เจาะลึกเทรนด์ Voice Technology (ตอนที่ 2) นักการตลาดต่อยอดอย่างไรให้เสียงเข้าถึงผู้บริโภค

ความเดิมตอนที่แล้วที่ได้เสนอบทความ เจาะลึกเทรนด์ Voice Technology จริงหรือที่เสียงจะเปลี่ยนเกมทางการตลาด ซึ่งเป็นการพูดถึงเทรนด์การสั่งงานด้วยเสียงว่าเริ่มมีบทบาทอย่างไร ผู้บริโภคเริ่มตื่นตัวอย่างไรกับเทรนด์นี้จากรายงานเรื่อง Speak Easy ที่ทาง 3 เอเยนซี่ JWT, กันตาร์ และมายด์แชร์ได้นำเสนอ

ภาพจาก katemangostar / Freepik

ทั้งนี้มาถึงตอนที่ 2 เนื้อหาจะพูดถึงการนำเทรนด์มาปรับใช้อย่างไรให้เป็นรูปธรรม นั่นคือนักการตลาดสามารถใช้ Voice Technology กับแบรนด์อย่างไรได้บ้าง เพื่อให้เอ็นเกจกับผู้บริโภค

หรรษา วงศ์สิริพิทักษ์ SEA Director of Digital บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า

“เรามองเห็นโอกาสครั้งใหญ่ที่แบรนด์สามารถจะนำเทคโนโลยีเสียงพูดมาปรับใช้ เพื่อสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์ โดยการคิดค้นและสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เป็น Digital Transformation แต่ควรเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวตนของแบรนด์ อาจเริ่มต้นจากส่วนเล็กๆ แล้วค่อยๆ พัฒนาให้ใหญ่ขึ้น อีกทั้ง ขณะนี้ยังไม่มีแบรนด์ใดเริ่มนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับเสียงมาใช้มากนัก จึงนับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากหากมีแบรนด์ใดริเริ่มก่อนเป็นแบรนด์แรกๆ ซึ่งเรามั่นใจว่าเรื่องของเทคโนโลยีเสียงพูดจะเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่ยังต่อยอดไปได้อีกไกล สามารถสร้างประโยชน์ให้กับแบรนด์ได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน และยังเข้าถึงคนได้จริงๆ”

ทางด้าน ปรัชวัน เกตวัลห์ Director of Planning บริษัท เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย กล่าวว่า

“เทคโนโลยีเสียงพูดในเมืองไทยยังมีไม่มากนักและไม่เป็นที่นิยมมากเท่าเมืองนอก แต่ประเด็นที่น่าสนใจและน่าจับตามองอย่างมาก คือ คนไทยพร้อมเปิดรับและมีมุมมองที่ดีต่อเรื่องนี้ รวมถึงยังสามารถจินตนาการว่าเทคโนโลยีนี้จะใช้งานได้สนุกและมีประสิทธิภาพใน การช่วยบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ในชีวิตให้สะดวกสบายขึ้นได้อย่างไรบ้าง ทุกวันนี้ การสื่อสารของแบรนด์กับผู้คนนั้นไม่ได้มี เพียงสัมผัสที่จับต้องได้ แม้กระทั่งเสียงก็สามารถทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์หรือกับตัวตนของเสียงนั้น เหมือนใช้สัญชาตญาณในการสื่อสาร และสิ่งนี้สามารถโต้ตอบกับพวกเขาได้อย่างดีและรวดเร็ว ดังนั้น ประสบการณ์การใช้งานที่มีเทคโนโลยีเสียงพูดเข้ามาเกี่ยวข้องจึงเป็นที่จดจำและมีความพิเศษมากขึ้นจากเดิม”

“เสียง” จุดเปลี่ยนของธุรกิจในอนาคต

จากการศึกษาถึงแนวโน้มของเทรนด์ที่บ่งบอกถึงการนำเสียงมาใช้งาน และความรู้สึกของผู้บริโภคกับการใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูดในอนาคต ซึ่งแบรนด์สามารถปรับใช้ได้ ดังนี้

1. ช่วยลดภาระทางสมอง (Ease the Cognitive Load)

  • เสียงเป็นเสมือนรูปแบบการสื่อสารที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ ดังนั้นเสียงจึงเป็นวิธีที่มนุษย์ใช้สื่อสารได้โดยกำเนิดและมาจากสัญชาตญาณของตัวเอง
  • แบรนด์สามารถคว้าโอกาสในการนำเสนอเทคโนโลยีทางเสียงให้กับผู้บริโภค โดยช่วยสร้างบทสนทนาแบบไร้รอยต่อระหว่างแบรนด์และผลิตภัณฑ์ อาทิ การให้ผู้ช่วยทางเสียงสั่งงานจากบริการของแบรนด์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งกาแฟ สั่งให้เรียกแท็กซี่ สั่งให้ทำความสะอาด หรือสั่งให้แนะนำเครื่องดื่ม

2. ผู้ช่วยส่วนตัวในรูปแบบดิจิตัล (Digital Butler)

  • ตัวช่วยดิจิตัลนั้นมีประโยชน์ใช้สอยรอบด้านแม้กระทั่งการคิดให้ล่วงหน้าในเรื่องที่ผู้คนอาจยังนึกไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็น การสั่งพิซซ่า การใช้เสียงในการช้อปปิ้งที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกที่จะสั่งซื้อได้เลย สั่งเก็บไว้ในตะกร้า สั่งของที่เคยสั่งแล้วซ้ำอีกครั้ง หรือแทร็กออเดอร์ที่สั่งไปแล้ว
  • นอกจากการให้บริการภายในบ้านของตัวช่วยดิจิตัลแล้ว ภายในห้องพักโรงแรมก็สามารถใช้เทคโนโลยีสั่งงานด้วยเสียงพูดได้ หรือการบริการความสะดวกสบายในห้องพักโรงแรมผ่านเสียงซึ่งเป็นเครื่องมือที่ผสมผสานระหว่างปัญญาประดิษฐ์ กับสมองของมนุษย์เพื่อมอบการบริการอย่างเหนือระดับให้กับผู้เข้าพัก
  • ในปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์ขึ้นมาเพื่อให้เป็นผู้ช่วยของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคุณสมบัติเด่นอย่างหนึ่ง คือ ความสามารถในการรับรู้ถึงอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ และสามารถปรับพฤติกรรมของตนตามอารมณ์ของคู่สนทนา

3. พิถีพิถันในการสร้างรูปแบบให้แบรนด์เป็นที่จดจำ (Craving Intimacy)

  • ยิ่งผู้ช่วยทางเสียงเข้าใจผู้ใช้งานมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจะพัฒนาเป็นความผูกพันมากขึ้นเท่านั้น
  • โดยการสั่งงานด้วยเสียงแสดงให้เห็นถึงการตอบรับด้านอารมณ์ความรู้สึกที่มากกว่าการพิมพ์
  • ทำให้ได้รู้สึกใกล้ชิดและเข้าถึงตัวตนของผู้ใช้งาน โดยการสร้างเสียงอันเป็นเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะเพื่อสร้างความใกล้ชิดในความสัมพันธ์กับแบรนด์

4. เป็นอิสระจากหน้าจอ (Liberation from Screens)

  • ผู้ช่วยทางเสียงสามารถช่วยให้บริการใหม่ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้นและช่วยปลดปล่อยผู้ใช้งานออกจาก การจ้องหน้าจอซึ่งเอื้อให้สังคมโดยรวมมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้ใกล้เคียงมนุษย์ อาทิ การใช้เสียงแทนการกดปุ่มเพื่อสั่งงานจากพวงมาลัย โดยเมื่อระบบพร้อมรับคำสั่ง ก็สามารถพูดสั่งงานระบบต่างๆ ภายในรถยนต์เป็นภาษาไทยได้ทันที อย่างเปิด Sun Roof, เปิดแอร์/ปิดแอร์, ปรับเครื่องเสียง หรือระบบนำทาง
  • ในประเทศไทย ได้มีการนำผู้ช่วยทางเสียงมาใช้ในบริการเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้เสียงยืนยันตัวตน เป็นรหัสผ่าน โดยเน้นจุดเด่นที่ว่าสะดวกกว่า รวดเร็วกว่า และปลอดภัยกว่า

5. เสียงเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของ “Internet of Things” (Voice as Part of the Internet of Things – IoT)

  • แบรนด์ควรค้นหาจุดสัมพันธ์ของทางแบรนด์และลูกค้า (Touch Point) เช่น การเชื่อมโยงกับร้านค้า การเชื่อมโยงกับบรรจุภัณฑ์ และการเชื่อมโยงกับสื่อต่างๆ แล้วนำเทคโนโลยีเสียงพูดเข้ามาปรับใช้กับแบรนด์ของตนในเชิงรุกเพื่อให้เข้าถึงความรู้สึกผู้บริโภคได้มากขึ้นซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์
  • แบรนด์ควรคำนึงว่าจะสามารถพัฒนาระบบสั่งการด้วยเสียง ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานร่วมกับผู้ช่วยทางเสียง หรือเทคโนโลยีทางเสียงที่แบรนด์พัฒนาขึ้นมาเองได้อย่างไร

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา