ปัจจุบันสินค้ากลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกควบคุมราคาโดยภาครัฐ แม้วัตถุดิบต่าง ๆ จะปรับขึ้นราคาต่อเนื่องตั้งแต่การเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครน เช่น แป้งสาลี และน้ำมันพืช ยิ่งมาเจอกับการปรับขึ้นค่าสาธารณูปโภค และค่าแรง ทำให้ผู้เล่นในตลาดนี้มีปัญหา แต่ ไวไว กลับเตรียมแก้เกมถูกคุมราคาสินค้าด้วยการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแนวใหม่
นั่นคือที่มาของการนำ บะหมี่เปลือย หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ไม่มีเครื่องปรุง และขายเป็นแพ็กใหญ่ มาจำหน่ายคู่กับ ผงปรุงรสแพ็กใหญ่ ที่ปกติจะอยู่ในซอง หรือกระป๋องบะหมี่กี่งสำเร็จรูป ซึ่งการทำแบบนี้จะไม่ถูกควบคุมราคาจากนโยบายภาครัฐ เพราะเป็นสินค้าที่ถูกคุมราคานั้นต้องมีผงปรุง กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่ในบรรจุภัณฑ์เดียวกัน
การทำตลาดแนวใหม่นี้จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับ ไวไว อย่างไรบ้าง และการแก้เกมถูกคุมราคา ไวไว จะมีกลยุทธ์อื่นมาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจหรือไม่ ยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิต และจำหน่ายเส้นหมี่อบแห้ง ไวไว อธิบายไว้ดังนี้
ไวไว การถูกควบคุมราคาสินค้า
ยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด เล่าให้ฟังว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซองปัจจุบันถูกคุมราคาอยู่ที่ 7 บาท และเป็นการคุมแค่ฝั่งผู้ผลิตในประเทศไทย ต่างกับแบรนด์ต่างประเทศที่นำเข้ามากลับไม่ถูกควบคุม จึงสร้างความยากในการทำตลาดตอนนี้
“เราขอให้ขึ้นเป็น 8 บาทก็ไม่ได้ จะทำสินค้าแบบพรีเมียมก็ยังถูกควบคุม ต่างกับแบรนด์ต่างชาติที่ทำได้เต็มที่ ซึ่งเบื้องต้นเราจะทำตลาดสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพรีเมียมมากขึ้นในราคาไม่ถึง 15 บาท และจะได้เห็นภายในปี 2024 คู่ไปกับปัญหาเรื่องต้นทุนต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น วัตถุดิบ, ค่าแรง และค่าสาธารณูปโภค”
- กระทรวงพาณิชย์อนุมัติขึ้นราคา มาม่า-ยำยำ-ไวไว เพิ่ม 1 บาท จากเดิม 6 บาท เป็น 7 บาท มีผลพรุ่งนี้ 25 สิงหาคม
- เปิดความท้าทายของ “ไวไว” แม้เป็นรอง แต่ก็อยากเป็น Generic Name บ้าง
ไวไว แก้เกมการถูกควบคุมราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปด้วยการหันมาจำหน่ายสินค้าพรีเมียม เช่น แบบถ้วย และอื่น ๆ ที่มีรสชาติแตกต่าง รวมถึงการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับสินค้าบะหมี่เปลือย หรือบะหมี่เหลืองพร้อมปรุง กับเส้นหมี่ขาวพร้อมปรุง โดยจะจำหน่ายในรูปแบบแพ็กหลายชิ้น เป็นต้น ส่วนพนักงานของ ไวไว ปัจจุบันมีทั้งหมด 4,000 คน
รุกขายบะหมี่เปลือย ควบผงปรุงรส
ล่าสุด ไวไว เตรียมเปิดตัว ผงปรุงรส ที่ปกติจะอยู่ในซอง หรือถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาจำหน่ายในรูปแบบแพ็กใหญ่ คล้ายกับหมี่เปลือย เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกซื้อสินค้าในปริมาณมาก และบริษัทไม่ต้องถูกควบคุมราคาจำหน่าย เพราะการควบคุมจะมีเฉพาะสินค้าบรรจุซอง
“ในปี 2024 เราจะบุกตลาดนี้มาขึ้น ผ่านการจำหน่ายควบคู่กันระหว่างหมี่เหลืองเปลือย กับหมี่ขาวเปลือย และผงปรุงรส” ยศสรัล กล่าว แต่บริษัทยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของผงปรุงรสว่าจะทำตลาดภายใต้แบรนด์ใด และจะจำหน่ายช่องทางใดบ้าง
ขณะเดียวกัน ตลาดหมี่เหลือง และหมี่ขาวเปลือย ยังสามารถใส่นวัตกรรมต่าง ๆ เข้าไปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ เช่น ใส่ไฟเบอร์ หรือเส้นหมี่ข้าวกล้อง ซึ่งวิธีนี้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนเพิ่มของบริษัทได้เช่นกัน แต่ถึงอย่างไรกลุ่มเส้นหมี่เปลือยเพิ่มมูลค่ายังคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับเส้นหมี่ที่บริษัททำตลาด
ชูเบอร์ 1 ตลาดเส้นหมี่อบแห้งในไทย
ยศสรัล ย้ำว่า ปัจจุบันแบรนด์ ไวไว คือเบอร์ 1 ในตลาดเส้นหมี่อบแห้งของไทยเมื่ออ้างอิงการสำรวจของบริษัทวิจัยนีลเส็น แต่การสำรวจนี้รวมเอาวุ้นเส้น และเส้นบะหมี่เหลือง รวมถึงไม่ได้สำรวจในทุกช่องทาง เช่น ไม่มีข้อมูลจากร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
“แม้ข้อมูลจะไม่ชัดเจน แต่ ไวไว คือเบอร์ 1 ของตลาดเส้นหมี่อบแห้ง ผ่านยอดขายในโมเดิร์นเทรด และความนิยมจากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงในฝั่งผู้ประกอบการที่เลือกใช้ของ ไวไว โดยมูลค่าของตลาดเส้นหมี่มีมูลค่าราว 10 หลัก ส่วนคู่แข่งของเราก็มีทั้งแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก และรายย่อยที่จำหน่ายในรูปแบบเส้นสด”
เพื่อตอกย้ำผู้นำ ไวไว จึงเปิดตัว เส้นหมี่ไวไวไฟเบอร์สูง เน้นทำตลาดกับกลุ่มคนรักสุขภาพ โดยตั้งเป้ายอดขายจากสินค้านี้ 100 ล้านบาท ในปี 2024 และใช้งบการตลาดเพื่อสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ ผ่านออนไลน์ราว 20 ล้านบาท โดยปัจจุบันยอดขายเส้นหมี่ไวไวมาจากฝั่งผู้ประกอบการ 60% และที่เหลือมาจากผู้บริโภคทั่วไป
อ้างอิง // ไวไว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา