เรียกว่าเป็นวิบากกรรมของคนทำทีวีดิจิทัลจริงๆ เพราะถ้าไม่ใช่ช่องที่มีเรตติ้ง 5-6 อันดับแรก โอกาสที่โฆษณาจะเข้าก็ค่อนข้างยาก และยิ่ง Voice TV ที่ไม่ได้มีเรตติ้งสูงขนาดนั้น แถมยังโดนสั่งปิดช่องไปอีก 7 วัน ก็สร้างความเสียหายกับธุรกิจไปเต็มๆ
เนื้อหายั่วยุปลุกปั่น กับปัญหาเดิมๆ
สาเหตุการถูกปิดช่อง 7 วัน ของ Voice TV นั้นมาจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติให้พักใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2560 โดยมองว่า รายการที่ออกอากาศของ Voice TV เช่น ใบตองแห้งออนแอร์, In Her View และ Overview มีเนื้อหาปลุกปลั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างความเสียหายแก่ราชอาณาจักรไทย ที่สำคัญการผิดครั้งนี้ยังเป็นการผิดซ้ำ หลังจากปี 2559 กระทำความผิดด้วยประเด็นนี้ถึง 10 ครั้ง และปีนี้อีก 2 ครั้ง โดยระยะเวลา 7 วันนั้นถือเป็นโทษขั้นต่ำในการพักใบอนุญาตทีวีดิจิทัล
ในทางกลับกัน ทาง Voice TV ได้ออกแถลงการณ์ของการถูกพักใบอนุญาตทันที มีเนื้อความว่า ได้ทำหน้าที่ตามพื้นฐานวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด และถึงจะมีเนื้อหาที่เห็นแตกต่าง แต่ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงแต่อย่างใด พร้อมกับให้ความร่วมมือต่ออนุกรรมการผังรายการของกสทช. และหารือกับคสช. อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เนื้อหาเหมาะสม แต่เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น Voice TV ก็จะปรับการออกอากาศผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้สนใจสามารถรับชมผ่าน voicetv.co.th และ Facebook ของ Voice TV ได้
ถึง Go Online ก็ติดหล่มค่าใบอนุญาต
หากเคยรับชมช่อง Voice TV คงจะทราบกันดีว่าเป้าหมายของช่องนี้คือกลุ่ม Smart Working People หรือกลุ่มคนทำงานอายุ 22-39 ปี ที่เป็นคนรุ่นใหม่ และเป็นฟันเฟืองสำคัญของประเทศในตอนนี้ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวต่างรับข่าวสารผ่านช่องทาง Online อยู่แล้ว และน่าจะเหมาะสมหาก Voice TV มุ่งหน้าพัฒนาช่องทาง Online ให้เต็มรูปแบบยิ่งกว่าเดิม แต่ด้วยปัญหาเรื่องค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 1,330 ล้านบาท ที่ต้องผ่อนจ่ายไปเรื่อยๆ และค่าโฆษณาจากช่องทางดิจิทัลยังไม่สามารถเติมเต็มได้ ประกอบกับถ้าหยุดออกอากาศช่องทางทีวีดิจิทัลไปเลย ก็คงไม่ใช่เรื่องทีถูกต้อง เพราะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม Voice TV มีการออกอากาศคู่ขนานระหว่างช่องทางทีวีดิจิทัล กับ Online อยู่แล้ว จึงไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก เพียงแค่หยุดออกอากาศฝั่งทีวีดิจิทัล 7 วันเท่านั้น โดยการนำเสนอข่าวก็ยังมีพนักงานที่ป้อน Content ใหม่ๆ เข้ามาตอลด เน้นที่เรื่องสังคม, การเมือง, ต่างประเทศ และเศรษฐกิจ แต่เนื้อหาที่นำเสนอจะปรับให้เข้ากับโลก Online มากขึ้น ที่สำคัญทางช่องไม่มีการปลดผู้ดำเนินรายการแต่อย่างใด เพราะต้องการรักษาคุณภาพของเนื้อหา และยังเตรียมยื่นเอกสารแก่ศาลปกครอง, ศาลแพ่ง รวมถึงกสท. เพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีนี้ด้วย
ต้องเลือกระหว่างยื้อ หรือหยุดออกอากาศ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้อาจมองว่า อาจต้องทบทวนการออกอากาศทางช่องทีวีดิจิทัลของ Voice TV เพราะเมื่อวางเนื้อหาให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ แต่คนรุ่นใหม่ตอนนี้แทบจะไม่ได้รับชมทีวีดิจิทัล และเสพสื่อจากช่องทาง Online ไม่ว่าจะเป็น Social Media หรือเว็บไซต์สำนักข่าว Online เป็นหลัก
ดังนั้นอาจถึงเวลาที่ Voice TV ต้องเลือกระหว่างการมุ่งหน้า Go Online เต็มที่ หรือ ปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับนโยบายของ คสช. และสร้างโอกาสหารายได้จากค่าโฆษณาทางทีวีดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง มิฉะนั้นหากถูกสั่งพักใบอนุญาตอีก คงไม่ใช่ผลดีกับการหารายได้จากโฆษณา
ขณะเดียวกันไม่ใช่แค่ Voice TV แต่ยังมีทีวีดิจิทัลช่องข่าวอีก 6 ช่อง ที่ต้องการเสนอเนื้อหาข่าวสารเชิงลึก แต่ต้องนำเสนอให้เหมาะสมสอดคล้องกับนโยบายของ คสช. ยิ่งหากพิจารณาต้นทุนการทำข่าว ที่ค่อนข้างสูง และมีโอกาสสร้างรายได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับการผลิตรายการ หรือละคร ที่ผู้บริโภคชาวไทยชื่นชอบและมีโฆษณาลงมาจำนวนมาก
หากยังอยากให้รายการข่าวในประเทศไทยพัฒนาขึ้น และเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ การปลดล็อคเรื่องเนื้อหา และการนำเสนอที่แตกต่าง น่าจะช่วยให้ “ข่าวแค่มี” กลายเป็น “ข่าวต้องดี” อย่างที่ นารากร ติยายน ผู้สื่อข่าวสาวเคยกล่าวไว้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา