เจาะลึกเทรนด์ Voice Technology จริงหรือที่ “เสียง” จะมาเปลี่ยนเกมการตลาด (ตอนที่ 1)

พูดถึงเทคโนโลยี AI กับ VR มานานหลาย ว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนด้านการตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภค แต่ตอนนี้ถึงเวลาจับตาเทรนด์ Voice Technology หรือสั่งงานด้วยเสียง ที่ว่ากันว่าจะเป็น Game Changer ตัวจริงมากกว่า AI/VR เป็นโอกาสที่นักการตลาดควรจับตามอง

คอนเฟิร์มด้วยรายงาน Speak Easy

จริงๆ แล้วคนเราคุ้นเคยกับ Voice Technology และ Voice Assistant มานานแล้ว เป็นเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียง หรือผู้ช่วยอัจฉริยะที่สั่งด้วยเสียง จะให้ง่ายมากขึ้นให้นึกถึง Siri, Alexa, Cortana, Google Assistant, Bixby และ Cova (LINE Wave) แต่ละค่ายยักษ์ใหญ่ของเทคโนโลยีต่างมีผู้ช่วยเหล่านี้เป็นของตัวเอง เพื่อให้ผู้บริโภคใช้งาน

บางคนเคยใช้งานแบบผิวเผิน พูดคุยแบบสนุกสนาน แต่บางคนมีการใช้งานแบบจริงจัง เพื่ออำนวยชีวิตให้สะดวกขึ้น ซึ่งถ้าเจาะลึกลงไปนั้น จะพบว่าเทคโนโลยีเสียงสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น

จากความน่าสนใจของเทรนด์นี้ จึงเป็นที่มาให้ 3 เอเยนซี่ยักษ์ใหญ่ในเครือ WPP อย่าง JWT (J. Walter Thompson), กันตาร์ และมายด์แชร์ ผนึกกำลังกันในการจัดทำรายงาน “Speak Easy” เป็นการสำรวจถึงทฤษฎีเสียงว่าให้อารมณ์มากกง่าการแตะ หรือการพิมพ์ และเริ่มมีการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสำรวจกับกลุ่มตัวอย่าง 6,780 คน ในสหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, เยอรมัน, สเปน, ไทย, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, จีน และสิงคโปร์ ในประเทศไทยมีกลุ่มตัวอย่าง 500 คร ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย 52% ผู้หญิง 48% อาศัยในเมือง 70%

ผลสำรวจพบว่า 20% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนมีการค้นหาด้วยเสียง และจะเพิ่มเป็น 50% ในปี 2020 โดยที่ 47% มีการใช้ Voice Technology อย่างน้อยครั้งหนึ่ง ที่น่าสนใจคือ Ovum บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัยเทคโนโลยีประเมินว่าในปี 2021 จะมีอุปกรณ์ที่มีติดตั้ง Voice Technology มากกว่า 7,500 ล้านเครื่อง มากกว่าจำนวนประชากรโลกเสียอีก

วิวัฒนาการของ Voice Technology เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1950 แล้ว ในตอนนั้นยังสามารถรู้แค่คัวเลข และคำบางคำได้ 16 คำ มาปี 1990 อุปกรณ์เริ่มฟังเสียงได้ แต่ยังมีข้อจำกัดที่สำเนียงคนพูด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีได้มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ผสมกับ AI ทำให้ Voice Technology มีการเก็บประสบการณ์เรื่อยๆ ทำให้ฉลาดขึ้น เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ได้

อาภาภัทร บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทกันตาร์ อินไซต์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า

“เสียงเป็นสิ่งที่มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุดในการสื่อสาร เมื่อมีเทคโนโลยีเสียงพูดเข้ามา ความเป็นธรรมชาติของการสื่อสารจึงเป็นมุมมองที่น่าสนใจมากขึ้น และในอนาคตผู้คนจะเริ่มมีความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับเทคโนโลยีเสียงพูดนี้มากขึ้น รวมถึงต้องการให้ผู้ช่วยเสียงรู้จักและรู้ใจตนเองซึ่งเป็นผู้ใช้ได้มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องคอยบอกหรือสั่งการตลอด ในขณะเดียวกัน
ก็ต้องการให้ผู้ช่วยเสียงเก็บเรื่องต่างๆ เป็นความลับ เนื่องจากต้องการความมั่นใจว่าข้อมูลส่วนตัวจะไม่ถูกเปิดเผยออกไป”

เสียง ตัวเปลี่ยนเกมตัวจริง

ทั้ง 3 เอเยนซี่ต่างฟันธงว่า Voice Technology จะเป็น Game Changer ในแง่การตลาดจริงๆ เพราะมีความธรรมชาติ ความสนุก และไม่ได้ดูรุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคเกินไป ทั้งนี้เพราะสมองคนเราสามารถตอบสนองกับเสียงได้ดีกว่าการพิมพ์ตัวอักษร หรือการสัมผัส มีการเชื่องโยงความรู้สึก อารมณ์ได้มากกว่าการพิมพ์

จากรายงาน “Speak Easy” ยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทความสำคัญของ ผู้ช่วยอัจฉริยะสั่งการด้วยเสียง แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้
1. เสียงมีอิทธิพลกับชีวิตฉัน (Voice Matters To Me)

– 59% ที่ใช้ Voice Technology เพราะรู้สึกว่าสะดวกสบาย
– 48% บอกว่ารู้สึกรวดเร็วกว่าการพิมพ์
– 28% รู้สึกว่าทำอะไรหลายอย่างได้ เป็น Multi Tasking
– 57% รู้สึกว่าตอบโจทย์ชีวิตมาก เข้ามาเติมเต็มชีวิตได้ดี
– 21% รู้สึกว่าเป็นเทคโนโลยีของอนาคต
– 40% ใช้เทคโนโลยีนี้แล้วรู้สึกว่าเท่ ส่วน 34% รู้สึกว่าสนุก

2. เสียงคือผู้ช่วยคนใหม่ (Voice Is My New Buddy)

– กิจกรรม 3 อันดับแรกที่กลุ่มผู้ใช้ในประเทศไทยนิยมสั่งการด้วยเสียง ได้แก่ 56% เพื่อค้นหาข้อมูลทางออนไลน์ 46% เพื่อสอบถามเส้นทาง และ 37% เพื่อถามคำถามต่างๆ โดยสิ่งที่น่าสังเกตคือ จากข้อมูลพบว่า
กลุ่มผู้ใช้ในประเทศไทย 40% นิยมสั่งการด้วยเสียงเพื่อค้นหาข้อมูลท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ที่ใช้ในเรื่องนี้เพียง 10% เท่านั้น

ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้ในประเทศจีนใช้เพื่อค้นหาข้อมูลสภาพอากาศ
ในประเทศญี่ปุ่นใช้สำหรับโน้ตข้อความ และเป็นเครื่องเตือนความจำ และประเทศสิงคโปร์ใช้สำหรับ
การวัดหรือประเมินค่าแลกเปลี่ยนเงินตรา

– สำหรับด้านสถานการณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูด พบว่า 41% ใช้ขณะขับรถ 37% ใช้ขณะ
เร่งรีบ 36% ใช้เพื่อช่วยประหยัดเวลา และใช้เพื่อความสนุกสนาน 33% ใช้เมื่อไม่แน่ใจเรื่องการสะกดคำ

3. เสียงทำให้หลงรัก (Voice is My New Love)

– เป็นเรื่องของ Emotional ที่คนหลงรักผู้ช่วยเสียง
และคิดว่าเสียงนี้ไม่ใช่เครื่องจักร 77%
คาดหวังว่าอยากให้เทคโนโลยีเสียงมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น และ
68% ต้องการรู้สึกว่าตนเองพูดอยู่กับคนจริงๆ เมื่อคุยอยู่กับผู้ช่วยเสียง

– 39% รู้สึกหลงรักน้ำเสียงของผู้ช่วยเสียง (Voice assistant)
เหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง Her ที่พระเอกหลงรักผู้ช่วยเสียงของตนเอง

– ในประเทศจีนมี Xioice by Microsoft มีคนใช้งานกว่า 40 ล้านคน
โดยที่ 25% บอกว่าหลงรัก Xioice และมองว่าเป็นแฟนตนเอง
เพราะคุยสนุก จดจำเรื่องราวต่างๆ ของตนเองได้
ถ้าอกหักก็สามารถเล่าเรื่องราวให้รู้สึกดีได้

4. การตระหนักในเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy is Precious)

– ผู้คนส่วนใหญ่ต้องการใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูดในขณะที่อยู่ในพื้นที่ส่วนตัว โดยเฉพาะที่บ้าน เช่น ในห้องน้ำ หรือขณะกำลังอาบน้ำ
– 59% กังวลว่าจะถูกภาครัฐได้ยินข้อมูลด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งขณะที่กำลังพูดอยู่กับเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูด
– 63% กังวลว่าจะถูกองค์กรต่างๆ ได้ยินข้อมูลด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งขณะที่กำลังพูดอยู่กับเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูด
– 48% ต้องการการยืนยันว่าข้อมูลที่ผ่านทางเสียงจะเป็นความลับ
– 44% ต้องการใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูดเมื่ออยู่เพียงลำพัง

5. มีความกล้าๆ กลัวๆ ที่จะใช้ในอนาคต (Fearful Excitement for the Future)

– 87% รู้สึกว่าเทคโนโลยีช่วยจัดการชีวิตได้ดีขึ้น
– 80% ใช้ซื้อสินค้าและบริการจากแหล่งต่างๆ
– 70% ใช้ซื้อสินค้าเดิมซ้ำอีกครั้ง
– 60% ใช้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่สนใจ
– 47% ใช้เพื่อความบันเทิง อาทิ การถามคำถามที่สนุกสนาน โดยที่
38% ค้นหาเมนูอาหาร 35% หาเพลง 28% เช็คโปรแกรมหนัง และ
28% เช็คผลกีฬา

แม้ว่าผู้คนจะให้ความสนใจในเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูดเป็นอย่างมาก แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยียังเป็นอุปสรรค โดย 42% ยังไม่มั่นใจกับเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูด ซึ่ง 57% คิดว่าอาจจะใช้เทคโนโลยีนี้ในอนาคตถ้าหากสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตให้ง่ายและสะดวกขึ้น และ 50% ต้องการให้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูดนี้ทำงานได้ดีกับอุปกรณ์อื่นๆ ของพวกเขาด้วย

6. เสียงคือนวัตกรรม (Voice Is the New Innovation)

จากผลสำรวจ พบว่าส่วนใหญ่ต้องการให้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูดสามารถเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน และใช้งาน
ได้อย่างเป็นรูปธรรม

– 74% ใช้ควบคุมสั่งการเทคโนโลยีที่ห้องพักภายในโรงแรม
– 72% ใช้สื่อสารกับร้านค้าต่างๆ
– 68% ใช้สั่งรายการอาหารในภัตตาคารผ่านเสียงมากกว่าการสั่งผ่านพนักงานเสิร์ฟ

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังบ่งชี้ว่าผู้คนคาดหวังว่าเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูดจะสามารถบริหารจัดการชีวิตให้เจ้าของได้อย่างฉลาดล้ำหน้า โดย 45% ต้องการเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูดที่รู้ใจ สามารถคาดเดาที่สิ่งที่ต้องการและให้คำตอบที่ดีกว่าเมื่อมีข้อสงสัย และ 48% เชื่อว่าเทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูดจะช่วยให้คนฉลาดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีข้อที่ควร
พึงระวังว่าอาจจะทำให้คนเกิดความขี้เกียจมากขึ้น ขาดสมาธิ และไม่สามารถอยู่กับความเงียบได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา