หลายคนคงจะพอเคยได้ยินคำว่า NDID มากันแล้วบ้างเวลาที่เราทำธุรกรรมกับธนาคารหรือใช้บริการจาก Mobile Banking แม้กระทั่งแอปเป๋าตังค์ แล้ว NDID ใช้ประโยชน์ได้ยังไงบ้าง ต้องลงทะเบียนอะไรซับซ้อนหรือไม่ หาคำตอบได้จากบทความนี้เลย
NDID คืออะไร
NDID (National Digital ID) เป็น Platform กลางที่ให้บริการการยืนยันและพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัลซึ่งเป็นสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีธนาคาร การขอสินเชื่อ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาเพื่อทำการยืนยันตัวตน
NDID ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่สำคัญของประเทศไทยที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนโดยใช้แนวคิด Decentralized ผ่านเทคโนโลยี Blockchian ที่มีความปลอดภัยสูง โดยผู้ดูแลระบบ NDID คือบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัดซึ่งมีผู้ร่วมลงทุนไม่ว่าจะเป็นสถาบันทางการเงิน หน่วยงานของรัฐ บริษัทประกันภัย บริษัทหลักทรัพย์บริษัทผู้ให้บริการทางด้านการเงิน รวมแล้วกว่า 60 ราย ทำให้มั่นใจได้ว่าการลงทะเบียน NDID นั้นสามารถใช้งานได้หลากหลายบริการ ครอบคลุมหลากหลายกลุ่มธุรกิจ
NDID มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 3 หน่วยงานได้แก่
Reliying Party เรียกย่อๆ ว่า RP เป็นผู้ให้บริการที่ติดต่อกับลูกค้าหรือผู้ใช้งานซึ่งต้องการใช้การยืนยันตัวตน NDID จาก idP หรือ Identity Provider
Identity Provider เรียกย่อๆ ว่า idP เป็นผู้ทำหน้าที่พิสูจน์และยืนยันตัวตนโดยใช้ NDID ให้กับผู้ใช้งานที่ใช้บริการผ่าน RP ซึ่ง idP จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านทาง Mobile Banking
Authoritative Source หรือ AS เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลของเราอยู่ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หน่วยงานของรัฐ และ อื่นๆ
ข้อดีของการมี NDID
- ลดความยุ่งยากในการพิสูจน์ตัวตนและยืนยันข้อมูลในระบบ
- ประหยัดเวลาในการไม่ต้องไปทำธุรกรรมบางประเภทที่สาขา
- เพิ่มความปลอดภัยให้กับข้อมูลของเรา
- สามารถใช้งานได้กับหลายบริการที่จำเป็นต้องใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนซึ่งโดยปกติมักจะใช้ระบบของตนเองทำให้เสียเวลาในการพัฒนาและไม่มีมาตรฐานเดียวกัน
สมัคร NDID ยังไง
จะเห็นได่ว่า NDID มีประโยชน์และช่วยให้เราเข้าถึงบริการมากมายผ่านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนได้เร็วขึ้น หากใครที่ต้องการสมัคร NDID สามารถทำได้กับธนาคารที่เรามีบัญชีธนาคารในครอบครอง ซึ่งมีธนาคารที่ให้บริการเชื่อมต่อกับ NDID ดังนี้
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารไทยพาณิชย์
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารออมสิน
- ธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารกรุงศรี
- ธนาคารทีเอ็มบีธนชาติ (ทีทีบี)
- ธนาคารเกียรตินาคิน
- ธนาคารซีไอเอ็มบี
ในอนาคต NDID จะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่คอยส่งเสริมให้ระบบดิจิทัลในประเทศไทยพัฒนาได้ไวยิ่งขึ้น รวมถึงยังมีทิศทางการพัฒนาในลำดับต่อไปของ NDID จากกลุ่ม “ก้าวGeek” Community tech ของพรรคก้าวไกลที่มี Topic ของการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพของ NDID อยู่ในนั้นด้วย นับว่าเป็นก้าวสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทยมากๆ เลยทีเดียว
Source: FINNOMENA Techsauce ndid
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา