นับตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาด ทั่วโลกเผชิญกับไวรัสหลายสายพันธุ์ตั้งแต่สายพันธุ์เริ่มต้นจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มาจนถึงสายพันธุ์อัลฟา เดลตา และสายพันธุ์ล่าสุดอย่างโอมิครอนที่มีสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.4 และ BA.5
ในช่วงปี 2020-2022 ทั่วโลกอาศัยวัคซีน mRNA เป็นหลักในการป้องกันไวรัสโควิด-19 แต่เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ไปหลายสายพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จึงได้คิดค้นวัคซีน 2 สายพันธ์หรือ Bivalent Vaccine ขึ้นมาเพื่อให้ร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีนสร้างแอนติบอดีขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อไวรัสได้หลายสายพันธุ์
Bivalent Vaccine คืออะไร
วัคซีน 2 สายพันธุ์ประกอบด้วยสารพันธุกรรม mRNA ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม (Wuhan-Hu-1) และ mRNA ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอย่างละครึ่ง ซึ่งในส่วน mRNA ของสายพันธุ์โอมิครอน ปัจจุบันผู้ผลิตวัคซีนใช้สารพันธุกรรมจากสารพันธุ์ย่อยที่แตกต่างกันอย่างอาจจะเป็น BA.1 หรือ BA.4, BA.5 ขึ้นอยู่กับแผนการของบริษัทและสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดในประเทศที่รับวัคซีน
ขณะที่วัคซีน mRNA แบบเดิมจะมีเพียงส่วนประกอบจากโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนอยู่ในระดับต่ำ วัคซีนรุ่นที่ 2 อย่างวัคซีน bivalent นี้จะสามารถป้องกันโควิดทุกสายพันธุ์ได้ดีขึ้น
ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2022 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ประกาศอนุมัติใช้วัคซีน Bivalent ทั้งจาก Moderna และ Pfizer โดยสามารถฉีดได้ทั้งเป็นเข็มกระตุ้นเข็มที่ 2 หลังจากฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มแรกอย่างน้อย 2 เดือน หรือจะฉีดเป็นเข็มกระตุ้นหลังจากได้รับวัคซีนครบก็ได้ โดยจะใช้ Moderna กับบุคคลที่มีอายุครบ 18 ปีขึ้นไป ขณะที่ Pfizer สามารถใช้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปก่อนจะประกาศให้เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปสามารถรับวัคซีนได้ในภายหลัง
Bivalent Vaccine มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่
FDA ของสหรัฐอเมริกาได้วิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มคน 600 คนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไปโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม > วัคซีน Moderna ดั้งเดิม (เข็มกระตุ้นที่ 1) > วัคซีน Moderna ดั้งเดิม (เข็มกระตุ้นที่ 2)
- กลุ่มที่ 2 ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม > วัคซีน Moderna ดั้งเดิม (เข็มกระตุ้นที่ 1) > วัคซีน Moderna แบบ Bivalent (เข็มกระตุ้นที่ 2)
โดยทั้ง 2 กลุ่มได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 2 อย่างน้อย 3 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มแรก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าหลังจากฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 2 ครบ 28 วัน ระบบภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 ของผู้ที่ฉีดวัคซีน Bivalent ตอบสนองได้ดีกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA รุ่นแรกหรือแบบสายพันธุ์เดียว (Monovalent Vaccine)
ประสิทธิภาพของวัคซีน Bivalent ของ Pfizer ได้รับทดสอบในลักษณะเดียวกัน โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มคนราว 600 คนที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป
- กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม > วัคซีน Pfizer ดั้งเดิม (เข็มกระตุ้นที่ 1) > วัคซีน Pfizer ดั้งเดิม (เข็มกระตุ้นที่ 2)
- กลุ่มที่ 2 ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม > วัคซีน Pfizer ดั้งเดิม (เข็มกระตุ้นที่ 1) > วัคซีน Pfizer แบบ Bivalent (เข็มกระตุ้นที่ 2)
โดยทั้ง 2 กลุ่มได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 2 หลังจากฉีดเข็มแรกไปแล้วตั้งแต่ราว 5-13 เดือน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าหลังจากฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 2 ครบ 1 เดือน ระบบภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 ของผู้ที่ฉีดวัคซีน Bivalent ตอบสนองได้ดีกว่าผู้ที่ฉีดวัคซีน mRNA แบบสายพันธุ์เดียว
ส่วนเรื่องความปลอดภัยและผลข้างเคียงของพบว่า วัคซีน Bivalent มีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างเหมือนกับวัคซีน mRNA รุ่นแรก คือ ผู้ที่รับวัคซีนมีอาการเจ็บ ปวด มีรอยแดงและบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน อาการเมื่อยล้า ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หนาวสั่น ต่อมน้ำเหลืองบนแขนข้างที่ฉีดวัคซีนบวม รวมทั้งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียณ และเป็นไข้
อย่างไรก็ตาม การวัดประสิทธิภาพของวัคซีนเป็นไปได้ยากเพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งจากกระบวนการการทดสอบเองที่มีหลายเฟสทั้งการทดสอบในสัตว์และคน ทั้งจากสถานการณ์ของโรคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้ง Pfizer และ Moderna จึงต้องใช้วิธีการเปรียบเทียบภูมิคุ้มกันแทน
ไทยจะได้ใช้ Bivalent Vaccine ไหม
ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาซึ่งที่เป็นประเทศแรกที่ฉีดวัคซีน Bivalent ได้ขยายการฉีดวัคซีนรุ่นใหม่นี้ไปยังเด็กเล็กแล้ว เท่ากับว่าพลเมืองของสหรัฐอเมริกาทุกกลุ่มสามารถรับวัคซีนชนิดใหม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นอีกที่อนุมัติใช้วัคซีนแล้ว โดยวัคซีน Bivalent ของ Moderna ได้รับการอนุมัติใช้แล้ว 38 ประเทศ ส่วนวัคซีน Bivalent ของ Pfizer ได้รับการอนุมัติแล้วใน 35 ประเทศ ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ covid19.trackvaccines.org
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลยังไม่มีทีท่าว่าจะนำวัคซีน 2 สายพันธุ์เข้ามาเท่าไรนัก โดยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2022 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ จากกรมควบคุมโรคแนะนำว่าให้ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 เพราะสามารถป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้มากกว่า พร้อมทั้งระบุว่าวัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอวัคซีน Bivalent ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นใหม่
แม้ว่ากรมควบคุมโรคจะระบุว่าไทยมีแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัว แต่วัคซีน Bivalent อาจจะเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะเมื่อจีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมาและเริ่มมีนักท่องเที่ยวจีนบางส่วนทยอยเข้ามาในประเทศไทยแล้ว
หลายประเทศกำหนดมาตรการคัดกรองโควิด-19 กับนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงสหรัฐอเมริกาที่มีความกังวลว่าข้อมูลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากทางฝั่งจีนเป็นข้อมูลที่ไม่โปร่งใสเพราะให้ข้อมูลไม่เพียงพอถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศและไม่มีข้อมูลเรื่องสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในจีน
การขาดข้อมูลเรื่องสายพันธุ์ของโควิด-19 ในประเทศจีนยิ่งทำให้วัคซีน Bivalent มีความสำคัญมากขึ้นเพราะมีโอกาสที่จะป้องกันสายพันธุ์โอมิครอนได้ดีกว่าการฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนรุ่นแรกโดยเฉพาะต่อไทยซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวจีน
ทั้งนี้ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำเข้าวัคซีน Bivalent พร้อมกำหนดมาตรการอย่างเข้มงวดต่อนักท่องเที่ยวจีนเหมือนที่หลาย ๆ ประเทศทำ แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่ารัฐบาลจะนำวัคซีน 2 สายพันธุ์เข้ามาแม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและสิงคโปร์จะใช้ Bivalent แล้วเรียบร้อย ไม่แน่ว่าไทยจะได้ใช้วัคซีน Bivalent นี้เมื่อไรแต่อาจจะไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้
อ้างอิง – Pfizer, US FDA, กระทรวงสาธารณสุข, บีบีซี, TIME
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา