วิธีคำนวณและยื่น ภาษีนิติบุคคล เจ้าของธุรกิจมือใหม่ต้องรู้

เจ้าของธุรกิจ SME รวมถึง Startup ล้วนแล้วแต่มีภาษีหลายรายการที่ต้องจัดการ หนึ่งในนั้นก็คือ ภาษีนิติบุคคล บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจ ตัวอย่างการคำนวณ และขั้นตอนการยื่นภาษีนิติบุคคลอย่างละเอียด

ภาษีนิติบุคคล คืออะไร

ภาษีนิติบุคคล มีชื่อเต็มว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคล หมายถึงภาษีที่เรียกเก็บจากบริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มีระยะเวลาในการยื่นแบบภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคมในปีถัดไป ในบางกรณีสามารถยื่นแบบภาษีครึ่งปีได้เพื่อเป็นการลดภาระการชำระภาษีของนิติบุคคล

บริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดที่มีหน้าที่เสียภาษีนิติบุคคล มีดังนี้
  1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
  2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
  3. กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้า หรือหากำไร
  4. กิจการร่วมค้า (Joint Venture)
  5. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล
  6. นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร
นิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษีนิติบุคคล มีดังนี้
  1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ตามสัญญาว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ หรือทางเทคนิคระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ
  2. บริษัทจำกัดที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
  3. บริษัทจำกัดและนิติบุคคลที่มีสภาพเช่นเดียวกับบริษัทจำกัดซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่าง ประเทศได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
  4. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย ตามเงื่อนไขที่กำหนดในอนุสัญญา

การคำนวณภาษีนิติบุคคล

เนื่องจากภาษีนิติบุคคลมีอยู่หลายแบบเราจะมาอธิบายกันทีละแบบอย่างละเอียด โดยเริ่มจากฐานภาษีที่จะนำมาคำนวณภาษีนิติบุคคลจะมีที่มาได้จาก 4 อย่างดังนี้

  1. กำไรสุทธิ
  2. ยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย
  3. เงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย
  4. การจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย

อัตราภาษีนิติบุคคล

กำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท : ยกเว้นภาษีนิติบุคคล
กำไรสุทธิเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท : 15%
กำไรสุทธิเกิน 3,000,000 บาท ขึ้นไป : 20%

การคำนวณภาษีนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.50)

รายได้และรายจ่าย
  • รายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี
  • ใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้รายได้และรายจ่าย
วิธีคำนวณภาษี
  • กำไรสุทธิ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องนำรายได้ และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีมาคำนวณ หากำไรสุทธิ เมื่อได้กำไรสุทธิแล้ว ให้นำไปคำนวณภาษี ตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี
หมายเหตุ
  • แนบงบการเงิน พร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.50
  • ขาดทุนสุทธิหรือไม่มีรายได้ก็ ต้องยื่นแบบ
  • สามารถนำภาษีที่ชำระแล้ว ตามแบบ ภ.ง.ด.51 และภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย มาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้
  • ยื่นแบบภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

ภาษี

การคำนวณภาษีนิติบุคคล ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแรก (ภ.ง.ด.51)

รายได้และรายจ่าย
  • รายได้และรายจ่ายในรอบ 6 เดือนแรก นับแต่วันเริ่มต้นของรอบระยะเวลาบัญชี
  • ใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้รายได้และรายจ่าย
วิธีคำนวณภาษี
  • ประมาณการกำไรสุทธิ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องประมาณการกำไรสุทธิจากรายได้ และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี
    แล้วนำกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิที่ได้ ไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
    จะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระครึ่งปี
  • กำไรสุทธิ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัทที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดให้นำรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแรกมาคำนวณหากำไรสุทธิ เมื่อได้กำไรสุทธิแล้วให้นำไปคำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
    จะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระครึ่งปี
หมายเหตุ
  • ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป เกินกว่าร้อยละ 25 จะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของภาษีจากกำไรสุทธิที่ประมาณการขาดไป แต่เงินเพิ่มอาจลดลง เสียสูงสุดไม่เกินร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษี
    ที่ชำระขาดไปได้ (ท.ป.81/2542)
  • ขาดทุนสุทธิหรือไม่มีรายได้ก็ต้องยื่นแบบฯ
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นใหม่และมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกน้อยกว่า 12 เดือน ไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบระยะเวลา บัญชีนั้น ตามมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
  • ยื่นแบบฯ ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

การคำนวณภาษีนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.52) 

ผู้ที่ต้องเสียภาษีประเภทนี้

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบการขนส่งผ่านประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย

รายได้และรายจ่าย
  • รายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี
  • ใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้รายได้และรายจ่าย
วิธีคำนวณภาษี
  • นำรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีมาคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 3 จะได้ภาษีที่ต้องชำระ
หมายเหตุ
  • รายได้ที่นำมาคำนวณภาษี
    • รายได้จากค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใด ที่เรียกเก็บในประเทศไทยเนื่องในการรับขนคนโดยสาร
    • รายได้จากค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใด ที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทย เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทย
  • รายได้อาจได้รับการยกเว้นภาษีหรือลดอัตราภาษี ตามอนุสัญญาภาษีซ้อน
  • ไม่มีรายได้ก็ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.52
  • ยื่นแบบภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี

การคำนวณภาษีนิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด.55) 

ผู้ที่ต้องเสียภาษีประเภทนี้

มูลนิธิหรือสมาคมที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีรายได้

รายได้และรายจ่าย
  • รายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชี
  • ใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้รายได้และรายจ่าย
วิธีคำนวณภาษี
  • นำรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีมาคำนวณภาษีอัตราร้อยละ 10 เว้นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากรให้คำนวณภาษีอัตราร้อยละ 2 จะได้ภาษีที่ต้องชำระ
หมายเหตุ
  • มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศให้เป็นองค์กรสาธารณะกุศลส่งรายงาน การประชุมใหญ่ งบดุล และบัญชีรายได้รายจ่าย ให้กรมสรรพากรทราบภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้าย ของรอบระยะเวลาบัญชี และไม่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.55
  • รายได้บริจาค ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงที่ได้จากสมาชิก ได้รับการยกเว้นภาษี
  • ไม่มีรายได้ก็ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.55
  • ยื่นแบบภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
  • หากมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย สามารถนำมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระได้

สถานที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล

ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (สรรพากรเขต/อำเภอ เดิม) ในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่

ในเขตต่างจังหวัด ให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอหรือกิ่งอำเภอท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ในกรณีสำนักงานสรรพากรอำเภอมิได้ตั้งอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอให้ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรอำเภอ

หมายเหตุ

การยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.50 , ภ.ง.ด.51 , ภ.ง.ด.53 และ ภ.ง.ด.54 สามารถยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก็ได้

หากวันสุดท้ายตรงกับวันหยุดราชการ ให้ขยายเวลายื่นแบบและชำระภาษีออกไปอีก 1 วัน

Source : iTAX, กรมสรรพากร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา