ต่อลมหายใจธุรกิจภูเก็ต: ลดอัตราดอกเบี้ย ยืดหยุ่นเงินกู้-ชำระหนี้ ขยายสิทธิประกันสังคม

ภายในงาน SCB IEP Boothcamp: The Hospitality Survival ที่ธนาคารไทยพาณิชย์จับมือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดหลักสูตรเสริมศักยภาพนักธุรกิจมือโปร ลงพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคติวเข้มยุทธวิธีเอาตัวรอดสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยว ภายในงานยังมีเสียงจากผู้ประกอบการที่ยังต้องการความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐ และภาคการเงิน

Brand Inside ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ประกอบการหลากหลายวงการ เริ่มตั้งแต่รัตนดา ชูบาล ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของกิจการบริษัท ธารธาราสปา จำกัด (ธารธาราสปา) นายกสมาคมสปาเพื่อสุขภาพ ภูเก็ต รองประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย

โควิด-19 ระบาด ภูเก็ตไม่ได้ป่วยจังหวัดเดียว ต่างจังหวัดก็ป่วยด้วย

รัตนาเล่าว่า รายได้ส่วนใหญ่มาจากชาวต่างชาติ 85% ชาวไทย 15% สปาถือเป็นธุรกิจแรกที่ถูกสั่งปิด เธอคิดว่าการหยุดกิจการราว 6 เดือนน่าจะเพียงพอแล้ว จึงทำสัญญาเลิกจ้างพนักงานเป็นเวลา 6 เดือน สำหรับธุรกิจนี้ คนส่วนใหญ่มองว่าเอาไว้ทีหลังได้ กล่าวคือ ถ้าไม่ได้กินอาหาร อาจเสียชีวิตได้ แต่ถ้าไม่ได้นวด ไม่ได้สปา ไม่เป็นไร ไม่ได้ส่งผลกระทบขนาดนั้น จึงทำให้ธุรกิจของเธอนอกจากจะถูกละความสนใจเป็นรายแรกๆ แล้ว ยังแทบเป็นรายสุดท้ายที่จะฟื้นฟูได้

สำหรับการปรับตัวของธุรกิจนี้ ในภูเก็ตถือว่ามีค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง การเช่ารถ ธารธาราสปามีสาขาที่กรุงเทพฯ รัตนาใช้วิธีให้คนทำงาน 15 หยุด 15 วัน ส่วนใหญ่แล้วพนักงานราว 80% เป็นคนต่างจังหวัด ดังนั้น ถือว่าภูเก็ตไม่ได้ป่วยเพียงแห่งเดียว แต่ต่างจังหวัดป่วยด้วย ต่างจังหวัดก็ไม่มีรายรับกลับไปเหมือนกัน

จากที่เคยทำงาน ส่งเงินไปเลี้ยงดูพ่อแม่ เมื่อพนักงานขาดรายได้ ต่างจังหวัดก็ขาดรายได้ไปด้วย ส่วน 15 วันที่มาทำงาน แต่ไม่มีลูกค้า ทางบริษัทก็ให้ความรู้เพิ่ม ให้ได้ฝึกทักษะกันเองและดูแลพื้นที่ให้สะอาดตลอดเวลา ตอนนี้ผ่านมาหกเดือนแล้วเงินที่หล่อเลี้ยงธุรกิจก็ร่อยหรอจนใกล้จะหมดแล้ว 

รัตนดา ชูบาล เจ้าของกิจการ บริษัท ธารธาราสปา จำกัด, นายกสมาคมสปาเพื่อสุขภาพ จังหวัดภูเก็ต, รองประธานสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย

ความช่วยเหลือเร่งด่วนสำหรับตอนนี้ รัตนา ระบุว่า น่าจะมีการอนุมัติเงินกู้ให้เหมือนช่วงที่เกิดก่อนโควิด หลักทรัพย์เหมือนเดิม แต่ statment เป็นศูนย์ อยากให้พิจารณาหลักทรัพย์เดิมก่อนที่เกิดโควิด ถ้ามีลูกค้าทางบริษัทก็ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ตอนนี้ไม่มีลูกค้าก็ถือว่าประสบปัญหาเช่นกัน 

ตอนนี้ให้กู้อยู่ที่ 20% ของยอดเงินกู้เดิม เช่นกู้ 200 ล้านบาท ช่วย 20% เท่านั้น จากนี้ ปัญหาในอนาคตที่น่าจะเกิดก็คือ ถ้าพนักงานจะไม่กลับมาทำงาน จะทำยังไงต่อ ในส่วนของการพักชำระหนี้ ตอนนี้เริ่มใกล้หมดวาระแล้ว แต่ถ้าไม่ไหวก็สามารถเข้าหาธนาคารได้โดยตรง 

ถ้าเทียบกับตอนช่วงหลังสึนามิ รัฐจ่ายเงินให้กับคนที่ไปเทรน ไปฝึกอบรม เขาจะได้ความรู้เพิ่ม ได้เงินเลี้ยงชีพ การได้รับเงินประกันสังคม 60% เอาเข้าจริงก็ไม่ถึงอัตรานั้น อยากให้ 15 วันที่ต้องไปเทรน ช่วยจ่ายเงินให้เขาด้วย อยากให้ประกันสังคมขยายความช่วยเหลือต่อไปอีก 200 วัน วันนี้ไม่รู้ว่าภาครัฐเอาเงินประกันสังคมมาจ่ายเขา และลดเงินจากที่เขาเคยจ่ายด้วยหรือไม่ คิดว่าสิ่งที่ควรได้รับความช่วยเหลือตอนนี้ คือ หนึ่ง อยากให้มีการฝึกอบรมและจ่ายเงินเลี้ยงชีพให้พนักงาน สอง อยากให้ธนาคารลดดอกเบี้ยให้ และช่วยยืดเวลาในการชำระหนี้ให้ได้ไหม

สิ่งที่รัฐบาลต้องทำตอนนี้คือ การเปลี่ยน mindset ของคนในประเทศให้ได้ก่อนว่า เมื่อติดโควิด-19 แล้ว สามารถรักษาให้หายได้ ป้องกันได้ ตอนนี้ภูเก็ตอยากได้กรุงเทพฯ โมเดล คืออยู่กับโรคให้ได้  

เกรียงศักดิ์ กิติเกียรติศักดิ์ สุพิฌาย์ พูล แอคเซส

เกรียงศักดิ์ กิติเกียรติศักดิ์ แห่งโรงแรมสุพิฌาย์ พูล แอคเซส พูดถึง ภูเก็ตราคาแพงที่ใครพูดถึงกันนั้น สถานการณ์ตอนนี้ถือว่าลบภาพจำเรื่องภูเก็ตราคาแพงได้มาก ตอนนี้ทุกอย่างราคาถูกลงเกิน 50% ที่ไหนๆ ก็เหมือนกันหมด สำหรับการปรับตัวในช่วงนี้ มองว่าตลาดคนไทยค่อนข้างดี คนไทยชอบทานอาหารในโรงแรมเยอะ ตอนนี้ทางบริษัทไม่คิดเรื่องกำไรเลย มองแค่เรื่องพนักงานจะอยู่ยังไง ธุรกิจจะทำยังไง ทางบริษัทก็ทำบุฟเฟต์ขึ้นมาเพื่อดึงดูดคน ถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 70-100 คน 

นอกจากนี้ เกรียงศักดิ์ ยังเห็นว่าการที่รัฐเปิดให้ต่างชาติเข้ามา อย่างน้อยก็เป็นทางรอดของธุรกิจ แต่ก็ขอให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป การที่โรงแรมปิดกิจการ ซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้รับผลกระทบทั้งสิ้น นอกจากนี้ ทางโรงแรมสุพิฌาย์ พูล แอคเซส ก็ได้ทำเป็นศูนย์ PUI ด้วย (ศูนย์ PUI  คือ Patient Under Investigation ศูนย์ที่ไว้ใช้เฝ้าระวังและสอบสวนโรค) 

สาเหตุที่ตัดสินใจให้โรงแรมใช้เป็นศูนย์ PUI เนื่องจากทั้งโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตก็ต้องการหาสถานที่คัดกรองผู้ป่วยเพิ่ม ขณะเดียวกันทางหอการค้าก็พูดถึงสถานการณ์โควิดว่า ไม่มีสถานที่ทำ PUI จึงตัดสินใจทำ ใช้โรงแรมเป็นพื้นที่สำหรับทำ สิ่งสำคัญที่อยากได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนตอนนี้คืออยากให้ลดดอกเบี้ย อยากให้ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยลงมาหน่อย อยากให้มีช่วงวันหยุดยาวเยอะขึ้น ในส่วนของการรับสิทธิจากประกันสังคมก็อยากให้ช่วยขยายออกไปให้นานขึ้นกว่านี้ 

ณปภัช ทรัพย์สุนทรกุล ประธานบริษัท คอรัล เอ็กซ์เซคคิวทิฟ รีสอร์ต จำกัด (โรงแรม Always Phuket Le Coral Resort) และบริษัท ดิ เอ็กซ์เซคคิวทิฟ เลานจ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (ห้องรับรองในสนามบินภูเก็ต ดอนเมือง หาดใหญ่ เชียงใหม่ และอุดรธานี) ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการท่องเที่ยว

ณปภัช ทรัพย์สุนทรกุล ประธานบริษัท คอรัล เอ็กซ์เซคคิวทิฟ รีสอร์ต จำกัด (โรงแรม Always Phuket Le Coral Resort) และบริษัท ดิ เอ็กซ์เซคคิวทิฟ เลานจ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (ห้องรับรองในสนามบินภูเก็ต ดอนเมือง หาดใหญ่ เชียงใหม่ และอุดรธานี) ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการท่องเที่ยว

ณปภัช เล่าว่า ฮับของธุรกิจอยู่ที่ภูเก็ต เปิดมาตั้งแต่ปี 2551 แล้ว ธุรกิจเลานจ์มีในสนามบินหลักครบทุกจังหวัดของประเทศไทย ในส่วนของโรงแรมระดับห้าดาวมีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติราว 95% ทำให้ต้องปิดให้บริการชั่วคราว นับตั้งแต่เมษายนเป็นต้นมา ตอนนี้กำลังพยายามจะเปิดรับนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 

ธุรกิจให้บริการเลาจน์หรือห้องรับรองถือเป็นส่วนที่ทำรายได้มากที่สุด มี 14 สาขา แบ่งเป็นสำหรับผู้ที่เดินทางในไทย 6 สาขา คือภูเก็ต หาดใหญ่ ดอนเมือง อุดรธานี เชียงใหม่ และเชียงราย และเดินทางเข้าและออกระหว่างประเทศ 8 สาขา ในปัจจุบัน ให้บริการเฉพาะสำหรับรับรองการเดินทางในไทย เพราะสาขาที่รับรองเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศตอนนี้ทำรายได้ไม่ถึง 10% จึงต้องระงับการให้บริการไปก่อน 

The Coral Lounge Thailand

ความช่วยเหลือที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน: ยืดเวลาให้สิทธิประกันสังคม มีมาตรการให้กู้ที่ยืดหยุ่นตามความเป็นจริง

ช่วงที่สถานการณ์โควิดกระทบหนัก ก็ปรับตัวด้วยการลดเงินเดือนพนักงาน ลดระยะเวลาการทำงานบ้าง พนักงานส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือได้ดี รัฐบาลก็ช่วยในส่วนของประกันสังคม ในส่วนนี้ก็อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในการต่ออายุประกันสังคม เมื่อพนักงานมีรายได้ก็นำไปใช้จ่ายได้ เงินก็ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อไป ส่วนการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ประกอบการที่กู้ได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท กู้ได้เพียง 20% นั้น อยากให้มองตามขนาดของธุรกิจและประเมินจากความเป็นจริง มากกว่ากำหนดอัตราตายตัวว่าควรให้กู้มากน้อยเพียงใด 

ณปภัช ระบุ ธุรกิจที่ให้บริการเลาจน์หรือห้องรับรองนี้มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ในส่วนของการรับรู้เรื่องการให้บริการนั้น ถือว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจการให้บริการของธุรกิจถือว่ายังเป็นจุดอ่อน ขณะที่จุดแข็งนั้น ช่วงโควิดที่ผ่านมาถือว่ามีคนนิยมใช้บริการมากขึ้น ในด้านหนึ่งก็เพื่อรักษาระยะห่างด้วย 

The Coral Lounge Thailand (ภาพตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2018 ยังไม่มีโควิด)

โดยปกติเลาจน์จะมีลูกค้าที่เป็นฝั่งขาออกเดินทางระหว่างประเทศที่มีลูกค้าเข้าใช้บริการเยอะ มีทั้งลูกค้าธนาคาร ลูกค้าโรงแรมระดับ 5-6 ดาวขึ้นไป ทางบริษัทก็เป็นเจ้าของสัมปทาน Fast track ถูกต้อง รับผู้โดยสารมา ผ่าน ตม. ส่งขึ้นรถ ไปยังโรงแรมต่างๆ ก่อนหน้าที่จะมีโควิด ผู้โดยสารที่เป็นระดับพรีเมียมก็มีบุคคลสำคัญๆ ที่หลากหลายที่เข้ามาภูเก็ต เราได้รับความไว้วางใจสูงเข้าพักกับเราตั้งแต่ระดับประมุขของประเทศ กษัตริย์ ราชินี ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี เหล่าบรรดาเซเลบต่างๆ ล้วนเคยได้รับการรับรองมาแล้วทั้งนั้น

ในส่วนของภาพลักษณ์ภูเก็ตที่คนมองว่า ภูเก็ตแพง ณปภัชเห็นว่า ต้นทุนของภูเก็ตนั้นแพงตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ตั้งแต่ค่าที่ดิน หลังโควิดเกิดขึ้น ก็จะทำให้ทุกคนได้ทบทวนบทเรียนที่คนพูดถึงภูเก็ตว่าแพง ไม่สนใจคนไทย ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งทางบริษัทก็ทำ food hall ที่เป็นราคาท้องถิ่น ทำมานานแล้ว ทำจนกลายเป็นแม่แบบให้การท่าอากาศยานได้นำไปปรับใช้ หลังจากสถานการณ์โควิด อาจจะต้องหารือกับการท่าฯ เพิ่มเติม ทั้งในส่วนของค่าเช่าพื้นที่ ค่าตอบแทน ภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมถึงการให้บริการต่างๆ เพิ่มเติม

ณปภัช ทรัพย์สุนทรกุล ประธานบริษัท (ขวา) และทรรศชล ทรัพย์สุนทรกุล ประธานกรรมการบริหาร (ซ้าย) บริษัท คอรัล เอ็กซ์เซคคิวทิฟ รีสอร์ต จำกัด (โรงแรม Always Phuket Le Coral Resort) และบริษัท ดิ เอ็กซ์เซคคิวทิฟ เลานจ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (ห้องรับรองในสนามบินภูเก็ต ดอนเมือง หาดใหญ่ เชียงใหม่ และอุดรธานี)

นอกจากนี้ ทรรษชล ทรัพย์สุนทรกุล ประธานกรรมการบริหาร ระบุ ช่วงที่เกิดวิกฤตโควิดอยู่นี้ รัฐบาลควรใช้ช่วงเวลาดังกล่าวให้เป็นโอกาสในการเข้ามาแก้ปัญหาในภูเก็ตจริงจัง ซึ่งก็มีหลากหลายปัญหาด้วยกัน ทั้งการจราจรติดขัด ทั้งน้ำเสีย ทั้งเรื่องขยะ ภาครัฐควรเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาเก่าที่คั่งค้างอยู่

ในเรื่องของน้ำ ภูเก็ตมีปัญหาหลากหลาย หน้าแล้งก็ขาดน้ำ น้ำไม่พอ ต้องซื้อน้ำใช้ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้ด้วยเช่นกัน ปัญหาภูเก็ตแพง ส่วนหนึ่งก็มาจากค่าครองชีพที่แพง ถ้ารัฐเข้ามาช่วยดูแลก็น่าจะทำให้ทุกอย่างราคาลดลงได้บ้าง   

สรุป 

ความต้องการของผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการ การท่องเที่ยวในปัจจุบันกำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดอย่างหนักหน่วง การ lockdown หรือการปิดเมือง แม้ช่วยป้องกันโควิดได้บ้างแต่ก็สร้างความเสียหายกับธุรกิจไม่แพ้กัน ความช่วยเหลือที่กลุ่มนักธุรกิจต้องการอย่างเร่งด่วนตอนนี้คือ การยืดอายุ ยืดเวลาจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือด้านประกันสังคมแก่พนักงานที่อยู่ในธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบ

ตลอดจนการลดอัตราดอกเบี้ย และเงื่อนไขในการให้กู้ที่ยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากขณะนี้เป็นสถานการณ์วิกฤต ไม่มีใครอยากให้เกิด ไม่มีใครอยากขาดรายได้ เมื่อธุรกิจทำเงินไม่ได้ แผนที่จะรองรับหรือตอบโจทย์คนทำธุรกิจจึงจำเป็นต้องพิเศษมากกว่าปกติเพราะนี่คือสถานการณ์วิกฤติ ทั้งในแง่ของการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน ตลอดจนช่วงเวลานี้ที่กำลังขาดแคลนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศก็ถือเป็นช่วงสำคัญที่จะฟื้นฟูพื้นพื้นที่ท่องเที่ยว เร่งแก้ปัญหาเก่าๆ ที่คั่งค้างสะสม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา