ผลสำรวจชี้ คนไทย 57% ทำธุรกรรมผ่านดิจิทัล พกเงินสดน้อยลง

Visa เปิดผลสำรวจพฤติกรรมการใช้เงินของคนไทย พบว่ามีทัศนคติเกี่ยวกับการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลมากขึ้น พกเงินสดน้อยลง ผลมาจากเทคโนโลยีที่รองรับมากขึ้น มีความเชื่อมั่นมากขึ้น

Photo : Shutterstock

มั่นใจในการทำธุรกิจดิจิทัล

Visa เปิดผลสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภคประจำปี 2019 (Visa Consumer Payment Attitudes Survey 2018) มีการศึกษาถึงทัศนคติ และพฤติกรรมการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงเทรนด์สำคัญของผู้บริโภคจากผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 4,000 คน จาก 8 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 500 คนจากประเทศไทย

พบว่า 78% พยายามใช้เงินผ่านช่องทางดิจิตอลเพียงอย่างเดียวในชีวิตประจำวัน ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2560 ที่มีเพียง 50% โดย 57% ผู้บริโภคชาวไทยนั้นนิยมทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางดิจิตอล อาทิ บัตรเดบิต/เครดิต แอพพลิเคชั่นการชำระเงินบนสมาร์ทโฟน และคิวอาร์โค้ด เทียบกับเพียง 43% ที่ยังนิยมใช้เงินสด

สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า 

การที่คนไทยมีความเชื่อมั่น และใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นนั้นเป็นผลมาจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่ได้ร่วมผลักดันระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National e-Payment) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง” 

การที่คนไทยหันมาชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเป็นผลมาจากเทคโนโลยีการชำระเงินที่มีหลากหลายรูปแบบ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับมีร้านค้าที่รับชำระเงินดิจิทัลมากขึ้น โดยในปัจจุบัน ผู้บริโภคสามารถชำระเงินด้วยอุปกรณ์เชื่อมต่อที่หลากหลาย อาทิ สมาร์ทโฟนแอพพลิเคชั่น อุปกรณ์สวมใส่ และการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยสำหรับร้านค้าที่เคยรับแต่เงินสดเพียงอย่างเดียว ยังมีคิวอาร์โค้ดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใหม่ในการรับชำระเงินที่รวดเร็ว ปลอดภัย และคุ้มค่า 

คนไทยพกเงินสดน้อยลง

ผลสำรวจพบว่า 42% มีการพกเงินสดน้อยลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าผลสำรวจเมื่อปี 2560 ที่มีเพียง 26% เท่านั้น โดยเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคพกเงินสดน้อยลงมาจาก 65% เรื่องความไม่ปลอดภัยในการพกพาเงินสด 65% การชำระเงินผ่านระบบดิจิตอลที่มากขึ้น และ 39% ความไม่สะดวกในการใช้เงินสด

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าสำหรับคนที่พยายามใช้เงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพียงอย่างเดียวนั้น กว่า 60% สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้หนึ่งวันโดยไม่ใช้เงินสด และมีจำนวนถึง 45% ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสดเลยได้นานกว่า 3 วัน

โดยภาพรวมแล้ว มีคนไทยจำนวนมากขึ้นที่แสดงความมั่นใจว่าประเทศไทยจะพัฒนาเป็นสังคมไร้เงินสดได้ในอนาคต ซึ่งกว่า 29% มีความมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้ภายใน 3 ปี ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2560 มีเพียง 11% เท่านั้น และกว่า 39% เชื่อว่าจะใช้เวลา 4-7 ปีเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสด ในขณะที่คนไทยราว 6% เห็นว่าจะต้องใช้เวลามากกว่า 15 ปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา