ถอดรหัส Warrix กับภารกิจปั้นแบรนด์อุปกรณ์กีฬาไทยเขย่าตลาดอาเซียน

มูลค่าตลาดอุปกรณ์กีฬาในไทยอยู่ราว 30,000 ล้านบาท และมั่นไม่ง่ายเลยที่จะแข่งขัน เพราะมีทั้งอินเทอร์แบรนด์ และแบรนด์ท้องถิ่นย่อยๆ ครองตลาดอยู่ แล้วทำไม Warrix ถึงใช้เวลาเพียง 6 ปีก็ทำยอดขายได้ 660 ล้านบาทล่ะ

เสื้อทีมชาติไทย 2018
Warrix // ภาพจากเว็บไซต์ Warrix

30,000 ล้านบาทที่โตแบบช้าๆ แต่ไม่ใช่กับ Warrix

หนึ่งในแบรนด์อุปกรณ์กีฬาที่ถูกจับตามองในประเทศไทยตอนนี้ก็คือ Warrix เพราะนอกจากใช้เงิน 400 ล้านบาทประมูลสิทธิ์ในการเป็นผู้จัดจำหน่ายชุดฟุตบอลทีมชาติไทยตั้งแต่ปี 2560-2563 จนมีชื่อเสียงผ่านช่องทางนั้นแล้ว ตัวสินค้าอื่นก็ผลิตออกมาก็ได้รับความนิยมอย่างมาก ผ่านการออกแบบที่ทันสมัย และราคาไม่แรงจนเกินไปนัก

วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด เล่าให้ฟังว่า ตลาดรวมอุปกรณ์กีฬาในประเทศไทยนั้นเติบโตอย่างช้าๆ ไม่ได้หวือหวาหนัก แม้แบรนด์ต่างๆ จะส่งสินค้าเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งฝั่งอินเทอร์แบรนด์ และแบรนด์ท้องถิ่น แต่ถึงจะมีสินค้าเข้ามามากมาย แต่ก็ยังมีช่องว่างของตลาดอยู่บ้าง

“ถ้ามองแค่สินค้าอุปกรณ์กีฬา การแข่งขันมันก็สูง ผ่านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยขึ้น และการทำตลาดของอินเทอร์แบรนด์ที่หนักหน่วง แต่นั่นนับไม่ได้เลยกับการแข่งขันของกลุ่ม Sportswear ที่เป็นกระแสอยู่ตอนนี้ เพราะมันแข่งกันแบบสุดๆ ทั้งเรื่องการออกแบบ และการวางภาพลักษณ์ แต่ถ้า Warrix เจาะเข้าไปในตลาดนี้ได้มันก็คือโอกาสมหาศาล”

Sportswear กับอนาคตใหม่ของแบรนด์ Warrix

เมื่อตลาดฝั่งอุปกรณ์กีฬานั้นเติบโตไม่หวือหวา ก็ไม่แปลกที่ Warrix ที่มีเป้าหมายรายได้อีก 5 ปีข้างหน้าที่ 2,000 ล้านบาท หลังปีนี้คาดว่าจะปิดที่ 660 ล้านบาท และปี 2562 ตั้งเป้า 800 ล้านบาท ต้องเดินเกมใหม่คือการรุกตลาดสินค้า Sportswear และเสื้อออกกำลังกายสำหรับผู้หญิงเพิ่มเติมจากชุดฟุตบอล และเสื้อออกกำลังกายแบบอื่นๆ

“ปี 2562 ทาง Warrix จะเปิดตัวแบรนด์ย่อยอีก 2 แบรนด์คือ แบรนด์ Sportswear ที่ผลิตเครื่องแต่งกายสำหรับใส่ลำลอง ราคาราว 1,000-2,000 บาท เพื่อรับกระแสการแต่งตัวแนว Sport ที่มาแรงในตอนนี้ และอีกแบรนด์คือแบรนด์เสื้อออกกำลังกายสำหรับผู้หญิง เพราะกลุ่มลูกค้าเราเป็นผู้หญิงเพียง 15% ของยอดขาย”

ขณะเดียวกันการเดินตลาดแบรนด์ใหม่นี้ Warrix ก็เตรียมขยายช่องทางเพิ่มเติม เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นช่องทางที่ร่วมกับค้าปลีก, การเปิด Brand Shop ที่บริหารเองตามห้างสรรพสินค้า และการลงทุนช่องทาง Online กว่า 50 ล้านบาทเพื่อขยายคลังสินค้า, เชื่อมต่อระบบขนส่ง และปรับรูปแบบเว็บไซต์

ไม่ยึดติดกับการจำหน่ายสินค้าทีมชาติ-สโมสร

“ถึงคนจะยึดติดภาพว่าความสำเร็จของเรามาจากการได้สิทธิ์จำหน่ายเสื้อฟุตบอลทีมชาติไทย แต่จริงๆ แล้วรายได้จากการจำหน่ายสินค้า License หรือชุดทีมชาติ และทีมสโมสรนั้นคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ส่วนของยอดขาย Warrix แสดงให้เห็นว่าสินค้าอุปกรณ์กีฬาของเราทั้งเสื้อผ้า และรองเท้านั้นได้การยอมรับจากผู้บริโภคชาวไทยอย่างแท้จริง”

อย่างไรก็ตาม Warrix ก็ยังทยอยเจรจาการเป็นสปอนเซอร์เสื้อฟุตบอลทีมชาติ และสโมสรในระแวกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกครั้งที่มีโอกาส ล่าสุดคือการได้สิทธิ์ทำเสื้อฟุตบอลทีมชาติเมียนมาเป็นเวลา 6 ปี 2 เดือน (เริ่ม 1 พ.ย. 2561) และอยู่ระหว่างเจรจาทำเสื้อทีมชาติอีก 2 ทีมในปี 2562 ด้วย ส่วนสโมสรในไทยก็มี 8 ทีมด้วยกัน

ทั้งนี้เพื่อให้เป้าหมายรายได้ 2,000 ล้านบาทใน 5 ปี และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ให้ได้เร็วที่สุด (เป้าเดิมปี 2561) Warrix จึงตั้งทีมขายในต่างประเทศขึ้นมา และตอนนี้มีตัวแทนจำหน่ายในเมียนมา, สิงคโปร์ และมาเลเซียแล้ว ส่วนยอดขายยังแค่ 15% เพราะหลักๆ มาจาก Online กับ Traditaional Trade อย่างละมากกว่า 30%

สรุป

เห็นอย่างนี้แล้วก็น่าจับตามองว่าอนาคตของ Warrix จะเป็นอย่างไร เพราะหากนับไปอีก 5 ปี บริษัทก็มีอายุแค่ 10 กว่าปี แต่สามารถทำรายได้เทียบเท่ารุ่นพี่อย่าง FBT และ Grand Sport ที่มียอดขายราว 2,000 ล้านบาทได้เหมือนกัน ประกอบกับแนวคิดในการทำตลาดไม่ให้เสื้อกีฬาใส่ได้แค่เล่นกีฬา ก็ทำให้ Warrix นั้นแข็งแกร่งได้

แม้ไม่ได้สิทธิ์ในทีมชาติไทยแล้วก็ตาม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา