Critical Thinking คือทักษะที่มีนิยามสุดคลุมเครือ พบเห็นได้ทั่วไปตาม Job Description หรือบทความด้านการทำงาน ลองมาดูกับว่าเอาเข้าจริงทักษะนี้คืออะไร? สำคัญแค่ไหนต่อการทำงานของเรา?
หลายคนที่กำลังมองหางานใหม่ๆ (หรือแม้แต่คนที่ทำงานอยู่) คงได้เห็นคำว่า Critical Thinking หรือ การคิดเชิงวิพากษ์ ผ่านหูผ่านตาในประกาศรับสมัครงานอยู่บ่อยครั้ง พูดได้ว่านี่คือหนึ่งในทักษะยอดฮิต ไม่ว่าตำแหน่งไหนก็มองหาคนทำงานที่เป็นนักคิดเชิงวิพากษ์กันทั้งนั้น
แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราเข้าใจในทักษะนี้มากแค่ไหน? เพราะเมื่อเทียบกับทักษะอื่นๆ เช่น การสื่อสาร การเจรจาต่อรอง การเป็นผู้นำ หรือดิจิทัล ต้องยอมรับว่าทักษะการคิดเชิงวิพากษ์มีนิยามความหมายที่ค่อนข้างจะคลุมเครือกว่าพอสมควรในสายตาของคนทำงาน
แล้วรู้หรือไม่ว่าสำหรับสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) แล้ว Critical Thinking แม้จะมีนิยามความหมายคลุมเครือ และไม่หวือหวามาแรงเท่าทักษะด้านดิจิทัล แต่ทักษะนี้กลับถูกมองว่าเป็น 1 ใน 5 ทักษะแห่งอนาคตที่เป็นที่ต้องการสูงในปี 2025 จากรายงานที่ทาง WEF ปล่อยออกมาก่อนหน้านี้
วันนี้ Brand Inside จะพาทุกท่านไปสำรวจหนึ่งทักษะสำคัญของการทำงานยุคใหม่อย่าง Critical Thinking ผ่านการวิเคราะห์ของหลากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ เพื่อไขคำตอบว่า Critical Thinking เอาเข้าจริงมีหน้าตาแบบไหน? สร้างประโยชน์ให้องค์กรอย่างไร? พร้อมกะเทาะเคล็ดความสำคัญว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถก้าวจากคนทำงานธรรมดาไปสู่การเป็นนักคิดเชิงวิพากษ์ได้
การคิดเชิงวิพากษ์ ที่จริงแล้ว คืออะไร?
หากลองตีความจากคำแล้ว การคิดเชิงวิพากษ์ อาจหมายถึง “ความสามารถในการใช้ความคิดเพื่อวิพากษ์และทบทวนสิ่งต่างๆ” แม้แต่สิ่งที่เป็นความคิดความเชื่อที่เหมือนจะเป็นความจริง เพื่อสร้างความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองใหม่ๆ ที่อาจดีกว่าเก่า
John W. Coleman นักลงทุน และนักเขียนของนิตยสาร Harvard Business Review นำเสนอนิยามของการคิดเชิงวิพากษ์ในบทความ Critical Thinking Is About Asking Better Questions ไว้คล้ายๆ กันว่า “เป็นความสามารถในการวิเคราะห์และแยกส่วนประเด็นต่างๆ ออกมาเพื่อตัดสินใจและหาทางออก โดยทักษะนี้อาจจะนำมาซึ่งมุมมองอันสดใหม่”
โดยเขาชี้ว่า หัวใจของการคิดเชิงวิพากษ์ คือความสามารถในการตั้งคำถามที่ “ลึกซึ้ง แตกต่าง แต่มีประสิทธิภาพ”
ส่วน WEF ก็ระบุเอาไว้ว่า “การคิดเชิงวิพากษ์ คือ ความสามารถในการใช้ตรรกะและเหตุผลเพื่อชี้จุดเด่นและจุดด้อยของวิธีการหรือข้อสรุปของปัญหาแบบต่างๆ รวมถึงเป็นความสามารถในการประเมินศักยภาพของตนเอง ผู้อื่น หรือองค์กร เพื่อปรับปรุงและแก้ไข”
นักคิดเชิงวิพากษ์ = เจ้าหนูจำไมตัวปัญหา?
ในโลกของการทำงานที่ความเร็วเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า การตั้งคำถามซ้ำๆ ต่อความคิด การตัดสินใจ หรือแนวทางการทำงาน เป็นการฉุดรั้งให้งานล่าช้าลงหรือไม่?
แต่หากเราลองมองการคิดเชิงวิพากษ์ว่าเป็น ‘การทบทวนตนเอง’ ‘ความไม่ยึดติดกับกรอบ’ หรือ ‘การมองสิ่งต่างๆ ในมุมใหม่’ ก็อาจจะช่วยให้เข้าใจว่าทักษะนี้คือหนึ่งในทักษะสำคัญในโลกการทำงานในฐานะเครื่องมือสร้างการตัดสินใจที่เฉียบคม รอบคอบ และรอบด้าน ซึ่งการทำงานแบบเอาเร็วเข้าว่าไม่สามารถให้ได้
Coleman เสนอว่า Critical Thinking คือทักษะที่สำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นในโลกของการทำงาน เพราะนายจ้างมักจะให้คุณค่ากับคนทำงานที่สามารถสร้างวิธีการที่ดีที่สุด ด้วยการแก้ปัญหาอย่างมีตรรกะและมองสถานการณ์ด้วยมิติที่หลากหลาย
การคิดเชิงวิพากษ์ ในโลกแห่งการทำงาน
คำถามสำคัญต่อมาก็คือ การมีนักคิดเชิงวิพากษ์ในองค์กรช่วยให้การทำงานดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง? The Black Sheep Community เว็บไซต์ชุมชนของผู้นำทางความคิดพูดถึงประโยชน์ของการมีทักษะนี้ติดตัวเอาไว้ทั้งต่อตนเองและองค์กร ดังนี้
- เป็นผู้นำที่ดีขึ้น
เนื่องจากคนส่วนใหญ่คาดหวังให้การตัดสินใจของคนในระดับหัวหน้าออกมาดีและผิดพลาดน้อยที่สุด และ Critical Thinking ก็สามารถทำให้คนทำงานกำหนดตั้งวิสัยทัศน์ออกมาได้อย่างชัดเจนเพราะสามารถเข้าใจแก่นสารของปัญหาที่กำลังพบเจออย่างชัดเจน อีกทั้งยังตั้งคำถามต่อวิธีการแก้ปัญหาแบบต่างๆ ด้วยมุมมองที่ครอบคลุมกว้างไกล
ความสามารถในการนำพาให้ทีมสามารถตัดสินใจได้อย่างถี่ถ้วนคือสิ่งที่นักคิดเชิงวิพากษ์สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรในฐานะของคนระดับหัวหน้า
- เป็นบ่อเกิดความสร้างสรรค์
การคิดเชิงวิพากษ์อาจดูห่างไกลกับความคิดสร้างสรรค์ แต่เอาเข้าจริงแล้วคนที่มีทักษะนี้มักจะตั้งคำถามต่อความคิด ความเชื่อ วิธีการ ไปจนถึงมุมมองแบบเดิมๆ อยู่เสมอ ดังนั้น การมีนักคิดเชิงวิพากษ์เอาไว้ในทีมจะช่วยให้ทีมไม่ยึดติดกับอะไรเดิมๆ นึกหาทางเลือกใหม่ๆ และเลือกสิ่งที่ใช่ที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ (ไม่ใช่เลือกวิธีการซ้ำๆ เดิมๆ ตลอดเวลา)
- ผลักให้เกิดทักษะการเรียนรู้ตลอดเวลา
สิ่งหนึ่งที่ผูกติดมากับการคิดเชิงวิพากษ์คือการมองสิ่งหนึ่งในมุมที่หลากหลายตลอดเวลา พวกเขาจึงมักตั้งข้อสงสัยหรือคิดทบทวนกับความรู้ มุมมอง หรือแนวทางการแก้ปัญหาเดิมๆ โดยความคิดแบบนี้จะช่วยกระตุ้นให้เปิดรับข้อมูลใหม่ๆ และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
คัมภีร์ปั้นทักษะการคิดเชิงวิพากษ์
หากเราอยากพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ หรือองค์กรต้องการสร้างบรรยากาศการทำงานที่สามารถบ่มเพาะนักคิดเชิงวิเคราะห์ขึ้นมา ควรเริ่มต้นอย่างไร John W. Coleman เคยพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ ดังนี้
- แก้ปัญหาแบบมีสมมติฐานเบื้องต้นแต่ไม่ยึดถือมากเกินไป ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนกระบวนคิดตลอดตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างทาง
- ฟังให้มากกว่าพูด เพราะการตั้งคำถามวิพากษ์ประเด็นที่เฉียบคม ต้องเริ่มจากการฟังที่สามารถจับแก่นสารและตรรกะที่ผู้พูดนำเสนอได้อย่างอยู่หมัด ที่สำคัญคือการฟังอย่างตั้งใจช่วยลดการใช้ความคิดแวบแรกในการตัดสินใจและใช้การคิดวิเคราะห์ที่ลึกขึ้นในการคิดแทน
- ตั้งคำถามปลายเปิด นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้ถามได้รับฟังมุมมองหรือวิธีคิดเพิ่มเติม ยังเป็นการทำให้ทีมที่ทำงานด้วยได้ลองใช้ความคิดเชิงวิพากษ์เพราะต้องพยายามให้เหตุผลเพื่อรองรับสิ่งที่ตนเสนออีกด้วย
- เคี่ยวปัญหาให้เหมือนทำเนื้อตุ๋น ไม่ใช่อาหารจานด่วน มีงานวิจัยบอกว่าการใช้เวลาในการใคร่ครวญ (ใช้ความคิดเชิงวิพากษ์) ถึงปัญหานานๆ ช่วยให้สมองสามารถซึมซาบ นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดีกว่า
- ตั้งคำถามสืบสาวต้นตอแบบยากๆ แม้อาจจะน่ารำคาญ แต่คำถามยากมักจะนำไปสู่การถามคำถามต่อไปเรื่อยๆ ถ้านึกภาพไม่ออกให้ลองนึกถึงเด็กที่พยายามถามพ่อแม่ว่า “ทำไม” ไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด คำถามแบบนี้จะเปิดโอกาสให้ได้ใช้ความคิดเชิงวิพากษ์ทบทวนว่าทางเลือกที่เลือกนั้นควรเลือกหรือไม่
สรุป
Critical Thinking หรือ การคิดเชิงวิพากษ์ คือหัวใจของการแก้ปัญหาซับซ้อนด้วยวิธีการที่สดใหม่และน่าสนใจ ผู้ที่มีทักษะนี้คือหัวหน้าผู้มีวิสัยทัศน์เฉียบคม คือนักคิดไอเดียบรรเจิด และเป็นนักเรียนตลอดชีวิต ที่พร้อมจะทำให้ผู้ร่วมงานได้ตั้งคำถามต่อความคิดเดิมๆ ซ้ำๆ และมองโลกในมุมใหม่ตลอดอยู่เวลา
ที่มา – HBR, Black Sheep Community, Entrepreneur, MasterClass
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา