ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวการระดมทุน Series B ของ LINE MAN Wongnai ที่ได้ GIC กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของสิงคโปร์เป็นนักลงทุนรายใหญ่ (lead investor)
ข่าวนี้อาจทำให้ GIC ถูกพูดถึงในสื่อบ้านเรามากขึ้น สำหรับนักลงทุนอาจจะคุ้นเคยกับกองทุนของสิงคโปร์แห่งนี้ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้อ่านหลายท่านอาจจะไม่คุ้นเคย Brand Inside จะพาไปทำความรู้จักกับ GIC ให้มากขึ้น
Disclaimer LINE MAN Wongnai เป็นบริษัทแม่ของ Brand Inside
Sovereign Wealth Fund (SWF) หรือกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ จัดเป็นกองทุนสถาบันที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ โดยรัฐบาลจะนำทุนสำรองหรือรายได้ของประเทศบางส่วนมาฝากไว้กับกองทุน เพื่อนำไปลงทุนและหาผลตอบแทนกลับสู่ประเทศ
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่อาจเคยผ่านหูผ่านตาหลายๆ คนก็อาจจะมี Norges Bank Investment Management (NBIM) ของนอร์เวย์, Public Investment Fund (PIF) ของซาอุดิอาระเบีย หรือ Temasek ของสิงคโปร์ (รัฐบาลสิงคโปร์มี SWF 2 กองคือ GIC และ Temasek ซึ่งนโยบายการลงทุนอาจแตกต่างกัน)
สำหรับ GIC หรือ Government of Singapore Investment Corporation ตั้งขึ้นเมื่อปี 1941 โดยมีเป้าหมายคือสร้างผลตอบแทนในระยะยาว (ประมาณ 20 ปี) เหนืออัตราเงินเฟ้อทั่วโลก ส่วนแหล่งเงินทุนปัจจุบันนอกจากกองทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็มีเงินจากพันธบัตรของรัฐบาล, รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล หรืออาจเป็นงบส่วนเกินบางส่วนจากรัฐบาลสิงคโปร์ โดยรัฐบาลสิงคโปร์สามารถนำเงิน 50% ของกำไรที่ GIC ทำได้ ไปใช้เป็นงบประมาณแผ่นดิน
นโยบายการลงทุนของ GIC จะเน้นไปที่การลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นหลัก โดยสินทรัพย์ของ GIC ปัจจุบันที่ลงทุนจะแบ่งเป็น พันธบัตรทั่วไปและเงินสด(37%) หุ้นบริษัทเอกชน (17%) หุ้นในตลาดเกิดใหม่ (16%) หุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว (14%) อสังหาริมทรัพย์ (10%) และพันธบัตรที่มีผลตอบแทนอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ (6%)
ขณะที่ภูมิภาคที่ GIC ลงทุนมากที่สุดคือสหรัฐที่สัดส่วน 37% ตามมาด้วยเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 25% ยุโรป (ยูโรโซน) 8% ญี่ปุ่น 7% ตะวันออกกลาง,แอฟริกาและยุโรปโซนอื่น 5% และสหราชอาณาจักรและละตินอเมริกาเท่ากันที่ภูมิภาคละ 4%
ปัจจุบันแม้ GIC จะไม่ได้เปิดเผยสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) แต่ Global SWF และ SWFI บริษัทที่ปรึกษาและวิจัย SWF ทั่วโลกระบุว่า สินทรัพย์ภายใต้ GIC ปัจจุบันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 (การจัดอันดับของ Global SWF) และอันดับ 5 (SWFI) ของโลก มีมูลค่าอยู่ที่ราว 6.9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่า GDP ของไทยปี 2021 ที่อยู่ราวๆ 1.6 ล้านล้านบาท
ส่วนผลประกอบการล่าสุดของ GIC เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2022 ผลตอบแทน 20 ปีที่ผ่านมาของ GIC อยู่ที่ 4.2% (ต่ำกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 4.3%) เมื่อปรับอัตราเงินเฟ้อ (เงินลงทุน 100 เหรียญเมื่อปี 2003 จะกลายเป็น 228 เหรียญในปัจจุบัน รวมการปรับอัตราเงินเฟ้อ)
ขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทย อ้างอิงจาก StockRadars มูลค่าพอร์ตของ GIC ปัจจุบัน (ณ วันที่ 30 กันยายน) อยู่ที่ 1.193 พันล้านบาท และถือหุ้นอยู่เพียง 3 บริษัทคือ Major Cineplex ที่ 65.24% ของพอร์ตในไทย หรือประมาณ 778 ล้านบาท, Kerry ที่ 21.96% ของพอร์ตหรือประมาณ 262 ล้านบาท และ Strategic Hospitality กองทรัสต์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทยที่สัดส่วน 12.81% หรือประมาณ 152 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ GIC เคยถือหุ้นบริษัทใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยอย่าง CP All, PTT, OR, ADVANC หรือ KBANK ด้วย
GIC เริ่มหันมาลงทุนในสตาร์ทอัพทั่วโลกในปี 2017 ด้วยการจัดตั้งทีม Technology Investing Group (TIG) ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ ช่วยเหลือจนเติบโตและเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ตัวอย่างสตาร์ทอัพดังๆ ที่ GIC ไปลงทุนก็เช่น Doordash บริการเดลิเวอรี่ของสหรัฐตั้งแต่ก่อนเข้าตลาด, NIO ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีน, Epic Games ผู้พัฒนาเอนจินเกม หรือ Traveloka ขณะที่ LINE MAN Wongnai เป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรกที่ GIC เข้ามาลงทุนด้วย
อ้างอิง – GIC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา