Vision Ventures เครือเจ้าของแบรนด์หอแว่น เปิด 7 กลยุทธ์ปีนี้ เตรียม IPO ในปี 2027 

Vision Ventures บริษัทเจ้าของแบรนด์แว่นตาหอแว่น Glassiq และมองเด้ (Monde Eyewear) เตรียม IPO ในอีก 3 ปี ปีนี้เตรียมขยายสาขาเพิ่มอีก พร้อมบุกตลาดเวียดนาม 

ปิยะพงศ์ ธัญญศรีสังข์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วิชั่น เวนเจอร์ส จำกัด เล่าให้ฟังถึง 7 กลยุทธ์ธุรกิจในปีนี้ที่มีทั้งธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งเลนส์และแว่นตา โดยหนึ่งในนั้น คือ การเปิดร้าน Better Vision Prestige ร้านแว่นตาพรีเมี่ยมแห่งแรก ตั้งอยู่ที่ Erawan Bangkok 

ปรับร้านค้าปลีกให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

การปรับรูปแบบของร้านให้สอดรับกับพฤติกรรมและความสนใจของลูกค้าที่มีหลากหลาย Vision Ventures ได้ทำการสำรวจจความคิดเห็นของลูกค้าแว่นตาพบว่า ลูกค้าให้ความสำคัญกับทั้งการใช้งานและแฟชั่น มีลูกค้าไม่น้อยที่มีแว่น 30-40 อันเพื่อให้เข้ากับการแต่งตัว

กลยุทธ์หนึ่งของ Vision Ventures คือการสร้างร้านค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม โดยแบ่งเป็นแบรนด์หอแว่น Glassiq และ มองเด้

สำหรับหอแว่น เจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการบริการตรวจวัดค่าสายตาแบบครบวงจร มีจุดขายอยู่ที่พนักงานมีประสบการณ์ในการวัดสายตาประกอบแว่น ทุกสาขาจะมีผู้ที่ผ่านระบบการเทรนเชิงลึกจากบริษัทที่เรียกว่า BVAX เป็นผู้ที่มีทักษะสูงทำให้แก้ปัญหาค่าสายตาของลูกค้าได้ โดยหอแว่นมีอยู่ในห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ต ในเร็ว ๆ นี้ หอแว่นบางสาขาจะเปลี่ยนเป็นศูนย์การดูแลสายตาหรือ Complete Eyecare Center ด้วย

ส่วน Glassiq เป็นร้านค้ากรอบแว่นตาพร้อมเลนส์ที่มีราคาเฉลี่ยประมาณ 1,990-4,990 บาท เจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่เพราะมีการขายแบบ Omni Channel สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ได้และตัดแว่นเสร็จภายในครึ่งชั่วโมง การออกแบบทันสมัย เข้ากับเทรนด์แฟชั่นมากขึ้น ขณะที่แบรนด์มองเด้ มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 990-3,990 บาท เป็นร้านแว่นตาที่ตั้งอยู่ในชุมชน เข้าถึงง่าย เน้นกลยุทธ์ราคาแบบ all in one 

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว Vision Ventures ได้เปิดร้านแว่นตา Better Vision Prestige เป็นแห่งแรกด้วยที่ Erawan Bangkok โดยเป็นร้านแว่นตาระดับพรี่เมี่ยมที่แก้ปัญหาเรื่องการมีพื้นที่จำกัดในห้างสรรพสินค้า มีจุดเด่นอยู่ที่การให้บริการวัดค่าสายตาที่ละเอียดสูง มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ และมี Fashion Stylist ให้บริการด้วย ทำให้มีระดับราคาค่อนข้างสูง มีกรอบแว่นแบรนด์เนมอย่าง LVMH ให้เลือก

ขายแบบ Omni Channel

มุ่งพัฒนาแพลตฟอร์มการขายผ่านทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยเฉพาะผ่านแบรนด์ Glassiq ที่มีบริการซื้อทางออนไลน์ให้บริการ ข้อนี้เป็นการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่และต้องการความสะดวก รวดเร็วเป็นหลัก

ในอนาคต เตรียมจะทำให้ทุกแบรนด์ในกลุ่มเป็น Omni Channel โดยในเดือนกรกฎาคมนี้จะขยายสู่แบรนด์มองเด้ ส่วนปีหน้าก็จะขยายไปยังหอแว่นด้วย

เพิ่มบริการในพอร์ตฟอลิโอ

กลยุทธ์นี้จะเน้นใช้กับธุรกิจค้าส่งของบริษัทในฐานะตัวแทนจำหน่ายแว่นตาและเลนส์ให้กับแบรนด์ระดับโลก ในส่วนของแบรนด์แว่นตา ปัจจุบันเป็นตัวแทนจำหน่ายของกลุ่ม LVMH ส่วนเลนส์ เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับแบรนด์ Leica, Tokai และ TOG

ในปีที่แล้ว Vision Ventures ยังได้เข้าไปลงทุนในบริษัทวี ดู เอเชีย ที่เป็นธุรกิจค้ากรอบแว่นตาพรีเมี่ยมที่มีเครือข่ายอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ส่วนในปีนี้ ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับแบรน์ Alcon ผู้จำหน่ายคอนแทคเลนส์และน้ำยาหยอดตา

ทำการตลาดผ่าน Brand Ambassador 

ทำการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ผ่านการใช้ Brand Ambassador เพื่อให้เป็นที่รู้จักและสร้างการจดจำในหมู่ผู้บริโภค สร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ เช่น การร่วมงานกับณเดชน์ คูกิมิยะ และวง 4eve

ตั้งเป้าเปิดร้านแฟรนไชส์

เปิดโอกาสให้ลูกค้าและผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านแว่นตาเพราะเชื่อว่าความเป็นเจ้าของจะช่วยให้บริหารงานธุรกิจและให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น Vision Ventures ได้ออกแบบโมเดลธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างต่ำ แบรนด์ที่วางแผนไว้ในปัจจุบันมี 2 แบรนด์ คือ หอแว่นและมองเด้  ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงทดลองโดยมีร้านแฟรนไชส์ที่ทดลองอยู่ 5 แห่ง

ร่วมลงทุนและซื้อกิจการ

อีกหนึ่งกลยุทธ์ของ Vision Ventures ก็คือการควบรวมกิจการหรือเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแว่นตาและเลนส์ ในปีที่แล้ว Vision Ventures ได้เข้าไปลงทุนในบริษัท วี ดู เอเชีย ที่เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายแว่นตาพรีเมี่ยมอย่างแบรนด์  Mykita และ Moscot รวมทั้งลงทุนในรักษาสายตา TRSC 

ขยายตลาดไปต่างประเทศ

ขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อเนื่องจากในปี 2005 ที่เปิดสาขาต่างประเทศเป็นครั้งแรกในมาเลเซียและสิงคโปร์ ในปีนี้ ก็จะไปเปิดสาขาที่เวียดนาม โดยให้ความสำคัญกับรูปแบบร้านเจาะกลุ่มลูกค้าแบบผสมผสานระหว่างมองเด้และ Glassiq โดยจะมีแบรนด์ราคาสูงร่วมด้วย ส่วนชื่อแบรนด์อาจจะเป็นแบรนด์ใหม่ ในปีนี้จะลองเปิด 1-3 สาขาเพื่อศึกษาวัฒนธรรมการทำงานในเวียดนาม

สำหรับภาพรวมตลาดแว่นตาของไทยมีมูลค่าอยู่ที่ราว 35,000 ล้านบาท ในแต่ละปีโตประมาณ 6-8% ยังโตขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่ผู้บริโภคยังไม่ได้เข้าถึงการวัดสายตาและการใช้แว่นตาอย่างเหมาะสม เมื่อเศรษฐกิจเติบโตขึ้น คนมีรายได้มากขึ้นก็จะทำให้เข้าถึงแว่นตาเพิ่มขึ้น

ส่วนรายได้ของ Vision Ventures ในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ใกล้เคียง 2,000 ล้านบาท เป็นรายได้จากค้าปลีกราว 1,350 ล้านบาท และรายได้จากค้าส่งกว่า 500 ล้านบาท ในปีนี้มีแผนเติบโต 30-40% จากปีที่แล้ว ด้วยการขยายสาขาใหม่ ส่วนในอีก 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าเติบโตให้ได้ 3-4 เท่าจากในปัจจุบัน รวมถึงจะตั้งเป้านำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในปี 2027 นี้

ที่มา – Vision Ventures

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา