ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นหนึ่งในภาษีที่หลายคนในวัยทำงานต้องเจอเป็นประจำซึ่งแต่ละคน แต่ละงานก็จะโดนหักในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน แตกต่างกันไปตามแต่ประเภทซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกจ้างนั้นควรจะรู้และทำความเข้าใจ รวมทั้งนายจ้างเองก็ต้องทำเอกสาร ภ.ง.ด.3 กับ ภ.ง.ด.53 ให้ถูกต้องกับสรรพากรด้วย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือที่หลายคนเรียกว่า “หัก ณ ที่จ่าย” “หัก 3%” คือเงินที่นายจ้างหรือบริษัทหักจากเงินที่ลูกจ้างหรือนิติบุคคลต้องได้รับ ตามสัดส่วนของประเภทค่าใช้จ่ายที่กฏหมายกำหนด ซึ่งเงินก้อนนี้หลังจากหักแล้ว นายจ้างจะเก็บไว้เพื่อนำส่งสรรพากรไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกนำมาคิดอีกครั้งตอนที่ลูกจ้างยื่นภาษีและเงินก้อนนี้จะถูกหักลบตามสัดส่วนเพื่อคำนวณภาษีที่ลูกจ้างต้องจ่าย บางรายหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินทำให้ได้ภาษีคืนหลังจากทำการ ยื่นแบบภาษี ในทุกๆ ปี
หลังจากทำจัดการภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว นายจ้างจะต้องมีเอกสารรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือ 50 ทวิ ให้กับลูกจ้างเพื่อนำไปใช้ประกอบการยื่นแบบภาษี และนายจ้างก็ต้องจัดทำ “แบบยื่นเพื่อแจ้งการหักภาษี ณ ที่จ่าย” หรือที่เรียกว่า ภ.ง.ด.3 กับ ภ.ง.ด.53
ภ.ง.ด.3 กับ ภ.ง.ด.53 คืออะไร
ภ.ง.ด.3
เป็นแบบยื่นเพื่อแจ้งการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งผู้รับเงินเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา การกรอกข้อมูลให้กรอกตามฟอร์มที่สรรพากรให้มา มีชื่อ เลขบัตรประชาชน ที่อยู่ ประเภทของเงินได้ จำนวนเงินได้ที่ได้รับ สัดส่วนที่หัก ณ ที่จ่าย รวมถึงวันที่ทำการจ่ายเงิน
ภ.ง.ด.53
เป็นแบบยื่นเพื่อแจ้งการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งผู้รับเงินเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีรายได้นิติบุคคล วิธีการกรอกข้อมูลทำแบบเดียวกับ ภ.ง.ด.3 แต่กรอกเฉพาะที่เป็นนิติบุคคล
ทั้ง ภ.ง.ด.3 และ ภ.ง.ด.53 จะต้องนำส่งสรรพากรก่อนวันที่ 7 ในเดือนถัดไป หากเดือนไหนไม่มีการหักอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ต้องส่ง
สัดส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย
ค่าขนส่ง 1% : หากมีการใช้บริการขนส่งที่ขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทด้าน Logistics จะต้องหัก ณ ที่จ่าย 1% โดยที่หากส่งผ่านบริษัทไปรษณีย์ไทยจะไม่ต้องหัก ณ ที่จ่ายเพราะมีการยกเว้น
ค่าโฆษณา 2% : การให้บริการด้านการโฆษณาที่เป็นลักษณะของการ ประกาศ ประชาสัมพันธ์ ผ่านทางสื่อต่างๆ ที่ไม่ใช่ Social Media จะต้องหัก ณ ที่จ่าย 2%
ค่าบริการ/ค่าจ้างทำของ 3% : การบริการที่โดยทั่วไปจะใช้สัดส่วน 3% ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานฟรีแลนซ์ จ้างรีวิว จ้างเขียนบทความ จ้างช่างภาพ รวมถึงบริการทางสารสนเทศก็ใช้สัดส่วน 3% เช่นกัน
ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ 5% : นับจากการถือครองกุญแจ เช่นเราเช่ารถยนต์ เช่าห้อง เช่าอาคาร แบบนี้เราถือว่าเป็นผู้ถือครองกุญแจ แต่หากเป็นการเช่าสถานที่จัดงานจะถือว่าเป็นบริการก็จะต้องเสียในสัดส่วน 3% แทน
Source: iTAX pedia, flowaccount.com(1), FlowAccount(2),rd.go.th
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา