ยังไม่มีใครรู้ผลกระทบระยะยาว: WHO เตือน อย่าจับคู่วัคซีนต่างยี่ห้อมาใช้ผสมกัน

Dr. Soumya Swaminathan หัวหน้านักวิทยาศาสตร์องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกโรงเตือนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ใครที่กำลังคิดจะจับคู่การใช้วัคซีนต่างยี่ห้อผสมกัน ถือเป็นแนวโน้มที่อันตรายเพราะมีข้อมูลรับรองเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดกับสุขภาพน้อยมาก

ข้อมูลน้อย ไม่มีอะไรยืนยันผลกระทบทางสุขภาพระยะยาวหลังใช้วัคซีนผสมยี่ห้อกัน

Soumya กล่าวผ่านการสรุปสถานการณ์โควิดออนไลน์วานนี้ เธอบอกว่าถือเป็นแนวโน้มที่อันตราย เพราะข้อมูลรองรับในการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อผสมกันนั้น มีข้อมูลรองรับน้อย และมันก็อาจจะเกิดสถานการณ์ปั่นป่วนในประเทศที่คิดจะให้พลเมืองในประเทศใช้สูตรนี้ มันจะนำไปสู่การคิดต่อว่าจะใช้เมื่อไร และใครจะใช้โดสสอง โดสสาม โดสสี่เรื่อยไป ข้อมูลการจับวัคซีนต่างยี่ห้อมาใช้ผสมกันนี้จำเป็นต้องได้รับการประเมินจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ประชาชนไม่ควรตัดสินใจเองโดยลำพัง

การจับคู่วัคซีนต้านโควิด-19 ต่างยี่ห้อมาใช้ผสมกันนั้นเพื่อหวังจะกระตุ้นภูมิต้านทานให้เพิ่มมากขึ้น เรื่องนี้ แคนาดาก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กังวลประสิทธิภาพวัคซีนเช่นกัน โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านภูมิคุ้มกันแห่งชาติแคนาดา (National Advisory Committee on Immunization: NACI) ได้ให้คำแนะนำไว้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า ประชาชนที่รับวัคซีน AstraZeneca เป็นโดสแรก ควรจะรับวัคซีน mRNA เช่น Pfizer หรือ Moderna เป็นโดสที่ 2 หรือใครที่ได้รับวัคซีนโดสแรกเป็น mRNA ควรจะได้วัคซีนชนิดเดียวกันเป็นโดสที่ 2 แต่วัคซีน mRNA สามารถใช้สลับกันได้ หากว่าผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกันไม่มีให้พร้อมใช้งานในโดสที่ 2

เรื่องนี้ Theresa Tam หัวหน้าด้านสาธารณสุขแคนาดาระบุว่าว คำแนะนำนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งความปลอดภัยและเรื่องการจัดหาวัคซีนด้วย เรื่องการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อผสมกันนี้ ส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มไปทางการใช้วีคซีน AstraZeneca เป็นโดสแรกและให้ใช้วัคซีน mRNA เป็นโดสสอง ผลการศึกษาของ University of Oxford ที่เปิดเผยเมื่อ 12 พฤษภาคม ระบุว่าการใช้วัคซีน mRNA อย่าง Pfizer คู่กับ AstraZeneca นี้อาจจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงแบบอ่อนๆ แต่อาการเหล่านี้จะคงอยู่ในระยะสั้น ไม่อยู่ยาวนานและไม่ถึงขั้นป่วยจนต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล

ขณะที่ผลการศึกษาจากสเปนที่เผยแพร่เมื่อ 18 พฤษภาคมระบุว่า คนที่รับวัคซีน AstraZeneca เป็นโดสแรกและได้วัคซีน Pfizer เป็นโดสที่สองนั้นกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น 7 เท่า ถือว่ามากกว่าการใช้วัคซีน AstraZeneca ซ้ำเป็นโดสที่สอง ซึ่งแคนาดาไม่ใช่ประเทศเดียวที่ยอมรับหลักการนี้ สิ่งที่หลายประเทศกังวลสำหรับการใช้ AstraZeneca คือความเสี่ยงที่ทำให้เกิดลิ่มเลือด หลายประเทศในยุโรปก็ยอมรับข้อเสนอนี้ ซึ่งก็มีทั้งเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรนี นอร์เวย์ สเปน และสวีเดน ที่เสนอให้ใช้วัคซีน mRNA เป็นโดสที่สองหลังใช้วัคซีน AstraZeneca เป็นโดสแรก

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ยังไม่มีใครรับรองว่าระยะยาวแล้ว การใช้วัคซีนแบบผสมยี่ห้อกันนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อสุขภาพร่างกายของคน เรื่องนี้ Alberto Martin ศาสตราจารย์ด้านระบบภูมิคุ้มกันวิทยาจาก University of Toronto ระบุว่า อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ในระยะยาว

ไทย ประเทศแรกที่คิดใช้วัคซีนผสมยี่ห้อจีนกับตะวันตก

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นแห่งแรกที่คิดใช้วัคซีนผสมยี่ห้อกันระหว่างวัคซีนจีนกับวัคซีนตะวันตก อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารสุข ระบุว่า ให้ใช้วัคซีน AstraZeneca เป็นโดสที่สองหลังจากฉีดวัคซีน Sinovac ไปแล้วโดสแรก ให้ฉีด AstraZeneca ห่างกันประมาณ 3-4 สัปดาห์ อนุทินระบุว่า การฉีดวัคซีนเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานให้ป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้

การผสมวัคซีนจีนกับตะวันตกหรือการใช้วัคซีน Sinovac ผสมกับ AstraZeneca นี้ยังไม่มีผลการศึกษาเผยแพร่ออกมา แต่ก็มีหลายประเทศที่กำลังหาทางผสมวัคซีนต่างยี่ห้อใช้อยู่เช่นกัน บ้างก็คิดว่าน่าจะใช้ booster dose เป็นเข็มที่ 3 การประกาศเตรียมใช้วัคซีนผสมกันของไทยเกิดขึ้นหลังมีบุคลากรทางการแพทย์หลายร้อยรายติดเชื้อโควิดหลังฉีด Sinovac ครบโดสแล้ว ไทยกำลังวางแผนใช้ booster shots ด้วยการนำเข้าวัคซีน mRNA เข้ามา มีการศึกษาเบื้องต้นพบว่าบุคลากรทางการแพยท์ในไทยราว 700 คนที่ฉีดวัคซีน Sinovac เข้าไป มีภูมิคุ้มกันราว 60%-70% สำหรับ 60 วันแรกหลังฉีดโดสสอง แต่หลังจากนั้นภูมิคุ้มกันจะลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 40 วัน

ผศ. ดร.นพ. สิระ นันทพิศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวกับสำนักข่าว Reuters ว่า จากงานวิจัยของเรา ถ้าบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีน Sinovac ปริมาณ 2 โดส พวกเขาควรจะได้รับ booster shot เป็นเข็มที่ 3 ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะใช้วัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer (ที่กำลังจะมา) จากนั้นก็คอยเฝ้าดูระดับภูมิคุ้มกันต่อ

เรื่องใช้วัคซีนต่างยี่ห้อผสมกันนี้ ผู้แทนจาก AstraZeneca ปฏิเสธจะให้ความเห็นกับการตัดสินใจของไทยดังกล่าว การตัดสินใจใช้วัคซีนขึ้นอยู่กับประเทศนั้นๆ ส่วน Sinovac ก็ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใดๆ เช่นกัน หลังจากที่หลายประเทศที่พึ่งพาวัคซีนจากจีนอย่างมาก ทั้งในอินโดนีเซียและบราซิลต่างก็กังวลว่าจะไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาที่พบครั้งแรกในอินเดียได้ ด้านจีนเองก็ไม่มีข้อมูลทางเทคนิคที่มีการทดลองขนาดใหญ่ ไม่มีข้อมูลการใช้วัคซีนจากการใช้งานจริงว่าวัคซีนจีนมีประสิทธิภาพต้านไวัรัสสายพันธุ์เดลตาได้ มีแต่ผู้เชี่ยวชาญจีนที่เร่งให้ฉีดวัคซีนแก่ประชาชนให้เร็วที่สุด

ยังขาดข้อมูลวัคซีนจีนต้านไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่จะต้องได้รับการ peer reviews จากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศอีกที ทั้งนี้ Zhong Nanshan นักระบาดวิทยาที่เป็นผู้ช่วยรับมือโควิด-19 ระบาดในจีนระบุว่า นักวิจัยพบว่า วัคซีนจีนมีประสิทธิภาพลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการหนักจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ วิเคราะห์จากการติดเชื้อในกวางโจว แต่ก็มีกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดเล็ก

ในเดือนที่ผ่านมา Liu Peicheng โฆษกจาก Sinovac กล่าวกับรอยเตอร์สว่า ผลจากตัวอย่างเลือดที่ฉีดวัคซีนแล้วพบว่า ช่วยลดผลกระทบจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ถึงสามเท่า โดยต้องใช้ booster shot ตามหลังการฉีดวัคซีนไปแล้วสองโดส โฆษกไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ส่วน Feng Zijian อดีตผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคระบาดในจีนระบุว่า เรื่องวัคซีนจีนทั้งสองยี่ห้อนี้มีประสิทธิภาพน้อยเมื่อต้องใช้ต้านไวรัสสายพันธุ์เดลตา ถ้าเทียบกับไวรัสสายพันธุ์อื่น แน่นอน Feng ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอะไรเพิ่มอีก

สิ่งที่จีนทำหลังจากเจอสายพันธุ์เดลตาระบาดที่เมืองกวางตุ้งซึ่งมีประชากรราว 126 ล้านคน คือการพยายามฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างเร็วที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาด กวางตุ้งถือเป็นฮับการส่งออกขนาดใหญ่ของจีน แต่ก็กลายเป็นแหล่งคลัสเตอร์ไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการติดเชื้อนี้ในประเทศช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาในกวางตุ้งเมืองหลวงของกวางโจวราว 146 คน และยังมีการติดเชื้อในฮับเทคโนโลยีอย่างเซินเจิ้นอีกหลายรายด้วยกัน สิ่งที่จีนทำคือปิดพรมแดนกวางโจว เซินเจิ้น ตงกวนให้เร็วที่สุด เร่งตรวจเชื้อครั้งใหญ่และทำตามกระบวนการเดิมที่เคยจัดการโควิดได้ รวมทั้งต้องมีบัตรผ่านข้ามพรมแดนจังหวัดเพื่อยืนยันว่ามีผลตรวจโควิดเป็นลบ

จีนเร่งฉีดวัคซีนโดยเร็วภายใน 19 พฤษภาคมจีนฉีดวัคซีนไปแล้ว 39.15 ล้านโดส จากนั้น 20 มิถุนายนก็ฉีดวัคซีนเพิ่มเป็น 101.12 ล้านโดส

ผลการศึกษาจากวัคซีนชาติตะวันตกเป็นยังไง?

ผลการศึกษาจาก Public Health England (PHE) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพบว่า หลังจากฉีดวัคซีนโดสที่สองแล้ว 2 สัปดาห์ วัคซีน Pfizer-BioNTech มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสสายพันธ์เดลตาได้ราว 88% เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์อัลฟาที่พบครั้งแรกในอังกฤษถือว่ามีประสิทธิภาพสูงราว 93%

ขณะที่ถ้าฉีดวัคซีน AstraZeneca ครบสองโดส จะมีประสิทธิภาพต้านโรคโควิดที่ทำให้มีอาการจากไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้ 60% ถ้าเทียบกับสายพันธุ์อัลฟาจะมีประสิทธิภาพต้านโควิด-19 ได้ราว 66% ทั้งนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่มากพอสำหรับวัคซีน Johnson & Johnson ที่ฉีดเพียง 1 โดสสำหรับการต้านโควิด-19 ส่วนเรื่องการใช้ booster shots สำหรับวัคซีน mRNA นั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการติดเชื้อโรคระบาดยังพิจารณาเรื่องนี้กันอยู่

สรุป

การใช้วัคซีนต่างยี่ห้อผสมกันนั้น ในยุโรปหรือบางประเทศที่เจริญแล้วส่วนใหญ่เน้นใช้วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ตามหลังการฉีดวัคซีน AstraZeneca ที่มีความเสี่ยงจะเกิดลิ่มเลือด โดยใช้วัคซีน mRNA เป็นโดสที่สอง หมายความว่าใครก็ตามที่ฉีด AstraZeneca เป็นโดสแรก ก็ให้ฉีดวัคซีน mRNA เป็นโดสที่สอง มีประเทศที่ให้การรับรองอยู่หลายแห่งอาทิ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี นอร์เวย์ สเปน และสวีเดน

ส่วนแนวคิดกระตุ้นภูมิหลังใช้วัคซีนจีนไปแล้ว กังวลประสิทธิภาพวัคซีนว่าจะไม่สามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่เป็นสายพันธุ์หลักกำลังระบาดทั่วโลกตอนนี้ได้ จึงนำไปสู่แนวคิดที่จะใช้วัคซีนจีนผสมกับวัคซีนตะวันตกนั้น ตอนนี้มีการรายงานว่าไทยคิดได้เป็นแห่งแรกของโลก และยังขาดข้อมูลรับรองอีกมากว่าการฉีดวัคซีนเช่นนั้นจะปลอดภัยหรือไม่ต่อสุขภาพในระยะยาว ด้านองค์การอนามัยโลกก็ไม่ยืนยันเรื่องการใช้วัคซีนต่างยี่ห้อผสมกันเพราะมีผลการศึกษาที่จะรับรองเรื่องดังกล่าวค่อนข้างน้อย ส่วนจีนก็รับมือด้วยการเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิดโดยเร็วเท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลหรือรายละเอียดใดยืนยันทั้งในแง่ของการทดลองในทางคลินิกที่ต้องใช้คนจำนวนมากและทั้งในแง่ของการใช้งานจริง

ที่มา – Reuters (1), (2), (3), Global News

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา