เรียนรู้และเข้าใจ 5G แบบง่ายๆ กับเหตุผลที่ต้องจัดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า

เริ่มมีการพูดถึงเทคโนโลยี 5G กันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ IoTs กลายเป็นกระแส Talk of the Town ในเวลานี้ นั่นแสดงว่า การจะทำให้สิ่งของต่างๆ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ หรือแม้แต่การใช้งานอื่นๆ 5G คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ

ในงาน Unlock 5G Spectrum towards sustainable Thailand 4.0 มีการหารือเกี่ยวกับ 5G อยู่หลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือ การทำความเข้าใจ 5G แบบง่ายๆ โดย เอมมานูเอลา เลคคี หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ จาก GSMA

เข้าใจและเตรียมพร้อมสำหรับ 5G

ใครที่ใช้งาน 3G และ 4G มาแล้ว คงจะรู้วา่มันคือการขยายช่องสัญญาณให้ความเร็วอินเทอร์เน็ตไร้สายสามารถรองรับปริมาณข้อมูลได้มากๆ หรือ “เร็วขึ้น” นั่นเอง โดย 4G นั้นหากไม่มีการแชร์ใช้งาน อาจวิ่งด้วยความเร็วได้สูงหลายร้อยเมกะบิตต่อวินาที

แต่สำหรับ 5G คือความเร็วที่ระดับ 1กิกะบิตต่อวินาที (1Gbps) และมีความเสถียรอย่างมาก เพื่อให้สามารถใช้งานใน IoTs ได้ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ ที่มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ความแม่นยำ และการไปถึงจุดหมายปลายทาง รวมถึงการใช้งาน IoTs อื่นๆ ในอนาคตที่ต้องการการทำงานแบบอัตโนมัติ

แต่การใช้งานโดยรวมแล้ว ยังไงก็ต้องผสานรวมกับ 4G เพื่อช่วยให้การเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพสูงสุด ถือว่า 5G จะมาเปลี่ยนรูปแบบของอุตสาหกรรมจากเดิม

ในปี 2012 มีการใช้งาน IoTs ทั่วโลก 142 ล้านการเชื่อมต่อ แต่ในปี 2020 จะมีเพิ่มเป็น 975 ล้านการเชื่อมต่อ ที่สำคัญการเชื่อมต่อจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ขณะที่การใช้งานข้อมูลผ่านโมบายทั่วโลกเมื่อปี 2014 อยู่ที่ 2.6EB ต่อเดือน (EB คือ Exabyte = ประมาณพันล้านกิกะไบต์) และจะเพิ่มเป็น 15.9EB ต่อเดือนในปี 2018

เตรียมรองรับ 5G ประเทศไทยต้องวางแผน เตรียมประมูลคลื่นล่วงหน้า

5G คือเทคโนโลยีใหม่ และจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ใหม่ที่มีขนาดแบนด์วิธกว้างมาก (เทียบได้กับถนนขนาดใหญ่) ซึ่งมีการมองไว้ 3 ย่าน คือ ต่ำกว่า 1GHz, 1-6GHz และ สูงกว่า 6GHz ขึ้นไป เป็นหนึ่งในเหตุผลว่า ทำไมประเทศไทยควรมีแผนจัดสรรคลื่นความถี่ และควรกำหนดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ล่วงหน้า

อันดับแรก ไทยต้องจัดสรรย่านความถี่เพื่อใช้ในกิจการโทรคมนาคม โดยต้องกำหนดไว้ในแผนจัดสรรคลื่นความถี่ จากนั้นควรกำหนดให้มีการประมูลล่วงหน้าอย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเตรียมความพร้อมทางการลงทุนและทำแผนธุรกิจ และยังเป็นผลดีกับบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จะได้มั่นใจว่าอนาคตจะมีคลื่นความถี่มารองรับนวัตกรรมใหม่ๆ

“นี่คือความท้าทายของรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลอย่างยิ่ง คลื่นความถี่ที่จะใช้เป็นกุญแจสำคัญที่ต้องมีการกำหนดแผนจัดสรรคลื่นความถี่”

5G กับความเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เกิดในต่างประเทศ

หากเป็นไปตามแผน 5G จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใน 5 ด้านสำคัญ คือ สร้างการเชื่อมต่อที่ไม่จำกัด, สร้างสรรค์นวัตกรรมทางเศรษฐกิจ, ขยายพลังอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง, สร้าง IoTs และปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งทางกว้างและทางลึก

ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มีแผนคลื่นความถี่สำหรับ 5 ปี และมีการรีวิวเพื่อจัดพิมพ์ใหม่ทุกปี เพื่อดูว่ามีความต้องการใช้งานคลื่นความถี่ในด้านใดบ้าง เช่นเดียวกับ นิวซีแลนด์ ที่มีการทำแผน 5ปี และมีการรีวิวเป็นประจำทุกปี มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นแผนที่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน

ERICSSON เริ่มทดลองให้บริการ 5G แล้ว 2 ย่านความถี่

ในงานนี้ทาง ERICSSON ระบุว่า เวลานี้ ITU ยังไม่กำหนดคลื่นความถี่สำหรับเทคโนโลยี 5G อย่างเป็นทางการ แต่ผู้ผลิตทั่วโลกต่างเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่ย่าน 3-6GHz ซึ่งมีขนาดแบนด์วิธใหญ่มากพอที่จะรองรับข้อมูลปริมาณมากๆ ได้ อีกย่านคือ 28GHz และทำให้ต้องใช้เทคโนโลยีในการส่งคลื่นแบบใหม่ แต่ก็เป็นระยะทางไม่เกิน 1 กิโลเมตร

สำหรับประเทศที่มีการทดลองใช้งานแล้ว เช่น เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และจีน โดยทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ระบุว่าจะเริ่มต้นใช้งาน 5G อย่างเป็นทางการในปี 2020 หรืออีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา