ตั้งแต่เงินเดือน เงินเก็บ ครอบครัว ความสำเร็จในชีวิต ล้วนพุ่งเป้ามาที่คนอายุ 30 ทั้งนั้น ก่อนหน้านี้ก็ใช้ชีวิตได้ปกติดี แต่พอก้าวข้ามเลข 2 ไปแล้วอยู่ดี ๆ ก็มีความคาดหวังว่าจะต้องประสบความสำเร็จแบบนั้นแบบนี้ ราวกับชีวิตจะจบสิ้นไปในไม่กี่ปีข้างหน้า ทั้งที่อายุเลข 3 นั้น เพิ่งจะอยู่ในวัยที่เริ่มต้นการทำงานมาได้ไม่ถึง 10 ปีด้วยซ้ำ กรอบที่ต้องประสบความสำเร็จในวัย 30 นั้น มาจากไหนกัน?
Albert-Laszlo Barabasi และ Roberta Sinatra นักฟิสิกส์ ผู้เป็นหัวหน้าทีมวิจัยจาก Northeastern University ในหัวข้อ ‘Quantifying the evolution of individual scientific impact’ เพื่อค้นหาว่าอะไรที่เป็นปัจจัยให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ ที่ได้ตีพิมพ์งานวิจัยอย่างน้อย 1 ชิ้นในทุก ๆ 5 ปี ประสบความสำเร็จ และแน่นอนว่า อายุไม่ได้เป็นหนึ่งในปัจจัยนั้นเลย
หากจะบอกว่าอายุช่วงนี้เป็นช่วงชีวิตอันรุ่งโรจน์ ที่ต้องรีบประสบความสำเร็จ ในทางวิทยาศาสตร์ก็ดูจะไม่เกี่ยวเท่าไหร่นัก งั้นลองมาดูในเชิงสังคมกันบ้างดีกว่า
American Dreams ชีวิตในอุดมคติ ทุกคนต้องทำงานหนัก เพื่อก้าวไปสู่หน้าที่การงานที่ดี สู่ชีวิตที่มั่งคั่ง กลายเป็นเพียงคติล้าหลังที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้รับเอามาเป็นแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตอย่างคนรุ่นก่อน ในทางกลับกัน การโปรดักทีฟอย่างสุดโต่ง ถูกต่อต้านด้วยแนวคิดใหม่ ๆ อย่าง Work Life Balance แค่ใช้ชีวิตให้มีความสุขก็เพียงพอแล้ว
กระแส Anti Productivity ก็เริ่มมีให้เห็นในช่วงหลัง ๆ นี้ คติ Productive แบบสุดโต่งก็ยังคอยชี้นำให้เราต้องทำงานหนักเข้าไว้ ก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา หากยังพอจำกันได้ 10 ปีที่แล้ว หนังสือขายดี มักเป็นหนังสือแนวพัฒนาตนเอง เช่น “เครื่องบอกทิศนำทางชีวิต” “บิดารวยสอนลูก” “ใช้ชีวิตให้ยิ่งใหญ่เหมือนผู้นำระดับโลก” “เก่งขึ้นได้ด้วย 10 วิธีง่ายๆ เปลี่ยนชีวิต” ชื่อบนปกแสนล่อตาล่อใจ ยิ่งชวนให้สงสัยว่าการพลิกหน้ากระดาษ 100-200 แผ่นนั้น จะทำให้คนธรรมดาอย่างเราเปลี่ยนไปได้อย่างคำเชื้อเชิญบนปกบอกไว้จริงหรือไม่
หนังสือแนวพัฒนาตนเอง ก็ยังไม่ได้จางหายไปจากชั้นหนังสือขายดี แต่มุมมองต่อการพัฒนาตนเองนั้น ไม่ได้เหมือนกับในสิบปีที่แล้วอีกต่อไปแล้ว หากกวาดสายตาไล่เรียงบนชั้นหนังสือหมวดพัฒนาตนเองในตอนนี้ อาจจะต้องกลั้นขำให้กับชื่อหนังสือปั่นประสาท เช่น “ศาสตร์แห่งการช่างแม่ง” “วิธีรับมือคนเฮงซวย” “คิดมากไปทำไมเดี๋ยวก็ตายกันหมดแล้ว” เป็นต้น
กลายเป็นว่า ในเจเนอเรชั่นที่ต่างกันทำให้มุมมองต่อการใช้ชีวิต ต่อความสำเร็จในชีวิตแตกต่างกันไปด้วย ค่านิยมในการอ่านเลยผันเปลี่ยนไปตามเวลา และมันไม่ได้หยุดอยู่แค่มุมมองต่อการอ่านหนังสือเท่านั้น ดูเหมือนว่าคติการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไปด้วย
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก The American Community Surveys (ACS) ในช่วงปี 1960 ชาวอเมริกันมักจะแต่งงานกันในช่วงอายุ 20-22 ขยับมาในปี 1990 ผู้หญิงมักจะแต่งงานตอนอายุ 23 ส่วนผู้ชายแต่งงานตอนอายุ 26 และล่าสุด ขยับมาเป็น 27-29 ปีแทนแล้ว จะเห็นได้ว่า ช่วงอายุที่ผู้คนตัดสินใจแต่งงานห่างออกไปเรื่อย ๆ สิ่งนี้สะท้อนถึงไอเดียของการสร้างครอบครัวก่อนวัย 30 เริ่มจะไม่ฟังก์ชั่นอีกต่อไปแล้ว
แปลกไหมที่จะสงสัยว่าตัวเองดีพอหรือยังในวัยนี้?
แม้กระแสการเปลี่ยนแปลงของชีวิตในอุดมคติได้เปลี่ยนไปแล้ว อนุญาตให้เราได้ผ่อนคลายมากขึ้น โฟกัสกับความสุขเล็กน้อยในแต่ละวัน แทนที่การขับเคลื่อนชีวิตด้วยการทำงานหนักเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อเลข 3 มาเยือนทีไร เราก็อดตั้งข้อสงสัยในตัวเองไม่ได้ ว่าตอนนี้เราทำได้ดีพอหรือยัง?
ไม่แปลกเลยที่เราจะรู้สึกแบบนี้ ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านระหว่างวัยรุ่นตอนปลายและผู้ใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้ว ก็เพิ่งเคย 30 ครั้งแรกนี่นะ งานวิจัยในหัวข้อ ‘Is job satisfaction U-shaped in age?’ ที่ตีพิมพ์บน The British Psychological Society ได้ถามถึงความพึงพอใจในหน้าที่การงานของเหล่าพนักงานในสหราชอาณาจักร พบว่า ในช่วงอายุ 30-40 พวกเขารู้สึกพึงพอใจน้อยที่สุด จนกราฟนั้นเป็นตัว U แบบหัวข้องานวิจัยว่าไว้ไม่มีผิด
ลองนึกภาพตามดูว่า ในช่วงแรกที่เราทำงาน เราช่างเปี่ยมไปด้วยแพสชั่น แต่มันกลับค่อย ๆ ลดลง กราฟตกลงมามากสุดในช่วงอายุ 30-40 แต่หลังจากนั้น มันจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
จากงานวิจัย ได้อธิบายถึงปรากฎการณ์นี้ไว้ว่า ในช่วง 30 นั้น เรามีความต้องการที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากขึ้นกว่าเคย แต่หลังจากนั้น ยิ่งเราอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 50 เราจะโฟกัสกับการเอาใจใส่ครอบครัวมากขึ้น ความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน จนกราฟกลายเป็นตัว U นั่นเอง
หากใครกำลังรู้สึกแบบนั้น อยากให้ทำความเข้าใจว่า การสงสัยในตัวเองไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร อาการ Midlife Crisis ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันคอยโจมตีเหล่าเลข 3 หน้าใหม่มานานแล้ว หากยังไม่ประสบความสำเร็จก็ไม่เป็นอะไรเช่นกัน ชีวิตเราไม่ได้จบลงในไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบตัวเองกับชีวิตของคนอื่นเสมอก็ได้
อนุญาตให้ตัวเองมีความสุข ในเวลาพักผ่อน นอกเวลางาน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนี่นะ
อ้างอิง
https://bpspsychub.onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/j.2044-8325.1996.tb00600.x
https://www.nytimes.com/2016/11/04/science/stem-careers-success-achievement.html
https://www.science.org/doi/10.1126/science.aaf5239
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา