ทีมฟุตบอลนิวคาสเซิลมีเจ้าของคนใหม่แล้ว เจ้าของทีมก็คือเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman หรือ MBS) แห่งซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ทีมฟุตบอลนิวคาสเซิล ยูไนเต็ดกลายเป็นหนึ่งในทีมที่มีเจ้าของสโมสรร่ำรวยที่สุดทีมหนึ่งในพรีเมียร์ลีก ดีลนี้มีมูลค่า 300 ล้านปอนด์หรือประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ด้วยมูลค่าทีมฟุตบอลมหาศาลดังกล่าวทำให้คนสนใจความร่ำรวยของเจ้าชาย Mohammed bin Salman เรามาทำความรู้จักกันดีกว่า
ทำความรู้จัก PIF กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดิอาระเบีย
ก่อนจะไปทำความรู้จักเจ้าชาย มาเริ่มที่กองทุน PIF (Public Investment Fund) ก่อนเลย PIF คือกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ เป็นกองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย ก่อตั้งในปี 1971 จากนั้นจึงถูกถ่ายโอนจากกระทรวงการคลังในปี 2015 มายัง CEDA (Council of Economic and Development Affairs) หรือสภากิจการฝ่ายเศรษฐกิจและการพัฒนาของซาอุดิอาระเบีย ก่อตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดี Salman Abdulaziz bin Suad โดยมีประธานเป็นเจ้าชาย Mohammad bin Salman Al-Saud นั่นเอง
สาเหตุที่ก่อตั้ง CEDA ขึ้นมา เนื่องจากช่วงปี 2014 ราคาน้ำมันตกต่ำอย่างหนัก (ช่วงกลางปี 2014-ช่วงต้นปี 2016 เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับราคาน้ำมันตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดของยุคสมัยใหม่) ในปี 2015 ยังเป็นช่วงขึ้นครองราชย์ใหม่ของสมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน อับดุลลาซิสด้วย จึงมีการปรับโครงสร้างคณะรัฐมนตรีใหม่ โยกย้ายคณะรัฐมนตรีนับสิบรายรวมทั้งที่ปรึกษาและก่อตั้ง 2 หน่วยงานสำคัญ นั่นก็คือสภากิจการฝ่ายเศรษฐกิจและการพัฒนา (CEDA) และสภากิจการฝ่ายการเมืองและความมั่นคง
PIF อยู่ภายใต้ CEDA ถือเป็นหนึ่งในกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและดูแลสินทรัพย์มูลค่าราว 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 13.45 ล้านล้านบาท ก่อตั้งบริษัทกว่า 30 แห่ง สร้างงานสร้างอาชีพมากกว่า 331,000 งาน มีทั้งการลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ มีการลงทุนหลากหลายด้าน ตัวอย่างบริษัทต่างประเทศที่เข้าไปลงทุน เช่น SoftBank, Blackstone, Russian Direct Investment Fund, Uber, Jio, Reliance ฯลฯ
การลงทุนของ PIF นี้ สนับสนุนหลายโครงการที่สำคัญต่อเศรษฐกิจซาอุดิอาระเบีย มีทั้งโรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขนส่งน้ำมันทางท่อ คลังน้ำมัน พลังงาน เหมืองแร่ ระบบผลิตน้ำจืดจากทะเลและโครงสร้างพื้นฐานภายใน และยังลงทุนและร่วมมือกับหลายประเทศอีกมากมาย
Here we go! #nufc Takeover done pic.twitter.com/iP84AREBFu
— Bill Edgar (@BillEdgarnews) October 7, 2021
การเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลนิวคาสเซิลนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มทุน PIF, PCP Capital Partners และ RB Sports & Media ด้าน Yasir Al-Rumayyan ผู้จัดการ PIF ระบุว่า ภูมิใจมากที่ได้เข้ามาเป็นเจ้าของคนใหม่ของทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ถือเป็นหนึ่งในทีมฟุตบอลที่โด่งดังที่สุดของฟุตบอลอังกฤษ เขาขอบคุณแฟนๆ ของทีมนิวคาสเซิลที่ให้การสนับสนุนอย่างล้นหลาม และยังแสดงความรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ทำงานร่วมกัน
ส่วน Amanda Staveley ซีอีโอ PCP Capital Partners ระบุว่า นี่เป็นการลงทุนระยะยาว เธอรู้สึกตื่นเต้นกับอนาคตของทีมนิวคาสเซิล ด้วยปรัชญาที่รวมกันเป็นหนึ่ง เธอบอกว่าเธอจะทำให้เป้าหมายชัดเจนและช่วยสร้างความเป็นผู้นำที่จะผลักดันให้ทีมนิวคาสเซิลสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ได้ในระยะยาว ขณะที่ Jamie Reuben แห่ง RB Sports & Media กล่าวว่า เขาตั้งตารอดูอนาคตที่ยิ่งใหญ่ของทีมนิวคาสเซิล ยูไนเต็ดที่กำลังจะมาถึง และยังบอกอีกว่า นิวคาสเซิลถือเป็นเมืองที่น่าตื่นตาตื่นใจมาก นี่คือเหตุผลว่าทำไมครอบครัวของเขาจึงลงทุนมากมายในพื้นที่นี้มาหลายปีแล้ว
Amnesty ตั้งข้อสังเกต ซื้อทีมฟุตบอลนิวคาสเซิล = ฟอกขาวประเทศครั้งใหญ่
ช่วงปีก่อน ที่มีการเริ่มเทคโอเวอร์ทีมฟุตบอลนิวคาสเซิลมูลค่า 300 ล้านปอนด์นี้ มีความกังวลเกิดขึ้นมาก ในประเด็นการเข้ามาครอบครองของ PIF นี้จะทำให้นิวคาสเซิลถูกควบคุมมากเพียงใด เนื่องจากซาอุดิอาระเบียมีประเด็นเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักและยังมีประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้านกีฬาให้มีการลักลอบถ่ายทอดการแข่งขันด้วย
เรื่องนี้องค์การนิรโทษกรรมสากลหรือ Amnesty เคยเตือนไว้ว่า การเข้ามาเทคโอเวอร์ทีมนิวคาสเซิลของ PIF นี้ เหมือนเป็นการใช้ sports washing หรือเป็นการฟอกขาวประวัติประเทศที่มีปัญหาในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการเข้าไปลงทุนด้านกีฬา เป็นการฟอกขาวประเทศในประเด็นฉาว ล้างภาพที่สาธารณชนเคยเห็นจนชินตาให้เป็นภาพใหม่
Amnesty ยังแสดงความกังวลรื่องการเสียชีวิตของนักข่าว Jamal Khashoggi ในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบียประจำอิสตันบูล ตุรกี (คาช็อกกีคือนักข่าวชาวซาอุดิอาระเบียที่เป็นทั้งนักเขียนและคอลัมนิสต์ให้สำนักข่าวยักษ์ใหญ่อย่าง Washington Post และยังเป็นบรรณาธิการบริหารของ Al-Arab News Channel คาดว่าถูกสังหารในสถานกงสุลซาอุดิอาระเบียประจำตุรกีในวันที่ 2 ตุลาคม 2018 คาช็อกกีเป็นนักข่าวสายก้าวหน้าที่มักจะปล่อยบทความวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล กษัตริย์และเจ้าชายแห่งซาอุฯ อยู่บ่อยครั้ง) ทางหน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกาเองก็มีการยืนยันว่า เจ้าชายบิน ซัลมาน อัล-ซวด มีคำสั่งอนุมัติให้สังหารนักข่าวรายนี้ แต่ทางซาอุดิอาระเบียได้ปฏิเสธประเด็นนี้แล้ว
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล-ซวด
โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล-ซวด หรือที่รู้จักกันดีในโลกตะวันตกภายใต้ชื่อย่อ MBS แห่งราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียนั้น นอกจากจะเป็นมกุฏราชกุมารเตรียมสืบทอดเป็นกษัตริย์องค์ต่อไปแล้ว ยังเป็นรองนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เป็นประธานสภากิจการฝ่ายเศรษฐกิจและพัฒนา เป็นประธานสภากิจการการเมืองและความมั่นคงเป็นที่ปรึกษาพิเศษของกษัตริย์และยังเป็นประธานของ PIF ด้วย ปัจจุบันมีอายุเพียง 36 ปีเท่านั้น
ในช่วงปี 2015 เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดแผ่นดิน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจสู่ทายาทรุ่นใหม่ เปลี่ยนรัชสมัยหลังจากสมเด็จพระราชธิบดีอับดุลลอห์ บิน อับดัลอะซิซ อาล สะอูด เสด็จสวรรคต จากนั้น สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน อับดุลลาซิส บิน ซวดจึงขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์และเป็นนายกรัฐมนตรีของซาอุดิอาระเบีย เป็นพระบิดาของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล-ซวด ทำให้เจ้าชายเริ่มขึ้นมามีอำนาจมากขึ้น
เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานจบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย King Saud มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในซาอุดิอาระเบีย ทำงานอยู่ในหน่วยงานรัฐมาหลายแห่งก่อนจะถูกแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษของกษัตริย์ในปี 2009 ขึ้นชื่อในเรื่องการชอบทำงานหนัก ทำงานวันละ 18 ชั่วโมงต่อวัน
สำหรับความร่ำรวยของราชวงศ์นั้น สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมาน อับดุลลาซิส บิน ซวด หรือพระบิดาของเจ้าชาย MBS ติดอันดับที่ 3 ของราชวงศ์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยการจัดอันดับของ GQ India ปี 2020 และ SCMP รายงานว่า มูลค่าพระราชทรัพย์ของราชวงศ์สุทธิอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 6 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการประเมินความมั่งคั่งของราชวงศ์โดยรวม น่าจะอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 47.1 ล้านล้านบาท
เจ้าชายยังขึ้นชื่อในเรื่องใช้เงินฟุ่มเฟือยด้วย ตัวอย่างการใช้เงิน เช่น ซื้อเรือยอชท์มูลค่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 1.6 หมื่นล้านบาท ซื้อคฤหาสน์หรูในฝรั่งเศสมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ราว 1 หมื่นล้านบาท ซื้อภาพวาด Leonardo da Vinci มูลค่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซื้อเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว ฯลฯ
สำหรับประเด็นเกี่ยวพันกับเรื่องการสั่งสังหารนักข่าว Jamal Khashoggi นั้น เจ้าชายเคยให้สัมภาษณ์กับรายการ 60 Minutes ไว้ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสั่งสังหารคดีฆาตกรรมคาลช็อกกี แต่จะรับผิดชอบในฐานะผู้นำประเทศ โดยเฉพาะกับผู้ที่ทำงานให้รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย
ที่มา – Sky, Marca, PIF (1), (2), NUFC, Export.Gov, Investopedia, GQ India, SCMP, World Bank, Insider (1), (2), Aljazeera, NPR, Amnesty
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา