ภาพรวมตลาดไอทีเริ่มกลับมาทรงตัวหลังจากเติบโตก้าวกระโดดในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ไอทีดิสทริบิวเตอร์จึงต้องเริ่มปรับตัวเพื่อประคองภาพรวมธุรกิจให้เติบโตกว่าตลาด หนึ่งในนั้นคือ บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด หรือ VST ECS ไอทีดิสทริบิวเตอร์รายใหญ่ที่ขอขายมากกว่าสินค้าไอที แต่คือทุกสินค้าที่มีนวัตกรรม
เนื่องจากสินค้าไอทีดั้งเดิม เช่น คอมพิวเตอร์, สมาร์ตโฟน รวมระบบเซิร์ฟเวอร์ และเน็ตเวิร์กต่าง ๆ มีการแข่งขันที่สูง และมีส่วนต่างกำไรที่ค่อนข้างน้อย ทำให้การไปหาสินค้าใหม่ ๆ ที่เน้นไลฟ์สไตล์ เช่น ห้องน้ำแมว กับจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่ยังมีโอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้าง และเป็นสินค้าที่คนรุ่นใหม่เปิดใจซื้อ
นอกจากการเดินหน้าจำหน่ายสินค้าที่มีนวัตกรรม VST ECS ยังมีกลยุทธ์อื่น ๆ อีกหรือไม่ รวมถึงเป้าหมายรายได้ของปี 2025 ที่ภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่สู้ดีจะเป็นอย่างไร Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ VST ECS ดังนี้
ปี 2025 ตั้งเป้ารายได้ 50,000 ล้านบาท
สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ VST ECS เล่าให้ฟังว่า ในปี 2025 บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้เกือบ 50,000 ล้านบาท ถือเป็นการเติบโตราว 10% จากปี 2024 โดยการเติบโตของธุรกิจมาจาก 4 กลุ่มธุรกิจหลักที่ต่างเติบโตประกอบด้วย คอนซูเมอร์, คอมเมอร์เชียล, โซลูชัน และดีไวซ์แอนด์ไลฟ์สไตล์ ซึ่งในกลุ่มสุดท้ายบริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือกว่า 80% ของแบรนด์ทั้งหมดในตลาดไทย ไล่ตั้งแต่สินค้าของแอปเปิล, ซัมซุง และแบรนด์จีนชั้นนำอื่น ๆ
“รายได้เกือบ 50,000 ล้านบาท จะแบ่งเป็น คอนซูเมอร์, คอมเมอร์เชียล และโซลูชัน ในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กัน ส่วน ดีไวซ์แอนด์ไลฟ์สไตล์ จะคิดเป็นรายได้ประมาณ 20%” สมศักดิ์ กล่าว โดยปัจจัยที่น่าสนใจที่ทำให้ VST ECS มีภาพรวมธุรกิจเติบโต 10% คือการที่ไมโครซอฟท์ประกาศสิ้นสุดการสนับสนุน Windows 10 ในเดือน ต.ค. 2025 ถือเป็นการผลักดันให้ผู้บริโภค และองค์กรต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ที่รองรับ Windows 11 ได้ โดยไมโครซอฟท์มีการคาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้กว่า 3 ล้านเครื่องในประเทศไทย
นอกจากนี้ความต้องการใช้งาน AI จากฝั่งผู้บริโภค รวมถึงการลงทุน Private Cloud มากขึ้นของแต่ละองค์กรในประเทศไทย ยังมีส่วนช่วยให้บริษัทเติบโตเช่นเดียวกัน เพราะแม้บริษัทจะไม่ได้ไปร่วมทำตลาด Public Cloud กับ Vender ชั้นนำเหมือนรายอื่น แต่ด้วยการขาย Private Cloud ในรูปแบบเช่าใช้งาน ทำให้บริษัทได้ลูกค้ามากขึ้นทั้งในต่างจังหวัด และต่างประเทศ เช่น โรงพยาบาลในจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงการเข้าไปทำตลาดในประเทศกัมพูชาด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว
ฝั่งคอมเมอร์เชียลที่รัฐจะเข้ามาช่วยจับจ่าย
ด้านหน่วยงานภาครัฐที่กลับมาใช้จ่ายเรื่องไอทีอีกครั้งจะทำให้ตลาดไอทีของฝั่งองค์กรกลับมาเติบโตเช่นกัน ทั้งยังมีปัจจัยเรื่อง AI ที่เข้ามาช่วยเรื่องการจับจ่ายนี้ด้วย และ AI Solution ในรูปแบบต่าง ๆ จะช่วยสร้างการเติบโตให้ตลาดในฝั่งนี้ถึง 40% โดยเฉพาะฝั่ง Network Security ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับองค์กรมาขึ้น นอกจากเซิร์ฟเวอร์ และสตอเรจ ส่วนเรื่อง GPU ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในเวลานี้ ทาง VET ECS เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกตลาดในการนำ NVIDIA มาทำตลาด
“ปัจจุบัน NVIDIA มีการทำตลาด 2 รูปแบบคือ OEM และ Distributor ซึ่งฝั่งดิสทริบิวเตอร์ในไทยมี 4 ราย ซึ่งความต้องการ GPU ในไทยนั้นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่ง AI เข้าถึงในทุกอุปกรณ์ ทำให้การประมวลผลก็ต้องมีมากขึ้นเช่นกัน จึงเป็นอีกโอกาสธุรกิจของเราผ่านการจำหน่ายทั้งฝั่งอุปกรณ์ที่มี AI สำหรับผู้บริโภค และ AI สำหรับใช้งานในองค์กร” โดยการเติบโตของ Private Cloud ที่บริษัทเน้นทำตลาดผ่านการผสาน AI เข้าไปจะมียอดขายเติบโต 100% ภายในระยะเวลา 2 ปีหลังจากนี้
อย่างก็ตามถึงจะมี AI เข้ามาขับเคลื่อนทั้งฝั่งผู้บริโภค และองค์กร แต่ภาพรวมตลาดไอทียังค่อนข้างทรงตัว หรือเทียบเท่ากับปี 2024 อาจเพราะเรื่องเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่อาจไม่จูงใจมากพอจนผู้บริโภคอาจไม่เปลี่ยน แต่ในฝั่งสมาร์ตโฟนนั้นอาจก้าวข้ามปัจจัยเหล่านี้ได้ เพราะมีโปรแกรมช่วยผ่อนระยะยาวจากแบรนด์ผู้ผลิตต่าง ๆ ทำให้โอกาสการเข้าถึงสมาร์ตโฟนรุ่นเรือธงของผู้บริโภคง่ายขึ้น ประกอบกับสมาร์ตโฟนกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สร้างรายได้ของใครหลายคน จึงมีโอกาสสูงที่จะเกิดการซื้อเครื่องใหม่ได้อีกด้วย
ขยายโอกาสธุรกิจไปสู่สินค้าไลฟ์สไตล์
เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากการที่ตลาดไอทีทรงตัว VST ECS จึงหันไปจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ และนวัตกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ไล่ตั้งแต่ห้องน้ำแมว และอุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปเลี้ยงสัตว์มากขึ้น รวมถึงการไปรุกตลาดในรูปแบบ B2B เพื่อจำหน่ายจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้ให้บริการดิลิเวอรีต่าง ๆ จากเดิมที่เน้นจำหน่ายกับผู้บริโภคโดยตรง โดย ธนเสฏฐ์ โมระศิลปิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด หน่วยธุรกิจดีไวซ์และไลฟ์สไตล์ ย้ำว่า จักรยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอีกสินค้าสำคัญของ VST ECS
“เราทำระบบแบบ B2B ระบบเช่าเป็นรายวัน ปี 2025 ยังขยายต่อเนื่อง เช่น กลุ่มผู้ให้บริการดิลิเวอรีทั้ง 3 ราย แต่ละรายต่างมีไรเดอร์จำนวนมาก จนทำให้ธุรกิจเราเติบโตหลัก 2 ดิจิตจากผู้ให้บริการกลุ่มนี้ และเราขยายออกไป 11 สาขา ทั่วประเทศแล้วในการทำตลาด และบริการหลังการขาย ซึ่งจักรยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดนี้ใช้ระบบสลับแบตเตอรี่ ซึ่งเราพร้อมขยายจุดสลับแบตเตอรี่ให้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มไรเดอร์ที่ใช้บริการของเรา รวมถึงการมองไปสู่การเช่าขับจนเปลี่ยนเป็นเจ้าของได้ด้วย”
ปัจจุบัน VST ECS ทำตลาดสินค้าไอที และไลฟ์สไตล์รวมกว่า 70 แบรนด์ โดยมีค้าปลีกไอที และค้าปลีกไลฟ์สไตล์ รวมถึงบริษัทติดตั้งระบบไอทีเป็นลูกค้าของบริษัท และ VST ECS เป็นไอทีดิสทริบิวเตอร์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยเหมือนกับ Synnex และ SIS แต่เป็นหนึ่งในเครือของ วีเอสที อีซีเอส กรุ๊ป ฮ่องกง ที่มีช่องทางจำหน่ายกว่า 48,000 ราย กระจายอยู่ในประเทศจีน, ไทย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา, เมียนมา และลาว โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา