Elon Musk ถูกยกให้เป็นหนึ่งในคนที่ ไม่เพียงความคิดจะเปลี่ยนโลกแต่ลงมือทำได้จริงด้วย ไม่ว่าจะ Tesla Motors, SpaceX หรือ Neuralink ที่กำลังวิจัยอยู่ ไม่รวมไอเดียอื่นๆ ที่เขาคิดให้ให้คนอื่นเอาไปต่อยอด เช่น OpenAI หรือ Hyperloop
เป้าหมายที่อยากเปลี่ยนโลกนี้เอง Musk เคยบอกว่า ถ้าคุณไม่ทำงานหนัก คุณเปลี่ยนโลกไม่ได้หรอก ซึ่ง Musk มีชื่อเสียงเรื่องความคลั่งงานอยู่แล้ว จากการทำงานราวสัปดาห์ละ 80-120 ชั่วโมง (เฉลี่ยวันละ 12 – 18 ชั่วโมง) และเขาก็พยายามโน้มน้าวและบีบให้พนักงานของเขา ทำงานหนักเหมือนกันด้วย
อย่างล่าสุดที่มีอีเมลภายใน Tesla หลุดออกมาว่า Musk สั่งให้ผู้บริหารต้องกลับมาเข้าออฟฟิศ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ไม่งั้นก็ลาออกไป หรือก่อนหน้านี้ก็ออกมาชมคนจีนว่าสู้งานกว่าคนอเมริกัน
คำถามคือการคลั่งงานที่ Musk ทำและ Musk ต้องการให้พนักงานทำ มันอาจจะดีต่อบริษัท ต่อองค์กรที่สามารถสร้างผลงาน ผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนโลกได้ แต่คำถามคือพนักงานจะได้อะไรจากการทำงานแบบนี้ และต้องเสียอะไรไปบ้าง?
ลัทธิคลั่งงานหนัก
หลายคนน่าจะเคยได้ยินข่าวว่า Musk ทำงานหนักขนาดที่ว่าลงทุนกินและนอนอยู่ในโรงงาน 3-4 วันติดต่อกันโดยไม่ได้ออกไปไหน เพื่อให้การผลิต Tesla Model 3 เป็นไปได้ตามเป้าในปี 2018 ซึ่งการทำงานแบบนี้แหละที่เขาคาดหวังกับพนักงาน โดยเฉพาะระดับผู้บริหาร
“ยิ่งคุณตำแหน่งสูงมากเท่าไหร่ คุณยิ่งต้องปรากฎตัวให้พนักงานเห็นมากยิ่งขึ้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงกินนอนในโรงงาน เพื่อให้พนักงานได้เห็นว่าผมทำงานร่วมกับเขา”
ในแง่หนึ่งการทำงานหนักของ Musk ก็อาจเป็นทั้งแรงบันดาลใจและ “ข้ออ้าง” ที่บีบให้พนักงานทำงานหนักเหมือนกับตัวเอง ประหนึ่งว่า “คุณทำงานหนัก ผมก็ทำงานหนักไปด้วยกับคุณนะ ไม่ได้แค่สั่งอย่างเดียว แล้วตัวเองสุขสบาย”
อย่างไรก็ตาม การทำงานหนักแบบ Musk ก็เคยถูกวิจารณ์จากมหาเศรษฐี Arianna Huffington ที่เป็นเจ้าของสื่อ Huffington Post และ Thrive Global บริษัทเทคโนโลยีด้านสุขภาพจิต โดยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงพนักงานว่า
“การทำงาน 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ได้ช่วยดึงศักยภาพเฉพาะตัวดีที่ของตัวเองออกมา ตรงกันข้าม มันทำลายด้วยซ้ำ คุณไม่สามารถอัดงานหนักๆ ด้วยอาศัยแต่พละกำลัง แรงกาย แรงใจได้อย่างเดียว นั่นไม่ใช่วิธีการทำงานของร่างกายและสมองของเรา”
“คุณไม่สามารถไปดาวอังคารได้ โดยไม่สนใจกฎฟิสิกส์ เช่นกัน เราก็ไม่สามารถไปสู่จุดที่เราอยากไปได้ โดยไม่สนใจกฎของวิทยาศาสตร์ในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน”
แต่ไม่ว่าใครจะวิจารณ์ยังไงก็ตาม การทำงานหนักขนาดนี้ เมื่อบริษัทเดินไปถูกทาง ผลที่ออกมาก็สวยงาม Musk บอกว่าการกินนอนในโรงงานของเค้าครั้งนั้น มีส่วนช่วยให้บริษัทรอดจากการล้มละลาย ขณะที่ Tesla Motors ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด ราคาหุ้นในปี 2018 อยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 53 ดอลลาร์ มูลค่าบริษัทตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านเหรียญ แต่ปัจจุบันราคาหุ้นพุ่งไปแล้วที่เฉลี่ย 740 ดอลลาร์ มูลค่าบริษัทประมาณ 7.6 แสนล้านเหรียญ
ดังนั้นการคลั่งงานหนักของ Musk อาจบอกได้ว่าบริษัทนั้นได้เต็มๆ ไม่ว่าจะเรื่องผลประกอบการ ชื่อเสียง มูลค่ากิจการ และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ Musk ต้องการ รวมถึงตัว Musk เอง ผู้บริหารและผู้ถือหุ้น ก็มีส่วนได้ตามไปด้วย จากการทำงานหนัก
คำถามคือแล้วแรงงานทั่วไป ที่ไม่ใช่ระดับบริหาร การที่ Musk บีบให้ทำงานหนักแบบเขา แรงงานเหล่านี้ได้อะไรบ้าง?
แรงงานแทบจะไม่ได้อะไรเลย นอกจากเงินและสุขภาพที่เสียไป
อีกประเด็นที่น่าสนใจในอีเมลล่าสุดที่ Musk ส่งหาผู้บริหาร บังคับให้กลับมาเข้าออฟฟิศ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้น มีประโยคหนึ่ง Musk ระบุว่า “นี่ยังน้อยกว่าแรงงานในโรงงาน Tesla อีกนะ”
แรงงานของโรงงาน Tesla มีชั่วโมงงานทำงานอยู่ที่ราว 80-90 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 11-12 ชั่วโมงกรณีไม่มีวันหยุด หากจะหยุด ก็อาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 16-18 ชั่วโมงต่อวัน
ในช่วงปี 2017 ที่สถานการณ์ของ Tesla ยังยากลำบาก และอยู่ในช่วงเผาเงิน เพื่อผลิต Model 3 ให้ทันตามกำหนด มีรายงานจาก The Guardian ว่านับตั้งแต่ปี 2014 รถพยาบาลวิ่งเข้าออกโรงงานที่ Fremont นับร้อยครั้ง จากการที่พนักงานเวียนหัว เป็นลมล้มชัก หายใจไม่ออกหรือแน่นหน้าอก ไม่รวมอาการบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ อีก หรืออย่างในปี 2018 ก็มีรายงานเรื่องความหย่อนยานด้านความปลอดภัยในโรงงาน
นอกจากนี้อดีตพนักงานของ Tesla ก็เคยเขียนบล็อก กล่าวหา Tesla ว่าบังคับให้ทำงานล่วงเวลา, ไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัย, และค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐานในอุตสาหกรรมเดียวกัน
แม้หลังจากนั้น Tesla จะยืนยันมีการแก้ไขปรับปรุงมาตรการด้านความปลอดภัย แต่เมื่อปี 2020 ก็มีรายงานจาก Bloomberg ว่า Tesla ไม่ยอมรายงานอุบัติเหตุและอาการบาดเจ็บของพนักงานที่เกิดขึ้นในโรงงาน Fremont กับหน่วยงานด้านความปลอดภัยและสุขภาพในที่ทำงานของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย
นอกจากนี้ในปี 2020 Tesla ยังฝ่าฝืนคำสั่งหน่วยงานรัฐแคลิฟอร์เนียที่สั่งห้ามให้คนอยู่แต่บ้าน เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด ด้วยการกลับมาเปิดโรงงาน อีกครั้ง ซึ่งก็มีรายงานว่า Tesla บังคับให้แรงงานกลับเข้ามาทำงาน ไม่เช่นนั้นจะโดนไล่ออก ทั้งที่ในช่วงการระบาดโควิดแรกๆ (ประมาณ 5-6 เดือนก่อนหน้า) Tesla ยืนยันว่าจะไม่มีการบังคับพนักงานให้เข้าโรงงาน
ไม่เพียงแต่แรงงานในสหรัฐ แรงงานของ Tesla ในจีนก็ไม่ต่างกัน เพราะต้องทำงานวันละ 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 6 วัน และถูกแยกตัวออกไปอาศัยในค่ายทหารหรือที่พักชั่วคราว แชร์เตียงสลับกันนอนตามกะการทำงาน ประหนึ่งหุ่นยนต์ แบบไม่ได้พบปะญาติหรือครอบครัว เพราะเรื่องปัญหาโควิดด้วย
ซึ่งอาจจะด้วยแบ็คกราวด์การทำงานของแรงงานจีน ที่แตกต่างจากฝั่งสหรัฐ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานแบบ 996 (ทำงาน 9am-9pm ยาว 6 วัน) ทำให้ Musk ออกมายกย่องแรงงานจีนว่าสู้งานกว่าแรงงานอเมริกัน
กลับมาที่คำถามว่า เมื่อทำงานหนักแบบนี้ แรงงานได้อะไร? แม้ Musk และ Tesla จะยืนยันมาตลอดว่าให้พนักงานทำงานหนัก แต่ก็มีสวัสดิการหลายๆ อย่างที่ช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการทำงาน แม้จะมีรายงานอีกด้าน ที่พนักงาน Tesla บอกว่า การทำงานข้างในจริงๆ จะนรกมากก็ตาม รวมถึงมีกรณีที่โรงงานวางกระทิงแดงไว้ให้กิน เพื่อให้สามารถทำงานต่อไปได้ด้วย
สิ่งที่แรงงานได้ ก็คงจะมีแต่ค่าแรง ที่สมน้ำสมเนื้อแค่ไหน แลกกับปัญหาด้านสุขภาพกายและจิต ก็คงตอบยาก หรือต่อให้แรงงานเหล่านี้มีหุ้นบริษัท ผลตอบแทนจากหุ้น ก็ไม่แน่ใจว่าจะดีจริงสมกับแรงที่พวกเขาลงไป หรือถ้าจะบอกว่า แรงงานเหล่านี้รู้สึกภาคภูมิใจที่ตัวเองมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลก ตามวิสัยทัศน์ของ Musk ก็อาจจะบอกไม่ได้เต็มปาก เพราะคนใช้แรงงานเหล่านี้ อาจจะมองแค่ ตัวเองต้องมีงานทำ หาเงินเพื่อเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัว ไปในแต่ละเดือนเท่านั้น ไม่น่าจะมีแรงงานมองไปไกลถึงขนาดนั้น
หากวิจารณ์ผ่านแว่นของ Karl Marx ใน Communist Manifesto ก็อาจจะบอกได้ว่า แรงงานเหล่านี้ไม่ได้อะไรเลยจากสิ่งที่เขาทำ ไม่ว่าจะในตัวรถ หรือบริษัท Tesla เขาไม่ได้มีส่วนได้เสียอะไรกับการเติบโตหรือทำกำไรของบริษัทตรงๆ แรงงานไม่ได้รวยขึ้น จากการทำงานหนักวันละ 11- 12 ชั่วโมง ดีไม่ดีโดนกดค่าแรงด้วยซ้ำไป (ในมุม Marx คือ แรงงานผลิตรถ แต่เขาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเจ้าของ พอขายได้กำไร กำไรที่ได้ก็ตกไปที่นายทุน บริษัท หรือผู้ถือหุ้น ไม่ใช่แรงงาน)
ดังนั้นการคลั่งงานหนักของ Musk พร้อมกระตุ้นและบีบให้พนักงานและแรงงานทำงานหนักตามเขา มันคงจะไม่แฟร์เท่าไหร่นัก หากพิจารณาจากการนับเป็นชั่วโมงทำงาน แม้จะเท่ากับหรือมากกว่าแรงงานของเขาในโรงงาน แต่สิ่งที่ได้กลับมาจากชั่วโมงการทำงานเหล่านี้ มันไม่เท่ากัน และแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวเลยทีเดียว
อ้างอิง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา