รู้จัก VST ECS ดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอที ที่โตแบบเงียบ ๆ จนมีรายได้กว่า 30,000 ล้านบาท

เวลาจะซื้อสินค้าไอทีเทคโนโลยี ชื่อแรก ๆ ที่นึกถึงมักจะเป็นค้าปลีกสินค้าไอทีชั้นนำ แต่รู้หรือไม่ก่อนสินค้าจะมาขายในร้านเหล่านั้นร้านค้าเกือบทุกรายต้องซื้อสินค้าจากตัวแทนจำหน่าย หรือดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอที ซึ่งในประเทศไทยมีผู้เล่นหลักอยู่สามราย หนึ่งในนั้นคือ VST ECS หรือชื่อเดิม The Value Systems

VST ECS ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนรายอื่น แต่สามารถเติบโต และทำรายได้ได้พอ ๆ กับคู่แข่ง เมื่อประกอบกับการก่อตั้งเมื่อปี 1988 ตัวบริษัทต้องผ่านวิกฤติต่าง ๆ มามากมาย ยิ่งสินค้าไอทีมีส่วนต่างกำไรค่อนข้างน้อย และมีการแข่งขันสูง ถ้าบริหารผิดพลาดคงยืนมาถึงจุดนี้ไม่ได้

วันนี้ Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อฉายภาพถึงกลยุทธ์ และเป้าหมายธุรกิจ รวมถึงภาพรวมตลาดสินค้าไอทีในประเทศไทยมูลค่า 2 แสนล้านบาทว่าจะเติบโตขนาดไหน

VST ECS

ตลาดไอทีที่เติบโต แต่ควรจะโตมากกว่านี้

สมศักดิ์ เริ่มต้นด้วยการฉายภาพถึงตลาดสินค้าไอทีในประเทศไทยที่ปัจจุบันฝั่งลูกค้าผู้บริโภคทั่วไปยังมีปัญหาเรื่องกำลังซื้อ ทำให้การจับจ่ายสินค้าฝั่งโน้ตบุ๊ก หรืออุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ ไม่คึกคักเหมือนช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด ยิ่งปัญหาเรื่องชิป และชิ้นส่วนขาดแคลน ทำให้การส่งมอบสินค้าให้ลูกค้ากลุ่มนี้ยากขึ้น

ต่างกับฝั่งกลุ่มลูกค้าองค์กร หรือ Enterprise ที่ทุกองค์กรหันมาลงทุนเรื่องดิจิทัล และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง แม้ต้นทุนในเรื่องนี้ยังค่อนข้างสูง แต่ด้วยข้อพิสูจน์เรื่องเพิ่มขัดจำกัดในการแข่งขันได้จริง ทำให้ทุกองค์กรกล้าลงทุน และกลายเป็นฝั่งที่ขับเคลื่อนตลาดไอทีประเทศไทยในปัจจุบัน

“ตลาดไอทียังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะสินค้าไอทีกลายเป็นความจำเป็นของทุกคน และทุกองค์กร ทำให้ฝั่งดิสทริบิวเตอร์ต้องเร่งตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มให้ได้ แต่ด้วยปัจจัยเรื่องชิป และชิ้นส่วนขาดแคลน ทำให้อัตราการเติบโตของตลาดอาจไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น เพราะส่งมอบสินค้าได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ”

VST ESC กับการจริงจังฝั่งลูกค้าองค์กร

จากปัจจัยดังกล่าว VST ECS จึงให้ความสำคัญกับลูกค้าฝั่งองค์กรมากขึ้น เช่น การทำตลาดสินค้าระบบเน็ตเวิร์ค, เทคโนโลยีคลาวด์ และเซิร์ฟเวอร์ โดยในปี 2022 คาดว่าจะปิดรายได้ราว 34,000-35,000 ล้านบาท โดยมาจากสินค้ากลุ่มลูกค้าองค์กร 55% ที่เหลือเป็นสินค้าฝั่งผู้บริโภคทั่วไป

“ทั้งปี 2022 ผมว่าบริษัทจะมีรายได้เติบโต 15% ถือว่ามากกว่าตลาด โดยครึ่งปีแรกเรามีรายได้ 16,000 ล้านบาท เติบโต 12% ซึ่งจริง ๆ ควรจะโตมากกว่านี้ หรือราว 20% เพราะตัวบริษัทไม่สามารถส่งมอบสินค้ากลุ่มองค์กรได้ตรงเวลาผ่านการที่เวนเดอร์ติดปัญหาขาดแคลนชิป และชิ้นส่วนต่าง ๆ”

หากเจาะไปที่การเติบโตรายได้ครึ่งแรกปี 2022 ของ VST ECS พบว่า รายได้ลูกค้าผู้บริโภคทั่วไปจะมีการเติบโตเพียง 5% และในครึ่งหลังยังไม่มีโอกาสเติบโต เพราะผู้บริโภคทั่วไปติดปัญหาเรื่องกำลังซื้อ และเงินเฟ้อ ต่างกับฝั่งลูกค้าองค์กรที่เติบโต 20% เพราะ มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้ยังมีปัญหาเรื่องส่งมอบสินค้าก็ตาม

VST ECS
แบรนด์ส่วนหนึ่งที่ VST ECS เป็นตัวแทนจำหน่าย

มองปัญหาจีน-ไต้หวันไม่กระทบภาพรวมธุรกิจ

สมศักดิ์ เสริมว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวันอาจไม่ได้กระทบกับภาพรวมการทำตลาดสินค้าไอที รวมถึงเรื่องชิป และชิ้นส่วนขาดแคลน เนื่องจากประเทศจีนมีความเป็นนักธุรกิจ และไม่ต้องการเล่นเกมแบบอื่นที่ไม่ใช่เกมธุรกิจ ยิ่งการใช้งานชิปยังจำเป็นทั่วโลก รวมถึงในจีน การสนับสนุนให้ปัญหานี้คลี่คลายได้เร็วที่สุดจึงจำเป็นกว่า

“ผมว่าจีน กับไต้หวันไม่น่ามีอะไร สังเกตจากหลังประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาไปเยือนไต้หวันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้นมากมาย ส่วนการที่เราเป็นบริษัทในเครือ VST ECS ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบทั้งภาพรวมที่นั่น รวมถึงในประเทศไทยเช่นกัน”

สำหรับปีงบประมาณ 2021 ทาง VST ECS Holdings มีรายได้รวม 38,100 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 1.82 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 503 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือราว 2,400 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 1 ต.ค. 2022) โดยรายได้มาจากกลุ่มธุรกิจองค์กร 54% และจากรายได้ทั้งหมดมาจากพื้นที่อาเซียน 22%

ขาย จักรยายนต์ไฟฟ้า เพิ่มแหล่งรายได้ใหม่

ทั้งนี้ VST ECS มีการขยายกลุ่มสินค้าให้มากกว่าแค่ไอทีเทคโนโลยี เช่น การจำหน่ายโทรศัพท์มือถือแบรนด์ระดับเริ่มต้นถึงระดับกลาง เน้นฐานผู้ค้าในต่างจังหวัด ล่าสุดมีการเพิ่มสินค้ากลุ่มจักรยานยนต์ไฟฟ้า และโซล่าเซลล์ เพื่อเพิ่มแหล่งรายได้จากธุรกิจที่น่าสนใจ

“จักรยายนต์ไฟฟ้า VST ECS ทำตลาดเมื่อปี 2021 และทำต่อเนื่องมาจนขายได้ 1,200 คัน/ปี ยิ่งจักรยานยนต์ในไทยขายกันหลักล้านคัน/ปี แต่จำนวนนี้แทบไม่มีจักรยายนต์ไฟฟ้า ทำให้เป็นโอกาสที่ดีหากเราแย่งชิงตลาดนี้ได้ และเรามีการลงทุนเรื่องศูนย์บริการ รวมถึงการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานของจักรยานยนต์ไฟฟ้าด้วย”

สำหรับปี 2023 VST ECS ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% ใกล้เคียงกับที่ปี 2022 ตั้งเป้าไว้ พร้อมกับเพิ่มดีลเลอร์อีก 60-70% ที่ซื้อขายสินค้ากับบริษัทจากเดิมอยู่ราว 2,800 ราย เพื่อครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย พร้อมกับเกาะกระแสการเติบโตของตลาดไอทีในประเทศไทยที่ยังมีความต้องการสินค้าสูงเช่นเดิม

VST ECS
จักรยายนต์ไฟฟ้าที่ VST ECS เป็นต้วแทนจำหน่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาพรวมธุรกิจดิสทริบิวเตอร์สินค้าไอทีในประเทศไทยนอกจาก VST ECS ยังมี Synnex และ SIS เป็นผู้เล่นหลักที่ทั้งคู่ต่างจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย โดยในปีงบประมาณล่าสุดทั้งสองบริษัทมีรายได้ราว 30,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกัน

อ้างอิง // VST ECS 1, 2

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา