การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยโดยรวมของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียหรือทั่วโลก เกี่ยวกับงบค่าใช้จ่ายในการเดินทางของแผนการท่องเที่ยวครั้งต่อไป อ้างอิงจากผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลกของวีซ่า (Visa Global Travel Intentions Study) โดยผลสำรวจฉบับนี้ศึกษาเกี่ยวกับเทรนด์และพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักเดินทางจำนวน 17,500 ราย จาก 27ประเทศทั่วโลก
ผลสำรวจในครั้งนี้คาดว่า นักท่องเที่ยวชาวไทยจะใช้เงินเยอะขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์จากทริปที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่านักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย (46 เปอร์เซ็นต์) และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก (36 เปอร์เซ็นต์) โดยค่าเฉลี่ยจากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดพบว่านักท่องเที่ยวชาวไทยใช้จ่ายต่อทริปอยู่ที่ 49,135.68 บาท (1,502 เหรียญสหรัฐ)[1] และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 73,670.80 บาท (2,252 เหรียญสหรัฐ) สำหรับการเดินทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลกนั้นเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 38,176.65 บาท (1,677 เหรียญสหรัฐ) และ 58,655.31 บาท (1,793 เหรียญสหรัฐ) ตามลำดับ แต่กลับมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่เป็นส่วนต่างสำหรับการเดินทางครั้งต่อไปน้อยกว่าประเทศไทยอยู่ที่ 80,007 บาท (2,443 เหรียญสหรัฐ)
สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “จากที่ได้พูดคุยกับหลายๆองค์กรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวไทยวางแผนใช้เงินเยอะขึ้นในการท่องเที่ยวน่าจะเป็นเพราะทุกวันนี้มีผลิตภัณฑ์ในการชำระเงินที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเพิ่มประโยชน์และสิทธิพิเศษที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวอีกด้วย ดังนั้นนักท่องเที่ยวชาวไทยจึงมีความมั่นใจในการใช้จ่ายมากขึ้น”
นอกจากนี้ผลสำรวจฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการใช้บัตรชำระเงินเป็นที่แพร่หลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนการเดินทาง โดยสามในสี่ (76 เปอร์เซ็นต์) ของนักท่องเที่ยวชาวไทยเลือกใช้บัตรพลาสติกในการชำระเงินเพื่อจองสิ่งที่จำเป็นก่อนการเดินทาง อาทิ ตั๋วเครื่องบิน โรงแรม เป็นต้น เมื่อเทียบกับการใช้เงินสดที่เกิดขึ้นเพียง 52 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้การชำระเงินผ่านบัตรยังเป็นช่องทางที่ผู้ตอบแบบสอบถามเลือกจะใช้ระหว่างเดินทางท่องเที่ยว เนื่องจาก มีโปรโมชั่นที่ดี ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมที่ต่ำกว่า ได้รับรีวอร์ดมากขึ้นหากใช้จ่ายในต่างประเทศ รวมถึงความปลอดภัยสูงสุด
ถึงแม้ว่าเงินสดจะยังเป็นตัวเลือกหลักในการใช้จ่ายระหว่างการท่องเที่ยวสำหรับคนไทยส่วนมาก แต่บัตรเครดิต (67 เปอร์เซ็นต์) ก็ยังคงเป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักเช่นเดียวกัน โดยหนึ่งในสี่ของนักท่องเที่ยวชาวไทยใช้บัตรหลายใบในการเดินทางไปต่างประเทศ เพราะสามารถทำธุรกรรมได้เร็วขึ้น มีจุดรับบัตรอย่างแพร่หลายในร้านค้าในต่างประเทศ ค่าธรรมเนียมต่ำ และมีรีวอร์ดมากกว่า นอกจากนี้ 26 เปอร์เซ็นต์ของนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดว่าจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหากมีจุดรับบัตรที่แพร่หลาย
อีกประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ กระเป๋าสตางค์ดิจิตอล (digital wallet) ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยหนึ่งในสี่ของนักเดินทางชาวไทยเคยชำระเงินด้วยกระเป๋าสตางค์ดิจิตอลในขณะเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ นักท่องเที่ยวที่เดินทางคนเดียวและนักท่องเที่ยวที่เดินทางขณะออกทริปไปทำงานยังต่างประเทศ เป็นสองกลุ่มนักเดินทางที่ใช้การชำระเงินในรูปแบบนี้มากที่สุดถึง 41 เปอร์เซ็นต์
“เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่พบว่านักท่องเที่ยวไทยมีความตั้งใจจะท่องเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้นในต่างประเทศ และเราเชื่อว่าอุตสาหกรรมการชำระเงินจะมีบทบาทสำคัญอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งการเปิดรับแหล่งที่มาของเงินและการชำระเงินที่หลากหลาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญและมีผลโดยตรงแก่พฤติกรรมการใช้เงินของผู้บริโภค ความต้องการและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวนั่นมีความหลากหลาย ดังนั้นการยอมรับและทดลองการชำระเงินในรูปแบบใหม่ๆ อาทิ โมบายแอพพลิเคชั่น QR Code หรือบัตรพลาสติก จะเป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตได้อย่างยั่งยื่น” สุริพงษ์ กล่าวปิดท้าย
ระเบียบวิธีวิจัย
ผลวิจัยได้จากการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวจำนวน 500 รายในแต่ละประเทศทั้งสิ้น 27 ประเทศ ยกเว้นอินเดีย จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ที่มีผู้ให้สัมภาษณ์จำนวน 1,000 ราย การสัมภาษณ์ในรูปแบบออนไลน์นี้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2560 พร้อมกันทุกประเทศ ยกเว้น อียิปต์ คูเวต ซาอุดิอาระเบีย ที่ได้จัดสัมภาษณ์จากผู้ให้คำตอบโดยตรงโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวช่วย
ภูมิภาคที่อยู่ในผลสำรวจฉบับนี้
เอเชียแปซิฟิก – ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม
ยุโรป – ฝรั่งเศส เยอรมัน สหราชอาณาจักร รัสเซีย ยูเครน
แอฟริกาตะวันตก – อียิปต์ คูเวต ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อเมริกา – บราซิล แคนนาดา เม็กซิโก สหรัฐอเมริกา
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา