รถไฟฟ้าของไทยตอบโจทย์คนเมืองที่ต้องการหนีรถติดได้อย่างดี แต่ค่าโดยสารก็แพงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่ทันใจ
ทำไมต่างประเทศไม่ว่าจะจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ค่ารถไฟฟ้าเมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วถูกกว่าไทย แล้วเมื่อไรรถไฟฟ้าของไทยค่าตั๋วจะถูกลงให้ทุกคนเข้าถึงได้จริง
ค่าโดยสารรถอะไรก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐฯ
สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกว่า การกำหนดราคาค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะ ส่วนใหญ่มาจากนโยบายของภาครัฐ และต้นทุนของระบบขนส่งมวลชนนั้นๆ เช่น รถไฟฟ้าอย่าง BTS เกิดจากเอกชนได้สัมปทานและลงทุนตั้งแต่แรก เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ค่าโดยสารต้องแพงตามต้นทุนที่เอกชนลงเงินทุนไป โดยสัญญาสัมปทานส่วนใหญ่จะยาว 25-30 ปี
โครงการรถไฟฟ้าไม่ได้มีรายได้จากตัวระบบเดินรถ และพื้นที่บนสถานีเท่านั้น แต่รวมถึงโครงการพัฒนาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า ทำให้ระยะแรกตั้งแต่เริ่มโครงการและเปิดบริการในช่วงปีที่ 1-9 ยังขาดทุนอยู่ เพราะจำนวนผู้โดยสารยังไม่มากพอ แต่ปีที่ 10-20 บริษัทที่ให้บริการเดินรถจะเริ่มมีกำไร เพราะคนใช้บริการมากขึ้น แต่ถ้าดูจากอัตราการเติบโตจำนวนผู้โดยสารจะเติบโตที่ 2-3% ไม่มากเหมือนช่วงแรกๆ ในขณะที่ปี 10 ปีสุดท้ายของสัญญาสัมปทาน บริษัทที่ลงทุนและให้บริการเดินรถจะได้กำไร และถึงจุดอิ่มตัวจนจำนวนผู้โดยสารไม่เพิ่มขึ้นมากนัก
“ตอนนี้รถไฟฟ้า BTS ผ่านเข้าปีที่ 20 ของสัมปทาน เป็นช่วงที่มีกำไรแล้ว ส่วนรถไฟฟ้า MRT เพิ่งผ่านช่วง 10 ปีแรกไปไม่นาน”
อีก 5 ปีหลังจากนี้รถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑลจะเพิ่มขึ้น แนวโน้มคือคนจะหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น ในต่างประเทศเมื่อสถานีรถไฟฟ้า และสายรถไฟฟ้าที่ให้บริการมากขึ้นก็ทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้ แต่ในส่วนของไทยขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐในอนาคต ว่าหลังจากรถไฟฟ้าสายต่างๆ หมดสัญญาสัมปทานลง ค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะปรับลดหรือปรับเพิ่มขึ้น
สรุป
เมื่อรัฐมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้ประเทศ เลยกลายเป็นต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชน ส่วนค่าโดยสาร BTS จะแพงขึ้นหรือถูกลง รัฐก็ต้องหาวิธีการให้เกิดผลดีที่สุดกับประชาชนไม่ใช่ภาคเอกชน
ที่มา TDRI, BTS Group, The momentum
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา