เปิดวิสัยทัศน์ CEO ของ LINE ประเทศไทยคนใหม่ : ให้ LINE อยู่ในชีวิตคนไทยมากขึ้น

LINE ประเทศไทย ได้แสดงวิสัยทัศน์ทางธุรกิจภายในงาน LINE Converge Thailand 2019 สานต่อแนวคิด LIFE on LINE จากทางโกลบอล พร้อมการเปิดตัว CEO คนใหม่เป็นครั้งแรก

ทำให้ LINE อยู่ใน Life Infrastructure ของผู้บริโภค

LINE ขึ้นชื่อว่าเป็นแอพพลิเคชั่นที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีซึ่งอยู่ในประเทศไทยได้ 6 ปีแล้ว แต่เดิม LINE ได้เติบโตจากการเป็นแชท แอพพลิเคชั่นในการสื่อสารกัน มีการส่งสติ๊กเกอร์ พูดคุยสื่อสารกัน จนพัฒนาขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดให้กับแบรนด์ต่างๆ 

อีกทั้งยังมีบริการอื่นๆ ที่ช่วยทำให้ผู้บริโภคได้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเกม บันเทิง หาข้อมูล อ่านข่าว เพย์เมนต์ และอื่นๆ อีกมากมาย 

ในปัจจุบัน LINE มีผู้ใช้งานในประเทศไทย 44 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 78% ของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านมือถือทั้งหมดในประเทศไทย ตัวเลขนี้ไม่ได้มีการเติบโตอย่างหวือหวาเหมือนหลายปีก่อน LINE เองจึงต้องเร่งพัฒนาบริการเพื่อเพิ่มความถี่ในการใช้งานมากขึ้น 

จากการที่ LINE Corporation บริษัทแม่ได้ประกาศวิสัยทัศน์ในงาน LINE CONFERENCE 2019 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยแนวคิด LIFE on LINE ประกาศที่จะเป็นแพลตฟอร์มอยู่กับผู้บริโภคตลอด 24 ชั่วโมง ใน 7 วัน

ในวันนี้ก็ถึงคราวประเทศไทยที่จะสานต่อแนวคิดนี้ให้เป็นรูปธรรม พร้อมกับมาปรับใช้ในระดับโลคอลให้มากขึ้น เพราะต้องบอกว่าภายในงาน LINE CONFERENCE 2019 ส่วนใหญ่จะเป็นการประกาศถึงการเปิดบริการใหม่ที่มีเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น

ทั้งนี้ยังเป็นครั้งแรกที่เปิดตัว “ดร.พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO คนใหม่แห่ง LINE ประเทศไทย เป็นครั้งแรก จะมาแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมกับเปิดตัวบริการใหม่

ถ้าถามว่าความท้าทายที่สุดในตอนนี้คืออะไร ดร.พิเชษฐ บอกว่า

“ตอนนี้ไม่ได้ตื่นเต้นกับตำแหน่ง แต่ตื่นเต้นกับสิ่งที่ทำมากกว่า ได้อยู่ในจุดที่มีโอกาสในการในสร้างผลิตภัณฑ์ให้คนไทย ซึ่งจะทำให้สำเร็จหรือไม่… มันน่าสนุก”

ดร.พิเชษฐ เป็นลูกหม้อของ LINE ประเทศไทย ที่ร่วมงานมาได้ 3 ปีกว่าแล้วตั้งแต่ปี 2016 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ โดยก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ และรัฐกิจสัมพันธ์ที่ Google ประเทศไทย และตำแหน่งผู้ช่วย และที่ปรึกษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออเร้นจ์ ประเทศไทย จำกัด 

ดร.พิเชษฐ เสริมอีกว่า LINE ที่อยู่ในไทยมา 6 ปี กลายเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของระดับโกลบอล ทำให้ทิศทางของ LINE ประเทศไทยต้องสร้างบริการใหม่ เพื่อขยายฐานผู้ใช้ เพราะถ้าดูจากสถิติของคนไทยที่ใช้อินเทอร์เน็ตมือถือเฉลี่ย 200 นาที/วัน มีการใช้ LINE เฉลี่ย 60 นาที/วัน ยังมีโอกาสในการเติบโตอยู่

เปิด 3 บริการใหม่ 

นอกจากนี้ยังได้เปิดเผยถึงบริการ และฟีเจอร์ใหม่ที่จะมีการเปิดตัวภายในปี 2019 นี้

  1. LINE Shopping 

บริการรูปแบบใหม่ในการรวมแหล่งออนไลน์ช้อปปิ้งไว้ในที่เดียว เพื่อแก้ pain point ของลูกค้าในการตามหาข้อมูลที่มีมากจนเกินไป และช่วยให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเชื่อมต่อกันง่ายดายมากขึ้น พร้อมด้วยฟีเจอร์สำคัญ ได้แก่ โปรโมชั่น, คะแนนสะสม, การตั้งรายการสินค้าที่ต้องการซื้อ (wish list), การแจ้งเตือนเมื่อสินค้านั้นๆ ราคาลดลง และฟีเจอร์อื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมายในอนาคต

2. LINE MAN Grocery 

จะเป็นบริการใหม่ที่ต่อยอดจาก LINE MAN ที่สามารถเรียก LINE MAN ไปช่วยซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเข้าไปซื้อเอง ต้องเสียเวลาหาที่จอดรถ และเสียเวลาเลือกของ 

ก่อนหน้านี้ LINE MAN เองก็มีบริการฝากซื้อของจากร้านสะดวกซื้อเช่นกัน ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ได้ไม่น้อย

3. LINE MELODY 

ย้อนกลับไปในยุค 90 เสียงรอสายได้รับความนิยมมาก ซึ่งปัจจุบันนี้ LINE Call ถืออีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ผู้ใช้นิยมใช้งานอย่างมากซึ่งด้วยฟีเจอร์นี้ผู้ใช้งานจะสามารถนำเอาเพลงยอดนิยมมาใช้เป็นเมโลดี้หรือริงค์โทนได้ 

ซึ่งวันนี้พบว่าผู้ใช้ LINE นิยมใช้ LINE Call ทดแทนการกดเบอร์โทรศัพท์โทรหากันแบบเดิมๆ ซึ่งสำหรับพันธมิตรด้านเพลงนั้นจะมีการเปิดเผยอีกครั้งในเร็วๆ นี้ 

สำหรับบริการยอดนิยมอย่าง LINE MAN ที่ไม่ได้เป็นบริการใหม่เท่าไหร่นัก เพราะมีอายุได้ 3 ปีแล้ว จนตอนนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ช่วยอันดับหนึ่งของคนกรุงเทพฯ แต่ได้ประกาศแผนการขยายการบริการให้ครอบคลุมพื้นที่หัวเมืองใหญ่ และเมืองท่องเที่ยวภายในปีนี้

ทั้งนี้ยังได้เปิดตัวโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งรวมถึงมีดพลาสติก และกระเป๋าที่ใช้ในการส่งอาหารให้กับลูกค้า ฟีเจอร์ใหม่ใน LINE MAN จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถปฏิเสธการรับพลาสติกที่ไม่จำเป็น 

โดยฟีเจอร์นี้จะเปิดตัวภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีพันธมิตรร้านอาหารชั้นนำที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว ได้แก่ บอนซอน, ซิซเล่อร์, เบอร์เกอร์คิงส์, เท็กซัส ชิคเก้น, พิซซ่า ฮัท, บ้านหญิง, คั่วกลิ้งผักสด และเดอะมอลล์กรุ๊ป 

ในการเติบโตของ LINE MAN มีปัจจัยสำคัญจากการมีพันธมิตรด้านร้านอาหารอย่าง Wongnai มีร้านอาหารในเครือข่ายรวมกว่า 50,000 ร้าน ทำห้ LINE MAN เป็นแอปพลิเคชั่นเดียวที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในกรุงเทพ รวมถึงอีกพันธมิตรคือผู้บริการโลจิสติกส์อย่าง lalamove ที่ได้มีการเพิ่มจำนวนยานพาหนะในการให้บริการสูงถึง50% ในแต่ละปี

สรุป

วิสัยทัศน์ของ LINE ในช่วงปีหลังๆ มานี้ เริ่มเป็นในเรื่องของการเพิ่มความถี่ในการใช้งานมากขึ้น และมีทั้งทางฝั่งผู้บริโภค และทางฝั่งธุรกิจ เพราะต้องบอกว่า LINE เองก็เป็นเครื่องมือการตลาดสำคัญของแบรนด์ไปแล้วด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา