ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า VAT ย่อมาจาก Value Added Tax เป็นภาษีที่เรียกได้ว่าเราทุกคนเจอและจ่ายทุกวัน แล้วภาษีนี้ใครจ่ายกันแน่ ร้านทุกร้านต้องจดทะเบียน VAT หรือไม่ แล้ว VAT 7% นี้มันไปอยู่ไหนหลังจากเราจ่ายแล้ว หากคำตอบได้จากบทความนี้เลย
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร
เป็นภาษีที่เก็บจากการขายสินค้าและบริการภายในประเทศ โดยจะจัดเก็บอยู่ที่ 7% ซึ่งผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านจะเก็บจากผู้บริโภค ตามที่เรามักจะเห็นในใบเสร็จรับเงินหลังจากที่เราใช้บริการหรือซื้อสินค้าเรียบร้อยแล้ว
เมื่อทำการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้ามาแล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากรในทุกๆ ปีเพื่อนำส่งเป็นรายได้ของประเทศเพื่อจัดสรรเป็นงบประมาณในการบริหารประเทศต่อไป
การคิดภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถทำได้จากสูตรนี้
ราคาสินค้าหรือบริการ X 0.07 = ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ใคร “ต้อง” จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบ้าง
- ผู้ประกอบการที่มีรายได้ก่อนหักต้นทุนกำไรมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี หากก่อนหน้านี้รายได้ไม่ถึง ให้ทำการจดทะเบียนภายใน 30 วันหลังรายได้เกิน
- ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงงาน อาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร
- ผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร และได้ขายสินค้าหรือบริการในราชอาณาจักร โดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร ให้ตัวแทนรับผิดชอบในการจดทะเบียน
ใครได้รับการ “ยกเว้น” การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มบ้าง
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตร สัตว์ไม่ว่ามีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ปุ๋ย ปลาป่นอาหารสัตว์ ยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายและมีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
- การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยท่าอากาศยาน
- การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
- การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร
ใครที่ “ไม่ต้องจดทะเบียน” การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มบ้าง
- ผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
- ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย
- ผู้ประกอบการที่ให้บริการจากต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
- ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรและเข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นครั้งคราว (ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของกรมสรรพากร)
- ผู้ประกอบการที่ได้รับการประกาศจากกรมสรรพากร
วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถกระทำได้ 2 ช่องทาง ดังนี้
- ยื่นแบบคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ https://vsreg.rd.go.th/jsp/MainFVATFSBT.jsp
- ยื่นแบบคำขอด้วยกระดาษ ณ หน่วยจดทะเบียนที่ตั้งสถานประกอบการ ตรวจสอบได้ที่นี่
VAT Refund คืออะไร
เป็นการนำเอาภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการได้นำส่งสรรพากรคืนกลับให้นักท่องเที่ยวเพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยสินค้าในประเทศมากขึ้น โดยการของ Refund นั้นมีเงื่อนไขดังนี้
- นักท่องเที่ยวต้องนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรไทย ภายใน 60 วัน โดยนับวันที่ซื้อสินค้าเป็นวันแรก
- ต้องซื้อสินค้าจากร้านค้าที่แสดงป้ายสัญลักษณ์ “VAT REFUND FOR TOURISTS”
- ต้องซื้อสินค้ามูลค่าไม่น้อยกว่า 2,000 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) จากสถานประกอบการแห่งเดียวกัน ในวันเดียวกัน
- ณ วันที่ซื้อสินค้า ให้แสดงหนังสือเดินทางแก่พนักงานขายและขอแบบ ภ.พ.10 จากร้านค้าพร้อมทั้งต้นฉบับใบกำกับภาษี โดยแบบ ภ.พ.10 แต่ละฉบับต้องมีมูลค่าสินค้า 2,000 บาทขึ้นไป
- ในวันที่เดินทางออกก่อน Check-in ให้นำสินค้าและแบบ ภพ.10 ที่มีมูลค่าการซื้อสินค้ารวมกันแล้วถึง 5,000 บาท ไปแสดงให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสินค้าและประทับตรา
- สินค้าราคาแพง ได้แก่ อัญมณีที่ประกอบขึ้นเป็นตัวเรือนหรือของรูปพรรณ, ทองรูปพรรณ, นาฬิกา, แว่นตา ปากกา โทรศัพท์แบบพกพา หรือสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แบบพกพา กระเป๋าถือ (ไม่รวมถึง กระเป๋าเดินทาง) เข็มขัด ที่มีมูลค่าชิ้นละ 10,000 บาทขึ้นไป หรือสินค้าที่สามารถนำติดตัวไปพร้อมกับการเดินทางที่มีมูลค่าการซื้อต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรตรวจประทับรับรองในแบบ ภ.พ.10 อีกครั้ง ณ สำนักงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ผู้โดยสารขาออก ส่วนในหลังผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง
แถมท้ายเผื่อเวลาใครไปใช้บริการร้านอาหารหรือบริการกับเพื่อนๆ แล้วทางร้านมีการคิด VAT 7% มาในบิลแล้วอยากหารกับเพื่อนๆ โดยรวมค่า VAT เข้าไปในรายการที่เราสั่งด้วย ให้เอาราคาของที่เราสั่งคูณด้วย 1.07 จะได้ราคาที่เราต้องจ่ายจริงๆ แค่นี้ ง่ายๆ จบๆ
Source: กรมสรรพากร กรมสรรพากร (2) makewebeasy.com Money Buffalo
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา