IPO เมื่อไร เจ้าของรวย รายย่อย (ยับ)

หุ้นที่เพิ่งเข้าตลาดครั้งแรกหรือ ไอพีโอ (IPO) มักเป็นที่ต้องตาของนักลงทุนรายย่อยเสมอ เพราะอดีตที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแล้วว่าหุ้นไอพีโอส่วนใหญ่มักจะปรับตัวขึ้น (อย่างร้อนแรงอีกด้วย) บางตัววิ่งขึ้นไปมากกว่า 100% (เพราะวันแรกจะไม่มีเกณฑ์ Ceiling หรือ Floor) เรียกได้ว่าอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรก็ทำกำไรได้มหาศาลแล้วสำหรับคนได้หุ้นจอง

อย่างไรก็ตาม หุ้นหลายตัวที่เข้าตลาดวันแรกก็สามารถ “ทิ้งดิ่ง” ได้เช่นกัน และบางตัว แม้เข้าตลาดวันแรกจะเขียว แต่หลังจากนั้นราคาหุ้นก็สามารถดำดิ่งลงได้ กว่าจะกลับมายืนเหนือพ้นน้ำ (ราคาจอง) ก็กินเวลาหลายปี

ต้องบอกว่า หุ้นไอพีโอทุกตัว เจ้าของหุ้นเป็นคนที่ “รวย” เสมอ จะรวยมากรวยน้อยก็แล้วแต่ อย่าลืมว่าเขาเป็นผู้สร้างกิจการมาด้วยตัวเอง ย่อมไม่มีต้นทุน เพราะได้ลงแรงไปแล้ว ส่วนรายย่อยจะมีแค่บางส่วนเท่านั้นที่ได้กำไร (แต่ไม่รวย) แต่มีโอกาสที่จะย่อยยับมากกว่า อย่ากรณีล่าสุดกับหุ้นโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่เพิ่งเข้าตลาดแต่ราคามีแต่ไหลรูดลง

เรามาดูกันเป็นเคสๆ ดีกว่าว่า การตั้งราคาไอพีโอแบบไหนที่จะทำให้รายย่อยได้กำไรหรือย่อยยับ

หนึ่ง..รายย่อยได้หุ้นไอพีโอง่ายๆ ชนิดมาร์เกตติ้งแทบจะโอนหุ้นให้เลย แม้แต่คนที่พอร์ตเล็กๆ ก็ยังได้ แบบนี้..อันตราย บอกได้เลยว่าโลกนี้ของฟรีไม่มี ของดีไม่ถูก หุ้นดีๆ ที่ราคาเหมาะสม จำไว้เลยว่ามันจะไปอยู่กับรายใหญ่หรือผู้มีอุปการะคุณ รายย่อยทั่วไปมักจะได้ของที่ เหลือๆ มาเสมอ เพราะของดีเขาจัดสรรกันให้เฉพาะในวงเรียบร้อย

สอง..ตั้งราคาขายสูงเว่อร์ ทั่วไปแล้วการตั้งราคาไอพีโอจะใช้เกณฑ์ค่าพีอีเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง เช่น กลุ่มโรงพยาบาลที่ซื้อขายกันอยู่ที่พีอี 30 เท่า หุ้นที่เข้าใหม่ก็จะต้องใช้ค่าเฉลี่ยดังกล่าวเป็นฐาน แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จเพราะบางรายอาจจะขายแพงกว่าราคาตลาดก็ได้ จุดประสงค์ที่เจ้าของหุ้นอาจตัดสินใจแบบนั้นสามารถคิดได้หลายแบบ

เช่น มั่นใจว่าบริษัทตัวเองดีมาก ขายแพงก็มีคนซื้อ หรือต้องการเงินบางส่วนไปใช้หนี้หรือล้างขาดทุน หรืออยากจะ “รวย” จากการเข้าตลาดหุ้น เพราะการทำไอพีโอ ผู้ถือหุ้นดั้งเดิมจะได้ขายหุ้นที่ตัวเองมีอยู่ออกไปและได้เป็นเงินสดกลับมา หรือที่เรียกว่า Exit (โดยเฉพาะเจ้าของบริษัทไอที เวลาเข้าตลาด Nasdaq ขายหุ้นออกไปทีแทบจะไม่ต้องทำอะไรอีกแล้วในชีวิตนี้)

หากตั้งราคาขายไอพีโอสูงเว่อร์ ทำใจไว้ก่อนเลยว่าแบบนี้เจ้าของหุ้นยังไงก็รวย ส่วนรายย่อยต้องไปลุ้นกันอีกทีว่าพอเข้าตลาดแล้ว คนที่ได้หุ้นในราคาต่ำๆจะเทขายออกมาจนราคาทรุดหนักหรือไม่ หรือกลไกตลาดเป็นผู้ตัดสินว่าราคาดังกล่าวแพงและซื้ออนาคตมากเกินไปหรือไม่

ภาพจาก Pixabay.com

สาม..เจ้าของตั้งราคา Discount มักจะเกิดขึ้นกับบริษัทขนาดเล็กที่อาจจะไม่มีคนรู้จักมากนัก อาจจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ลดราคาเพื่อให้มีคนสนใจ (ทั่วไปอยู่ที่ 20-30%) การตั้งราคาแบบนี้ โอกาสที่หุ้นจะเปิดเขียวในวันแรกที่เข้าตลาดจะมีสูง เพราะราคาตั้งต้นก็ต่ำกว่าความเป็นจริงแล้ว และอาจเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้หุ้นจองได้มีโอกาสเข้าไปตะลุมบอนในวันแรกและได้กำไรกลับออกมา เผลอๆ หุ้นอาจจะขึ้นต่อได้อีกหลายวันด้วย

รูปแบบนี้เจ้าของยังไงก็ “รวย” แม้จะตั้งราคาเซล และรายย่อยบางส่วน (เน้นว่าบางส่วน) ก็ได้กำไร เพราะแรงจูงใจที่ตั้งราคาต่ำ รายย่อยที่ได้หุ้นมาก็อาจมีบางส่วนไม่ได้ขายหุ้นเพราะต้นทุนต่ำ และรายย่อยที่เข้ามาตะลุมบอนก็จะเข้ามาช่วยดันหุ้นต่อให้ ที่สำคัญที่ปรึกษาทางการเงินสมัยนี้จะมี Tactic ช่วยดันราคาหุ้นต่อให้อีกต่างหาก

สรุป

หุ้นไอพีโอยุคนี้ เจ้าของหุ้นรวมถึงนักลงทุนรายใหญ่ ยังไงก็รวย ส่วนรายย่อยต้องไปลุ้นกันว่าเจ้าของจะมีเมตตาต้องการให้รายย่อยบางส่วนได้กำไรกับเขาด้วยหรือไม่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

อดีตนักข่าวสายการเงินและตลาดหุ้นประจำสื่อยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง สนใจเรื่องทฤษฎีสมคบคิดในโลกการเงินเป็นพิเศษ ปัจจุบันเป็น Head Creative ที่ Super Trader และ COO ที่ Stock Quadrant ฟินเทคด้านการวิเคราะห์หุ้น มีอะไรคุยกันได้ที่เพจ Monkey Money และ @Nares_SPT