพมากพอที่จะปฏิบัติตามเจตจำนงนั้น 

โครงสร้างที่สาม คือ โครงสร้างของบริษัทซึ่งเป็นผู้เล่นหลักในระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะสร้างการเติบโตใหม่ๆ ให้ทันคู่แข่ง จึงถูกคู่แข่งประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนแซงหน้า 

สรุป  ปัญหาเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการปกครอง หงุดชะงักลงเมื่อประมาณ ประมาณ 10-15 ปีมาแล้ว การรัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้วแทบจะทำให้การพัฒนาหรือปรับปรุงโครงสร้างโดยเฉพาะทางการเมืองสะดุดหยุดลงอย่างสิ้นเชิง  และแม้ว่ามุมมองทางเศรษฐกิจในระยะยาวจะไม่ดีเลย แต่ราคาหุ้นของไทยก็ยังไม่ถูกพอแบบในตลาดหุ้นจีน ดังนั้น เหตุผลของการซื้อหุ้นไทยจึงน่าจะมีน้อยมาก โดยเฉพาะในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศที่มีโอกาสเลือก และนั่นก็คือเหตุผลที่พวกเขาขายหุ้นไทยมาตลอด และก็คงจะยังขายต่อไป

ที่มา – บทความ “ท้อแท้-สิ้นหวัง” โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เขียนไว้ใน สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา