เวลาทำงานอะไรสำเร็จสักอย่าง ใครๆ ก็อยากมีเพื่อนร่วมงานที่คอยยินดีกับเราด้วยทั้งนั้น
แต่ในชีวิตจริง มันไม่ได้เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะพอเริ่มมีความสำเร็จมากขึ้น บางทีอาจจะมีเพื่อนร่วมงานบางคน ที่เคยเป็นเพื่อนกันดีๆ กลับเริ่มทำตัวแปลกๆ เหมือนจะ ‘อิจฉา’ หรือไม่พอใจ
แน่นอน สถานการณ์แบบนี้ทำให้คนทำงานรู้สึกอึดอัด หลายคนก็ได้แต่หวังว่าเดี๋ยวมันก็ดีขึ้นเอง หรืออาจเข้าใจผิดไป แต่จริงๆ แล้ว เรื่องแบบนี้มักจะยิ่งแย่ลง และทำให้คนเก่งหลายๆ คนต้องสะดุด เพราะเพื่อนร่วมงานที่อยากจะดึงเขาลงมาให้ต่ำกว่าเดิม
แล้วถ้าคุณเริ่มรู้สึกว่า ‘เพื่อนรัก’ กำลัง ‘อิจฉา’ กับความสำเร็จของคุณ จะทำยังไงได้บ้าง? บทความจาก Harvard Business Review สรุปวิธีแก้ปัญหานี้มา 5 ข้อ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน:
1. อย่าเพิ่งด่วนสรุป
ในรายงานบอกว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเพื่อนรักกำลังรู้สึกอิจฉาเราหรือเปล่า เพราะบางทีอาจจะไม่ใช่เหมือนกัน คุณอาจจะเข้าใจคำพูดเขาผิด หรือเขาอาจจะเจอวันที่แย่เฉยๆ เลยแสดงออกมาแบบนั้น
ก่อนจะคิดไปเอง ลองถามตัวเองก่อนว่า:
- เขาเริ่มทำตัวเปลี่ยนไปกับคุณมั้ย?
- พูดชมแบบแปลกๆ เหน็บแนมรึเปล่า? (เช่น “ดีใจด้วยนะที่ได้ลูกค้า มันคงจะดีเนอะ ที่หัวหน้าช่วยปูทางไว้ให้”)
- เขาเลี่ยงที่จะเจอหรือช่วยเหลือคุณแบบที่เคยทำรึเปล่า?
- เขาแสดงอาการอยากเอาชนะคุณ หรือชอบขัดคุณกลางที่ประชุม?
ถ้าเห็นสัญญาณแบบนี้ซ้ำๆ ไม่ใช่แค่ครั้งสองครั้ง คุณก็คงไม่ได้คิดไปเอง
2. เข้าใจให้ได้ว่าเขาอิจฉาเพราะอะไร
ถ้าคุณแน่ใจว่ามันมีปัญหาจริงๆ อย่าเลือกหนีหน้า เพราะส่วนใหญ่ ยิ่งเลี่ยงมันยิ่งยืด ลองคุยตรงๆ อาจจะได้เจอว่าที่จริงแล้วมันเกิดจากความเข้าใจผิด หรือมีคนอื่นปั่นหัวเขาอยู่ก็ได้
คุณอาจลองถามเขาตรงๆ เช่น “ช่วงนี้ฉันสังเกตว่า พอฉันพูดอะไรในที่ประชุม คุณมักจะแย้งตลอดเลย มีอะไรที่ฉันควรรู้มั้ย?” แบบนี้จะเปิดโอกาสให้เขาได้อธิบายหรือระบายสิ่งที่คาใจอยู่
ถ้ามีความสำเร็จอะไรสักอย่างที่เป็นจุดเริ่มต้น ลองคุยตรงๆ ก็ได้ หรือลองคิดว่าจะช่วยเขาได้ยังไง คนเราจะไม่รู้สึกอิจฉาง่ายๆ ถ้ากำลังเดินไปสู่ความสำเร็จเหมือนกัน แถมคุณยังเป็นคนช่วยเขาไปถึงจุดนั้นได้
เช่น ลองเสนอช่วยดึงโปรเจกต์ใหญ่ๆ มาให้ ช่วยเป็นพี่เลี้ยงหรือแนะนำโอกาสใหม่ๆ ให้เขาได้โชว์ฝีมือ จะได้มีโอกาสเติบโตขึ้นเหมือนกัน
3. เช็กเรื่องอำนาจในองค์กร
ลองประเมินดูว่าตอนนี้คุณกับเขาใครมีอำนาจมากกว่ากัน ใครมีเส้นสายหรือเครือข่ายภายในดีกว่ากัน คุณจำเป็นต้องพึ่งเขาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมั้ย?
ถ้าคุณอยู่ในจุดที่มีพลังมากกว่า ก็ไม่ต้องกังวลมาก เพราะคนมักจะอิจฉาคนที่อยู่สูงกว่า และคนอื่นก็ไม่ค่อยเอาจริงเอาจังนัก แต่ถ้าเขาเป็นคนที่มีอำนาจมากกว่าและเริ่มไม่ชอบหน้า มันอาจกระทบกับอนาคตคุณได้จริงๆ
ดูด้วยว่าคุณกับเขามีเป้าหมายที่ต้องแย่งกันหรือเปล่า ถ้าต้องมีคนแพ้คนชนะ คุณก็ต้องวางแผนให้ดีว่าถ้าเขาจะเล่นงานคุณได้ เขาจะทำยังไงได้บ้าง
เช่น พูดให้คุณดูแย่ตอนพิจารณาโปรโมชัน หรือกันคุณออกจากคณะกรรมการสำคัญ แล้วหาวิธีเตรียมรับมือ ไม่ว่าจะคุยกันตรงๆ อีกรอบ หรือถ้าจำเป็นก็ต้องแจ้งเจ้านายเขาด้วย
4. รู้ว่าใครอยู่ข้างคุณจริงๆ
คิดถึงคนที่อยู่ในทีมสนับสนุนคุณจริงๆ คนที่เชียร์คุณเวลาคุณประสบความสำเร็จ ผลักคุณให้ออกนอกคอมฟอร์ตโซน ช่วยพูดแทนคุณในยามยาก คุณจะต้องพึ่งคนกลุ่มนี้ถ้ามีใครสักคนเริ่มสร้างปัญหาให้
แต่อย่าลืมสังเกตด้วยว่า คนที่เคยอยู่ข้างคุณยังเหมือนเดิมมั้ย? เขาเงียบไปหรือเปล่า? เลี่ยงไม่คุยด้วย? เลิกมาทักทายหรือโทรหาคุณแล้ว? หรือจู่ๆ ก็เลิกติดตามคุณในโซเชียล?
ทุกคนก็ยุ่งได้เป็นบางครั้ง แต่ถ้ามีคนที่เลี่ยงคุณตลอด อาจแปลว่าเขาอิจฉาเหมือนกัน หรือไม่ก็มีใครพูดถึงคุณในแง่ลบให้เขาเชื่อไปแล้ว
5. ถ้าจำเป็น ก็ลดการเจอหน้ากัน
ถ้าลองทุกวิธีแล้ว แต่เขายังไม่เลิกอิจฉาอยู่ดี แถมมองโลกแบบศูนย์รวม (คือถ้าคุณชนะ เขาต้องแพ้) แบบนี้ต่อให้คุณพยายามแค่ไหน ก็เปลี่ยนเขาไม่ได้
สิ่งที่ควรทำคือ ‘ถอยห่าง’ เพื่อความสบายใจของคุณเอง เพราะคนแบบนี้จะมองหาความผิดของทุกคนที่ประสบความสำเร็จอยู่ดี อย่าเสียพลังงานไปกับเขาเลย
เก็บความเป็นมืออาชีพเอาไว้ ถ้าจำเป็นต้องร่วมงานกัน แต่ไม่ต้องพยายามดึงเขากลับมา หรือให้โอกาสจนตัวเองเหนื่อยอีกดีกว่า เอาเวลาไปสร้างสัมพันธ์ดีกับคนที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกันดีกว่า
คุณอาจควบคุมไม่ได้ว่าคนอื่นจะมองความสำเร็จของคุณยังไง แต่คุณควบคุมได้ว่าคุณจะให้เขามีอิทธิพลต่อคุณแค่ไหน จำไว้ว่า คนที่อยู่ข้างล่างมักจะแข่งกันเอง แต่คนที่อยู่ข้างบนจะช่วยเหลือกัน เลือกให้ดีว่าจะอยู่ฝั่งไหน
ทั้งนี้ มันคงน่าอึดอัดใจ เวลาเพื่อนร่วมงานเริ่มอิจฉาความสำเร็จของเรา แต่ถ้าลองทำตามวิธีเหล่านี้ Harvard Business Review บอกว่าคุณก็จะมีโอกาสเปลี่ยนสถานการณ์ให้ดีขึ้น หรืออย่างน้อยก็ลดผลกระทบที่มันจะมีต่ออนาคตได้
- ถอดเคล็ดลับการมีพลังงานชีวิตที่ดีจาก Bob Iger ซีอีโอแห่งเจ้าอาณาจักร Disney
- How to เล่าเรื่องให้เก่ง เพราะศาสตร์แห่ง Storytelling พลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้จริงๆ นะ
- 10 ทักษะที่นายจ้างอยากให้ ‘พนักงาน’ มีมากที่สุดในปี 2025
ที่มา: Harvard Business Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา