สำหรับใครที่คิดว่า นี่มันปี 2025 แล้ว สังคมต้องเปิดกว้างและพัฒนาขึ้นแน่ๆ แต่ความจริงคือ โลกเราอาจกำลังวิวัฒนาการย้อนกลับอย่างไม่รู้ตัว
เริ่มต้นปีใหม่ได้ไม่นาน บริษัทชั้นนำหลายๆ เจ้า ก็ประกาศปรับนโยบาย ‘DEI’ (Diversity, Equity and Inclusion) หรือ ‘ความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม’
DEI คืออะไร?
ก่อนจะไปพูดถึงประเด็นร้อนที่ว่า เรามาทำความรู้จักกับ DEI แบบละเอียดๆ กันก่อนดีกว่า โดย
- Diversity คือการเปิดรับความหลากหลาย ทั้งในแง่ของเชื้อชาติ อายุ เพศ ศาสนา ลักษณะทางกายภาพ หรืออะไรก็ตามที่สะท้อนถึงตัวตนของคนๆ หนึ่ง
- Equity คือการปฏิบัติตัวต่อคนอื่นอย่างเท่าเทียม ยุติธรรม พร้อมให้โอกาสทุกคนอย่างไม่ลำเอียง
- Inclusion คือการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและซัพพอร์ตทุกคนในบริษัทให้กล้ามีส่วนร่วมในการเสนอมุมมองหรือความคิดของตนเอง
จุดเริ่มต้นของนโยบาย DEI ในบริษัทต่างๆ ก็มาจากปัญหาที่ในอดีต ‘ชนกลุ่มน้อย’ ไม่ได้รับโอกาสในการทำงานเท่ากับคนอื่นๆ หรือต่อให้เข้าร่วมองค์กรมา พวกเขาก็ไม่มีพื้นที่ให้โชว์ตัวตนและศักยภาพอย่างเต็มที่
ดังนั้น นโยบาย DEI จึงมีส่วนช่วยให้พนักงานสามารถเป็นตัวของตนเอง และทำงานได้เต็มประสิทธิภาพท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร
แล้วทำไมบริษัทใหญ่ระดับโลกเริ่มหันหลังให้ DEI?
เท่าที่อ่านมา DEI ก็เหมือนจะดูดี แต่ทำไมบริษัทชั้นนำถึงพากันปรับนโยบายกัน?
การปรับนโยบายรอบนี้ไม่ได้ทำให้ออฟฟิศมีความหลากหลายเฉพาะกลุ่มมากขึ้น แต่เป็นการผ่อนปรนมาตรการ เนื่องจาก CEO บางคนมองว่า มันจะทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานเป็นมิตรกับทุกๆ คนมากกว่าเดิม
ตัวอย่างเช่น ‘Elon Musk’ เจ้าของ SpaceX, Tesla และธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย เผยว่า DEI ก็เป็นแค่คำเรียกหนึ่งของ ‘การเหยียดเชื้อชาติ’ เท่านั้น โดยถ้าจะหยุดการแบ่งแยกในออฟฟิศจริงๆ บริษัทควรกำจัดนโยบายนี้ออกไปซะ
ขณะเดียวกัน บางบริษัทปรับนโยบาย DEI เพราะว่าสภาพสังคมในสหรัฐฯ เปลี่ยนไปแล้ว และฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ชอบพูดว่าแคมเปญเหล่านี้ ‘Woke’ เกินไป จนหลายๆ บริษัทต้องยอมลดความหัวสมัยใหม่ตาม
แต่การกำจัดมาตรการที่ถูกสร้างมาเพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ทุกคน จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานและซื้อใจผู้บริโภคได้จริงหรือ?
Amazon เตรียมบอกลาระบบ DEI ที่ล้าหลัง
เริ่มเลยที่บริษัทแรกอย่าง ‘Amazon’ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำระดับโลก ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อเดือนธันวาคม 2024 ว่ากำลังจะโละโปรแกรมและระบบที่ล้าหลัง รวมถึงนโยบาย DEI บางส่วนทิ้ง
‘รองประธานด้านการมีส่วนร่วมในประสบการณ์และเทคโนโลยี’ ของ Amazon อธิบายว่า แทนที่บริษัทจะมีหลายๆ โปรแกรมแยกตามคนเฉพาะกลุ่ม ทางองค์กรจะเปลี่ยนมาโฟกัสแค่โครงการที่เห็นผลจริงๆ และเน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น
หลังจากนั้นไม่นาน Amazon ก็ปรับหน้าเว็บไซต์ตนเองให้สอดคล้องกับแนวทางใหม่ โดยเมื่อก่อน บนแพลตฟอร์มจะแยกให้เห็นชัดๆ เลยว่าบริษัทให้คุณค่าเรื่องไหนบ้าง เช่น
- ความเสมอภาคของคนผิวดำ
- DEI
- สิทธิ์ของ LGBTQ+
แต่ตอนนี้ ส่วนแยกย่อยนั้นถูกยุบออกมาให้เหลือแค่ย่อหน้าเดียวที่สามารถสรุปได้ว่า Amazon เชื่อในการสร้างความหลากหลายและการมีส่วนร่วมในบริษัท ซึ่งการเลือกปฏิบัติถือเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
Meta มองว่า DEI ทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพิเศษกว่าคนอื่น
ฝั่ง ‘Meta’ เหมือนจะเด็ดขาดกับนโยบาย DEI มากกว่า เนื่องจากบริษัทตั้งใจจะกำจัดโปรแกรมที่เกี่ยวข้องทิ้งไปหมดเลย
Meta เล็งเห็นว่า ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามองความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แถมเชื่อว่านโยบาย DEI คือแนวคิดที่ให้สิทธิพิเศษกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ
ดังนั้น บริษัทจึงหันมาโฟกัสแค่ประเด็น ‘การเข้าถึงและการมีส่วนร่วม’ และจะไม่พยายามเพิ่มความหลากหลายในบริษัทด้วยการเฟ้นหาพนักงานที่เป็นชนกลุ่มน้อยอีกต่อไป
‘รองประธานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์’ ของ Meta เล่าว่า บริษัทของเราเต็มไปด้วยบุคลากรมากความสามารถที่ผ่านการคัดเลือกจากทักษะล้วนๆ ไม่ได้อิงจากเพศ ชนชาติ หรือลักษณะภายนอกใดๆ ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม บางคนสงสัยว่าที่ Meta กำจัดนโยบาย DEI ออก เป็นเพราะ ‘Donald Trump’ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่หรือเปล่า ซึ่งเอาจริงๆ ก็ไม่แปลก เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การตัดสินใจของ ‘Mark Zuckerberg’ จะบังเอิญสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ Trump
ไม่ใช่แค่ Amazon กับ Meta ที่ปรับนโยบาย DEI
นอกจาก Amazon และ Meta แล้ว ยังมีบริษัทระดับโลกอีกมากมายที่เตรียมบอกลาหรือผ่อนปรนนโยบาย DEI เหมือนกัน เช่น
- ‘Microsoft’ ปลดพนักงานจากทีม DEI ออกไปสองคน หลังจากมีข่าวลือว่าบริษัทจะยุบทั้งทีมทิ้ง
- ‘Google’ ปลดพนักงานจากทีม DEI ออกไปบางส่วน และเน้นโฟกัสไปที่ความสามารถของผู้สมัครงาน มากกว่าความหลากหลายในออฟฟิศ
- ‘McDonald’s’ จากที่เคยตั้งเป้าหมายในการเสริมสร้างความหลากหลาย ก็เปลี่ยนเป็นเน้นการมีส่วนร่วมในทุกๆ กระบวนการการทำงานแทน
- ‘Publicis Groupe’ ปลดทีม DEI ออกทั้งยวง รวมถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความหลากหลายของบริษัทด้วย
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าบริษัทไม่เห็นค่าของ DEI อีกต่อไป?
ไม่แน่ใจว่าการตัดสินใจครั้งนี้ จะกลายเป็นอุปทานหมู่ในดง CEO เหมือนตอนที่หลายๆ บริษัทพากันเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศหรือเปล่า เพราะงานวิจัยหลายชิ้นเคยชี้ให้เห็นแล้วว่า DEI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานจริงๆ
โดยในปี 2020 ‘McKinsey’ บริษัทให้คำปรึกษาระดับโลก พบว่าบริษัทที่มีผู้นำจากหลากหลายแบคกราวน์ทางชนชาติและวัฒนธรรม สามารถทำกำไรได้มากกว่าบริษัทที่ไม่เห็นค่าเรื่องนี้ถึง 36%
ถ้ายังนึกไม่ออก ลองคิดดูว่า องค์กรที่มีแต่คนหน้าเหมือนๆ กัน ภูมิหลังเดียวกัน และมีความคิดคล้ายๆ กัน จะไปมองภาพรวมหรือปัญหาครบทุกซอกทุกมุมได้ยังไง
กรณีที่เคยเกิดขึ้นก็อย่างเช่น Google ที่ช่วงหนึ่ง AI ของบริษัทมักพูดคุยกับผู้ใช้งานด้วยถ้อยคำที่เหยียดชนชาติ จนเกิดเป็นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้บริษัทอับอายและต้องเสียเงินมากกว่าเดิมเพื่อแก้ปัญหา
ณ ตอนนั้น คนก็ตั้งคำถามกันว่า ถ้าทีมงานของ Google มีความหลากหลายมากกว่านี้ ปัญหาคงจะไม่เกิดขึ้นหรือเปล่า?
ท้ายสุด เทรนด์การปรับนโยบาย DEI ของบริษัทชั้นนำจะได้ผลจริงไหมก็ไม่รู้ แต่ไม่ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนไปใช้ระบบอะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจนั้นๆ จะส่งผลกระทบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน หรือสุดท้าย พวกเรากำลังวิวัฒนาการย้อนกลับ เหมือนที่หลายๆ คนคิดไว้จริงๆ
ที่มา: DIGIDAY, CNN, COMPUTERWORLD, CNBC (1) (2) (3), Fast Company, CNN
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา