แม้เรายังอยู่ในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่จางหาย และยังไม่สามารถค้นพบวัคซีนป้องกันได้ เศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง ผลประกอบการไตรมาส 2 ที่ธุรกิจได้รับผลกระทบกันเต็มๆ ยังไม่ออกมา เศรษฐกิจยังไม่รู้ว่าจะฟื้นตัวได้รวดเร็วแค่ไหน แต่ดัชนีตลาดหุ้นในหลายประเทศ ทั้งในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ของไทยที่ได้ทรุดตัวลงจากเหตุการณ์ดังกล่าว กลับมีการฟื้นตัวขึ้นมาในแทบจะเป็นแบบ “V Shape” คือ ดีดกลับไปเกือบถึงระดับก่อนมีการระบาดของไวรัสนี้ เลยชักงงว่า ตลาดทุนมองข้ามชอตไปแล้ว หรือมันขาดความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจกันแน่
ก่อนที่พยายามหาคำตอบสำหรับคำถามข้างต้น หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “VUCA” ซึ่งเป็นคำย่อที่มาจากหลายคำประกอบกัน คือ
- Volatility: ความผันผวน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว โดยเฉพาะการเป็นผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
- Uncertainty: ความไม่แน่นอน เกิดขึ้น เพราะเราคาดการณ์อะไรได้ลำบากกว่าเดิม เพราะสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราอาจไม่เคยเจอมาก่อน
- Complexity: ความซับซ้อน เกิดขึ้นจากการที่มีปัจจัยหลายอย่างที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น โดยเราอาจรู้หรือไม่รู้ และเริ่มมีความซับซ้อนมากจนยากที่จะวิเคราะห์ และหาเหตุผลมาอธิบายได้อย่างชัดเจน และ
- Ambiguity: ความคลุมเครือ เราไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนมา เพื่อปะติดปะต่อหาคำอธิบาย และทำความเข้าใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้
ดังนั้นเมื่อโลกมีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ การสื่อสารและเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ของ ความปั่นป่วนแบบ VUCA จึงเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะแรงกระเพื่อมของเหตุการณ์ใดๆ จากที่หนึ่งจะสามารถกระจายออกสู่ที่อื่นได้อย่างรวดเร็ว และจากเหตุการณ์ของการระบาดของโควิด-19 เราจึงเจอตลาดทุนแบบ VUCA ดังนี้
Volatility: ความผันผวนสูงเป็นอย่างมาก ตลาดหุ้นผันผวนรุนแรงจนต้องหยุดพักซื้อขายกันชั่วคราว หรือเรียกว่า “ติดเซอร์กิตเบรกเกอร์” กันหลายครั้งจนตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องปรับเกณฑ์เซอร์กิตเบรกเกอร์และซิลลิ่งฟลอร์ เพื่อลดความผันผวนของตลาดหุ้น แม้แต่ตลาดตราสารหนี้ยังผันผวนรุนแรง
Uncertainty: ความไม่แน่นอนเพิ่มสูงมากและคาดการณ์ได้ลำบาก เราเจอมาตรการปิดประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาโรคระบาด ทำให้ไม่มีการเคลื่อนย้ายผู้คนและการท่องเที่ยว เชื่อว่าคนในรุ่นนี้ คงไม่เคยคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นได้ และยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร
Complexity: รัฐบาลทุกประเทศมีการใช้นโยบายทางการเงินอัดฉีดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหากันในทุกรูปแบบ และในขณะเดียวกันยังมีการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศเสริมมาอีก และหลายประเทศก็เริ่มมีแนวคิดที่จะต้องหันไปพึ่งตนเองค้าขายท่องเที่ยวกันแต่ในประเทศมากขึ้น และลดการพึ่งพิงต่างชาติ เพราะเชื่อว่าโลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองจะมีความซับซ้อนยิ่งมากขึ้น
Ambiguity: ผลกระทบของมาตรการต่างๆ ที่เราพบเจอมันยากที่จะทำความเข้าใจได้ เราเห็นว่า เศรษฐกิจถดถอยลงแน่ๆ และทิศทางการฟื้นตัวก็ยังไม่ชัดเจน แต่ตลาดทุนกลับไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงนี้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า จริง หรือว่าเป็นการมองข้ามวิกฤตไปแล้ว เพราะเป็น leading indicator หรือเป็นเพราะสภาพคล่องในตลาดทุนยังคงล้นเหลือ เงินไม่มีที่ไป ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริง กลับเจอสภาพเงินฝืด
ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะหาคำอธิบายและคาดการณ์สภาวะตลาดทุนได้เหมือนเมื่อก่อน อย่างล่าสุดที่สหรัฐอเมริกาที่ยังไม่เห็นว่า โควิด-19 รอบ 1 ยังไม่ทันได้ลดลงเลย แถมยังมีความวุ่นวายประท้วงทั่วประเทศ กรณีการเสียชีวิตของ George Floyd เพิ่มขึ้นมาอีก แต่รัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายทยอยเปิดประเทศและธุรกิจมากขึ้น ตลาดหุ้นดาวโจนส์มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตลอด แค่นี้ก็งงแล้ว แต่อยู่ดีๆ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผานมา ดัชนีดาวโจนส์ ก็ปรับตัวลดลงคืนเดียวถึง 6.9% หรือ -1,861 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงที่แรงสุดในปี 2020 ด้วยปัจจัยความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในสหรัฐอเมริกา อะไรมันจะพลิกผันกันรวดเร็วขนาดนี้ ดังนั้นสภาวะตอนนี้ทำให้ดูเหมือนตลาดทุนปรับตัวขึ้นลงกัน โดยขาดความเชื่อมโยงกับสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง
การลงทุนในตลาดทุนในยุค VUCA นี้ นักลงทุนอาจต้องรู้จักมีความอนุรักษ์นิยมมากขึ้นกว่าสมัยก่อน ต้องบริหารความเสี่ยงกันให้มากกว่าเมื่อก่อน และต้องรู้จักประเมินความเป็นไปได้ของกรณีเลวร้ายต่างๆ ให้มากขึ้น และเตรียมแผนรองรับไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสำรองสภาพคล่องที่มากขึ้น, การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังตราสารต่างๆ มากขึ้น เพราะในยุค VUCA นี้ โลกจะยังผันผวนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และยังอาจมีเหตุการณ์ที่นอกเหนือการคาดการณ์มาทำให้ประหลาดใจกันได้อีก แต่ที่แน่ๆ คือ ความรวดเร็วและรุนแรงของผลกระทบเหล่านี้ ดูเหมือนจะมากขึ้นเรื่อยๆ และหยุดได้ลำบากมากขึ้น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา