ดูหนังออนไลน์ยังเดือด 7 รายในตลาดอัดคอนเทนต์สู้ แต่คนไทยยังละเมิดลิขสิทธิ์เยอะทำบูมลำบาก

การรับชมภาพยนตร์ออนไลน์ แบบ Subscription Video on Demand (SVOD) ยังดุเดือดอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้เล่นหลักๆ ราว 7 รายในตอนนี้ยังส่งแผนการตลาดใหม่ๆ มาต่อเนื่อง และจากนี้ยังมีโอกาสยักษ์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดอีกด้วย

ภาพ pixabay.com

7 รายในตลาด กับหลากกลยุทธ์ที่ฟาดฟัน

สำหรับผู้เล่นในตลาดรับชมภาพยนตร์ออนไลน์แบบมีค่าสมัครสมาชิกในตอนนี้จากที่ทีมงาน Brand Inside สำรวจดูมีราว 7 ราย ประกอบด้วย MONOMAXX (โมโนแม็กซ์), Primetime, Hollywood HD, DOONEE (ดูนี่), Netflix, iflix และ HOOQ (ฮุค) ซึ่งตลาดนี้เริ่มต้นบูมในประเทศไทยมาเกือบ 3 ปี หรือช่วงที่โครงข่ายโทรศัพท์มือถือกำลังจะเข้าสู่ยุค 4G ในประเทศไทย และแม้ช่วงแรกผู้บริโภคจะยังไม่เข้าใจกับบริการเหล่านี้มากนัก รวมถึงยังชื่นชอบการรับชมภาพยนตร์ กับซีรีส์แบบละเมิดลิขสิทธิ์มากกว่า แต่พวกเขาก็ยังยืนธุรกิจมาได้อย่างต่อเนื่อง

โดยถ้าแบ่งเป็นกลุ่มกลยุทธ์ของผู้เล่นแต่ละรายจะเป็นกลุ่มเน้นภาพยนตร์ใหม่ เช่น Hollywood HD, Primetime, HOOQ และ MONOMAXXX กับผู้เล่นที่เน้นการรับชมซีรีส์จากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น DOONEE, Netflix และ iflix ซึ่งทุกรายนั้นต่างมีต้นทุนเหมือนกันคือค่าลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ อยู่ที่การเจรจากับค่ายผู้ผลิตแต่ละรายว่าจะคิดเท่าไหร่บ้าง ซึ่งบางช่วงก็มีการทุ่มตลาดด้วยการลดราคา ทำให้ผู้เล่นรายอื่นเล่นเอาไปไม่เป็นเหมือนกัน แต่บางรายก็แก้ลำด้วยวิธีการ Exclusive Content รวมถึงการทำ Localize เรื่องภาษาให้เหมาะสมกับคนไทยมากที่สุด

สร้างฐานผู้ใช้ผ่านคอนเทนต์ Mass

อย่างไรก็ตามประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้นยังชื่นชอบการรับชมภาพยนตร์ด้วยเสียงพากย์ไทยมากกว่าการอ่าน Subtitles เพราะปัญหาเรื่องภาษา และการอ่านไม่ทัน แต่ตอนนี้กลับไม่มีผู้เล่นรายใดนำคอนเทนต์ภาพยนตร์ และซีรีส์ ที่เป็นพากย์ไทยมาเป็นตัวดึงดูดผู้ใช้บริการ ยกเว้น DOONEE หนึ่งในธุรกิจของกลุ่มเอสทีจี มีเดียเพล็กซ์ผู้ถือลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่แพร่ภาพตามฟรีทีวีต่างๆ จำนวนมาก และจากประสบการณ์ทำให้รู้ว่า ถึงจะรวมภาพยนตร์ และซีรีส์ไว้เยอะที่สุด แต่ถ้าจะเจาะกลุ่มคนหมู่มาก ก็ต้องมีพากย์ไทยเกือบทุกเรื่องด้วย

จตุพล สุธีสถาพร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสทีจี มีเดียเพล็กซ์ จำกัด เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ทิศทางการรับชมภาพยนตร์ และซีรีส์ของผู้บริโภคเริ่มเข้าไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นการจะเป็นตัวแทนเรื่องลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เพื่อขายให้กับช่องฟรีทีวีอย่างเดียวก็คงไม่ได้ จึงเข้ามาให้บริการ DOONEE ตั้งแต่ปี 2558 โดยชูจุดเด่นเรื่องพากย์ไทย และมีซีรีส์รวมกว่า 10,000 เรื่อง กินเวลาราว 20,000 ชม. ถือเป็นผู้เล่นที่มีซีรีส์รวมกันมากที่สุดในตลาด ผ่านราคา 9 บาท/วัน, 150 บาท/เดือน และ 1,500 บาท/ปี ทำให้ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานกว่าแสนไอดี/เดือน

ภาพ pixabay.com

ผู้เล่นใหม่เข้ามาแน่ รอแบนเว็บละเมิดไม่ช่วยอะไร

“ปีนี้จะมีผู้เล่นเข้ามาอีกแน่นอน อย่างน้อยๆ ก็ 2 ราย แม้ตอนนี้ผู้เล่นจะค่อนข้างเยอะแล้วก็ตาม เพราะอินเทอร์เน็ต และ Smartphone กับ Tablet มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับการช่วยกันโปรโมทของผู้ให้บริการต่างๆ ก็ช่วยให้ผู้บริโภครับรู้ และใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์ ก่อนที่จะตัดสินใจสมัครใช้บริการ แต่ถึงอย่างไรตอนนี้บริการ SVOD มันมีสัดส่วนแค่ 5% ของการรับชมภาพยนตร์ออนไลน์ในประเทศไทยตอนนี้ โดยที่เหลือก็คือกลุ่มรับชมเถื่อนตามเว็บไซต์ต่างๆ ดังนั้นถ้าภาครัฐไม่จัดการ ก็คงทำให้ตลาดนี้เกิดยาก และถึงจะเข้ามาจัดการมากขึ้น ก็คงต้องรออีกเกิน 2 ปีแน่ๆ กว่าคนส่วนมากจะเปลี่ยนความคิด”

ทั้งนี้ DOONEE เริ่มลดดีกรีในการทำตลาดกับผู้บริโภคลง เช่นการลงสื่อโฆษณาต่างๆ เพราะได้ปรับแผนเป็นการหาพาร์ทเนอร์ของช่องทางรับชมต่างๆ เช่นเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ, ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และผู้ผลิตโทรทัศน์ โดยทั้งหมดนี้จะเป็นการให้รับชมฟรีในเบื้องต้น และเมื่อหมดระยะเวลาจะสามารถสมัครต่อได้ในราคาปกติ ซึ่งจุดนี้เอง DOONEE จึงมึคนสมัครใหม่เข้ามาหลักแสน/วัน โดย 80% ของจำนวนนี้เป็นการสมัครผ่านช่องทางของพาร์ทเนอร์ และการทำแบบนี้น่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาสมัครบริการกับบริษัท และสร้างรายได้ให้เติบโตราว 20% จากปีก่อนเช่นกัน

สรุป

ตลาดนี้ยังแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพราะตอนนี้ผู้ใช้บริการ SVOD ในประเทศไทยยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด จึงมองว่าถึงจะมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นขนาดไหน ตลาดก็ยังเหลืออยู่ แต่หากผู้เล่นที่เข้ามาใหม่ใช้กลยุทธ์เรื่องราคาอาจทำให้ตลาดเสีย และกระทบถึงผู้เล่นรายเดิมที่ใช่เรื่องคอนเทนต์มาทำตลาดมากกว่า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา