CEO คืออะไร ตำแหน่งสำคัญนี้ มีหน้าที่อะไรบ้าง ?

ทุกคนคงคุ้นเคยกับคำว่า CEO กันอยู่แล้วไม่ว่าจะจากที่ทำงาน ครอบครัว ละคร ซีรี่ย์ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่งตัวสุภาพ เนี้ยบ ฉลาดหลักแหลม รายล้อมไปด้วยผู้บริหารมากมาย ประชุมเช้าจรดเย็น ภาพลักษณ์เหล่านี้คือตัวอย่างของมุมมองที่เรามองเห็นตัว CEO แต่จริงๆ แล้วการเป็น CEO เป็นมากกว่าที่ทุกคนเห็น มาลองทำความรู้จักกับตำแหน่งที่มีทั้งคนอยากเป็นและไม่อยากเป็นในบทความนี้ไปพร้อมกันเลย

“CEO คืออะไร”

CEO หรือ “Chief Executive Officer” แปลเป็นไทยได้ว่า “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” พูดกันง่ายๆ ก็คือตำแหน่งที่สูงที่สุดในองค์กร เป็นหัวหน้าของทีมผู้บริหารอีกทีซึ่งทีมบริหารก็จะมีชื่อตำแหน่งที่ขึ้นต้นด้วยตัว C แตกต่างกันออกไปตามหน่วยงานที่ตัวเองดูแล เช่น Chief Finance Officer (CFO),  Cheif Operation Officer (COO), Cheif Technology Officer (CTO), Chief Product Officer (CPO) แล้วแต่โครงสร้างและอุตสาหกรรมของบริษัทนั้นๆ หลายองค์กรนั้นมี CEO ที่ไม่ใช่เจ้าของบริษัทหรือผู้ก่อตั้งกล่าวคือเป็นพนักงานเหมือนกัน มีการรับเงินเดือน โบนัส และ Benefit ต่างๆ เหมือนกันแต่ตำแหน่งงานนั้นคือ CEO ที่มีสิทธิตัดสินใจและรับผิดชอบการตัดสินใจในทุกเรื่องของบริษัท

CEO มีหน้าที่อะไรในองค์กร? 

แม้จะมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร แต่หน้าที่ของ CEO อาจแตกต่างกันไปตามแต่อุตสาหกรรม รูปแบบและขนาดของธุรกิจ ซึ่งหลักๆ แล้ว CEO จะมีหน้าที่ที่ต้องทำหลักๆ ดังนี้

  • เป็นผู้กำหนดทิศทาง วิสัยทัศน์ เป้าหมายขององค์กร เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว
  • วางแผน วิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับองค์กร เพิ่มสร้างรากฐานและความมั่นคงให้กับองค์กรและพนักงาน
  • รับผิดชอบการตัดสินใจของกรรมการบริหารองค์กรที่ส่งผลต่อการทำงานในภาพรวมขององค์กร
  • สร้างความสัมพันธ์อันดีกับนักลงทุน คู่ค้า พนักงาน
  • เป็นตัวแทนในการออกสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ไปยังสาธารณะชน
  • บริหารบุคลากรระดับผู้บริหารเพื่อให้ให้การดำเนินงานขององค์กรแต่ละหน่วยงานเป็นไปอย่างราบรื่น

ทักษะที่จำเป็นของการเป็น CEO ที่ดี

  • การบริหารจัดการความเสี่ยง

    เวลาเราทำธุรกิจหรือบริหารองค์กรล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงมากมายที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะเรื่องภาพลักษณ์หรือรายได้ ความเสี่ยงเหล่านี้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อองค์กรและพนักงาน

  • การบริหารจัดการคน

    เราคงไม่ชอบการที่ได้ยินว่าองค์กรของเรางานดี เงินดี แต่ทีมแย่ หัวหน้าแย่ เจ้านายแย่ เพื่อนร่วมงานแย่ ดังนั้นการบริหารจัดการคนตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงระดับพนักงานจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากนี้ยังเกี่ยวพันไปถึงการขยายจำนวนพนักงานเพื่อตอบรับกับขนาดขององค์กรที่เปลี่ยนไป

  • การตัดสินใจ

    ทักษะการตัดสินใจเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งเพราะทุกการตัดสินใจของ CEO มีผลต่อองค์กรทั้งองค์กรทันที รวมไปถึงการมีทีมที่ปรึกษาที่คอยช่วยตัดสินใจเรื่องยากๆ ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้บริหารหลายองค์กรใช้กันเพราะนอกจากจะเป็นการช่วยระดมความคิดแล้ว ยังเป็นการรับรองว่าการตัดสินใจของผู้บริหารนั้นส่งผลเสียต่อองค์กรน้อยที่สุดและได้รับประโยชน์มากที่สุดในเวลาเดียวกัน

  • การเรียนรู้และเท่าทันโลก

    สังคมโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในหลายๆ ประเทศ เรื่องราวเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งสำคัญต่อผู้บริหารทั้งนั้น เพราะส่งผลกระทบโดยตรงกับองค์กรรวมถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ก่อนหน้าอีกด้วย

  • การดึงดูดนักลงทุนและคนที่มีความสามารถเพื่อร่วมงานในอนาคต

    ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีนักลงทุน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมทางที่ดีจะช่วยให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ดังนั้นภาพลักษณ์ที่ออกไปสู่สาธารณะจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คอยดึงดูดคนที่อยากทำงานร่วมกับเรา รวมทั้งดึงดูดให้คนที่ทำงานร่วมกับเราไม่ถอดใจในการทำงานร่วมกับไปเราซะก่อน

  • การจัดการเวลา

    เป็นอีกทักษะที่ขาดไม่ได้เลยของ CEO นั่นก็คือการจัดการเวลา เพราะทุกวินาทีนั้นมีค่าเป็นอย่างมาก หลายคนชอบบอกว่า “สำหรับผู้บริหารนั้นเวลาทุกวินาทีล้วนเป็นเงินเป็นทอง” ดังนั้นการจัดการเวลาที่ดีจะช่วยให้ผู้บริหารไม่ต้องเหนื่อยและมีเวลาให้กับตัวเองในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าธุรกิจหรือองค์กรจะมีมีขนาดเล็กหรือใหญ่ มีพนักงานมากน้อยแค่ไหน ตำแหน่ง CEO นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นมากเพราะเป็นผู้คอยตัดสินใจและกำหนดอนาคตในเชิงกลยุทธ์ในภายภาคหน้าขององค์กร เพื่อให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและสร้างผลกำไรได้อย่างงอกงาม

Source : CEO คืออะไร? ตำแหน่ง Chief Executive Officer รับผิดชอบอะไรบ้าง – Finvestory

6 ทักษะ ของ CEO ที่จะช่วยให้ startups โตได้ 10 เท่า (disruptignite.com)

รู้จักใช้ CEO ทำงาน | Creative Talk (creativetalklive.com)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา