E-commerce คืออะไร? วางกลยุทธ์อย่างไรให้ยอดขายปัง!

ยุคนี้ไม่ว่าใครๆ ก็บุกตลาด E-Commerce โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลังจากวิกฤติโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ E-Commerce กลายเป็นจุดเปลี่ยนของหลายอุตสาหกรรม มาลองดูกันว่าอะไรคือเสน่ห์อันน่าเย้ายวนที่หลายแบรนด์เปลี่ยนทิศทางและให้ความสนใจมากขนาดนี้

E-commerce คืออะไร ?

E-Commerce ย่อมจากคำว่า Electronic Commerce หมายถึงการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตตาม Platform ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Website, E-Marketplace, Social Commerce ที่ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะด้วยความง่าย การจ่ายเงินที่สะดวก รูปภาพประกอบที่ครบถ้วนรวมทั้งสามารถเห็นสินค้าในรูปแบบของ 3D ได้ รวมทั้งการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็วไม่ต้องรอนาน รวมถึงปัจจัยเรื่องของราคาสินค้าที่มักจะถูกกว่าหน้าร้าน ทำให้ E-Commerce ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์การค้าที่น่าจับตามองที่สุดในช่วงนี้เลยก็ว่าได้

ทำไมถึงควรทำ E-commerce ?

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเติบโตของ E-Commerce ในไทยว่ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่มีการเกิดวิกฤติโควิด-19 ทุกคนจำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบที่ไม่สามารถไปร้านค้าร้านประจำได้ ต้องสั่งของกันมากขึ้น ทำให้ในปี 2021 มูลค่าของตลาด E-Commerce ในไทยสูงถึง 535,127 ล้านบาท โตขึ้นจากปี 2020 ถึง 44.4 % หลังจากนั้นแม้ในปี 2022 จะมีการเติบโตน้อยลงแต่มูลค่าของตลาด E-Commerce ก็ยังคงสูงขึ้นโดยอยู่ที่ 582,794 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้จะชะลอตัวเนื่องด้วยภาวะทางเศรษฐกิจในประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการซื้อขายสินค้าผ่าน E-Commerce เป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าที่แบรนด์หลายแบรนด์เลือกที่จะลงทุนและทำการตลาดผ่านช่องทางนี้เป็นหลัก

การทำ E-Commerce ทำให้เจ้าของร้านหลายคนที่ไม่มีทุนสำหรับทำหน้าร้านสามารถยืนหยัดในการขายได้เนื่องจากไม่จำเป็นจะต้องมีหน้าร้าน เพียงแค่มีสินค้าและถ่ายรูปสินค้าให้น่าสนใจและมีความแตกต่างก็สามารถเพิ่มโอกาสได้ในการขายได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องการที่ลดจำนวนพนักงานขายเนื่องจากไม่มีหน้าร้านทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายจุดนี้ไปได้เพิ่มมาลงทุนเพิ่มกับระบบหลังการขายหรือระบบจัดการสินค้าเพื่อส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งการทำ E-Commerce ยังสามารถวัดผลและรับ Feedback จากลูกค้าได้ว่าสินค้าของเราเป็นอย่างไรบ้าง มีสิ่งใดที่ต้องปรับปรุง มีด้านใดที่เราแข็งแรง ซึ่งจุดนี้จะช่วยเสริมให้ร้านค้าของเราไม่น้อยหน้าไปกว่าร้านค้าอื่นๆ

กลยุทธ์การทำ E-commerce

การทำ E-Commerce แม้หลายคนจะมองว่าทำง่าย เพียงแค่ทำเว็บของร้านค้าขึ้นมาหรือสมัครบัญชีใน E-Marketplace platform แล้วก็ลงสินค้าเท่านี้ก็เพียงพอ แต่แท้จริงแล้วยังมีเทคนิคอีกมากที่ต้องเรียนรู้แล้วเข้าใจเพราะไม่ใช่ร้านเราร้านเดียวที่ขายสินค้าประเภทนี้บนออนไลน์

  1. เลือกใช้ Social Media ให้เหมาะสม

    มีร้านแล้วก็ต้องมีช่องทางการติดต่อและสื่อสารเพื่อโปรโมทสินค้าใหม่ โปรโมชั่นปังๆ ไปยังลูกค้าของเรา รวมถึงรับ Feedback จากลูกค้าได้ทันที ดังนั้นการเลือกใช้ Social Media จึงสำคัญมาก แต่ละ platform มีผู้ใช้ที่ต่างกันและมีการ Active ไม่เหมือนกัน เช่นร้านของเราขายสินค้าเครื่องประดับ การลงรูปสินค้าเป็นเรื่องสำคัญดังนั้นช่องทาง Instagram / TikTok อาจจะเหมาะสมกับร้านค้าของเราเพราะตอบโจทย์ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอรีวิวสินค้า

  2. Content Marketing ต้องสอดคล้องกับ Branding

    แน่นอนว่าถ้ามี platform แล้วก็ต้องตามมาด้วย Content ไม่ใช่ทุกแบรนด์ ทุกสินค้าจะทำ Content แบบเดียวกันได้ อาจจะต้องมีการลองผิดลองถูกเพื่อรู้ว่าการทำ Content แบบไหนเหมาะสมกับร้านเรา การทำไวรัลช่วยเพิ่มยอดขายและ Awareness ได้หรือไม่ มีการพูดถึงบน Social Media เป็นอย่างไร นอกจากนี้การเน้นทำไวรัลอย่างเดียวจนลืมนึกถึงภาพลักษณ์ของ Brand และสินค้าก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเพราะลูกค้าอาจจะเสพเพียงแค่ Content แต่ไม่สามารถทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นได้เท่าที่ควร

  3. ใช้งาน Influencer ให้ตรง Target

    ยุคนี้ สมัยนี้ การโปรโมทจากช่องทางของตัวเองอาจไม่ใช่หนทางเดียวในการทำ Content อีกต่อไป การใช้งาน Influencer ถือว่าสำคัญมากเนื่องจากแต่ละคนก็จะมีผู้ติดตามที่แตกต่างกันออกไป ทำให้การจะใช้ Influencer สักคนอาจจะต้องมีการศึกษาและเข้าใจ Target ของพวกเค้ารวมทั้งเราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าหากใช้ Influencer หรือ ดาราเบอร์ใหญ่จะทำให้ยอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะเหล่า Micro-influencer ก็สามารถทำแบบนั้นได้เช่นกัน หากแต่ต้องเกิดจากการที่แบรนด์และ Influencer เข้าใจ Target ได้ตรงกัน

  4. การชำระเงินต้องไม่ยุ่งยาก 

    เรื่องใหญ่เลยถ้าหากร้านหรือแบรนด์ของคุณมีช่องทางการชำระเงินเพียงไม่กี่ช่องทาง ไหนจะต้องมาคอยยุ่งยากเรื่องสรุปยอดในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ จะดีกว่าหรือไม่หากระบบการชำระเงินของร้านนั้นเป็นระเบียบเรียบร้อยสามารถตรวจสอบได้ทันที เพราะเรื่องการชำระเงินก็หนึ่งในปัจจัยที่ลูกค้ามองว่าสำคัญไม่แพ้กับคุณภาพของสินค้า บางร้านที่มีการผ่อน 0% ได้ในสินค้าที่มีราคาสูงจะทำให้ได้รับโอกาสจากลูกค้าที่ไม่ต้องการชำระเงินก้อนเดียวทีเดียว และมีโอกาสปิดการขายได้มากขึ้นอีกด้วย

  5. SEO ไปยังเว็บไซต์

    หากร้านค้าของเรามีเว็บไซต์ที่ใช้สำหรับแนะนำสินค้าและบริการรวมทั้งเป็นพื้นที่ในการเล่า Story ของสินค้า การทำให้ลูกค้าเข้าไปเยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์เพื่อเข้าใจ Story ของสินค้าเหล่านั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ การทำ SEO ให้เว็บไซต์จะทำให้เกิดการเข้าไปเยี่ยมชมหน้าเว็บของเรามากยิ่งขึ้น และทำให้สินค้านั้นถูกค้นพบได้ง่ายจากการ Search ผ่าน Search engine ต่างๆ

เว็บ E-commerce ที่ดีควรเป็นยังไง

เรารู้กันไปแล้วว่าการทำการตลาดและการวางแผนกลยุทธ์ในการทำ E-Commerce นั้นเป็นอย่างไร แต่หากร้านใด แบรนด์ใดมีเว็บ E-Commerce เป็นของตัวเอง อย่าลืมวางแผนตามนี้นะ

  1. ไม่ใช่แค่หน้าตาดี แต่ต้องใช้งานง่ายด้วย เพราะถ้าแค่เว็บไซต์หน้าตาน่าใช้แต่ใช้งานแล้วไปต่อไม่ถูก ไม่รู้จะกดอะไรต่อแน่นอนว่าอีกไม่นานลูกค้าก็จะเปลี่ยนไปซื้อผ่านช่องทางอื่นหรือไม่ก็เปลี่ยนไปหาคู่แข่งทันที ดังนั้นการใช้งานต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่กี่คลิกก็สามารถสั่งซื้อสินค้าได้อย่างถูกต้องและเรียบร้อย
  2. รองรับการชำระเงินหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับ E-Marketplace การรองรับการชำระเงินหลากหลายช่องทางจะช่วยเพิ่มโอกาสในการปิดการขายได้มากขึ้น ลูกค้าบางคนสะดวกโอนเงิน ลูกค้าบางคนสะดวกบัตรเครดิต/เดบิต ลูกค้าบางคนมองหาเว็บไซต์ที่ผ่อน 0% ได้ ลูกค้าบางคนสะดวกเก็บเงินปลายทาง ดังนั้นไม่ว่าลูกค้าจะต้องการชำระเงินแบบใด ร้านค้าของเราควรตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด
  3. ให้รายละเอียดสินค้าครบถ้วน เพราะไม่เพียงแค่รูปและราคาแต่ยังรวมไปถึงขนาด วัสดุ ส่วนผสม วิดีโอรีวิว รวมทั้งข้อควรระวังกรณีสินค้าบางประเภทมีการใช้ที่ไม่เหมือนกับสินค้าอื่นในท้องตลาด
  4. ขั้นตอนการสั่งสินค้า เพราะหากกว่าจะสั่งสินค้าสักชิ้นเราจะต้องกดอะไรต่างๆ มากมายลูกค้าอาจจะตัดใจไม่ซื้อเลยก็เป็นได้
  5. ระบบจัดการสินค้าอย่างเป็นระบบ นอกจากจะช่วยให้ลูกค้ารู้ถึงจำนวนสินค้าที่คงเหลือ ยังทำให้เราจัดการ Stock สินค้าของเราได้อย่างมีระบบอีกด้วย ไม่ทำให้เกิดการ Stock สินค้านานเกินไปหรือขาดตลาดนานเกินไปจนทำให้ความต้องการของลูกค้าลดลงตามไปด้วย
  6. มีระบบติดตามสินค้าอย่างละเอียดและแม่นยำ ลูกค้าทุกคนที่สั่งของกับเราแน่นอนว่าอยากได้ของถึงมืออย่างรวดเร็วและถูกต้อง ดังนั้นการมีระบบ Tracking สินค้าอย่างแม่นยำและอัพเดตบ่อยๆ จะทำให้ลูกค้ามั่นใจมากยิ่งขึ้นในการซื้อสินค้ากับร้านเรา
  7. ทำให้ลูกค้าอยากกลับมาใช้งานอีก การทำร้าน E-Commerce ไม่ได้ทำเพื่อลูกค้าใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องการให้ลูกค้าที่เคยซื้อไปแล้วกลับมาซื้อซ้ำอีกครั้ง ซื้อมากขึ้นในโอกาสถัดไป ดังนั้น Feedback ต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญกับร้านเพื่อใช้ปรับปรุงร้านค้าและบริการเพื่อต้อนรับลูกค้าอีกครั้งในภายภาคหน้า

แม้สนามการค้าแบบ E-Commerce จะดุเดือด ใครต่อใครต่างลงสนามนี้เพื่อต้องการปิดการขายให้ได้มากที่สุดและเพิ่มยอดขายให้กับร้านตัวเองให้ได้มากกว่าคู่แข่ง แต่ต้องไม่ลืมการโฟกัสที่จะทำสินค้าให้แตกต่าง โปรโมชั่นที่เย้ายวนใจ การโปรโมทที่เข้าถึงกลุ่มคนที่สนใจ รวมทั้งราคาที่เป็นไปได้มากที่สุด และคุณภาพของสินค้าที่ดีเยี่ยม เพื่อไม่ให้ลูกค้าของเรากลายเป็นลูกค้าของคู่แข่งเราไปซะก่อน

Source : settrade.com, Heroleads, aun-thai.co.th

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา