การใช้เงินสดในไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ่ายเงินระหว่างบุคคลมีทั้งการโอนเงินผ่านมือถือ มีระบบพร้อมเพย์ และ QR Code ที่ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น แต่ปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนยังต้องใช้เงินสด หรือมีบัตรเติมเงินหลายๆ ใบ มักมาจากโครงสร้างพื้นฐานของไทย อย่างรถเมล์ รถไฟฟ้า ฯลฯ
ปีนี้สิงคโปร์เริ่มใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิตแตะจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้แล้ว เมื่อไรไทยจะใช้ได้?
ความร่วมมือวีซ่า-รัฐไทย : การใช้บัตรจ่ายค่าเดินทาง
สุริพงษ์ ตันติยานนท์ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย (VISA) บอกว่า VISA เข้าหารือกับกระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้ข้อมูลเชิงเทคนิค เคสจริงที่ทำอยู่ในต่างประเทศอย่าง ลอนดอน ฯลฯ เพื่อสร้างระบบการชำระเงิน Open Loop (ระบบที่เปิดให้ใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิตจ่ายค่าโดยสารได้โดยตรง)
ปัจจัยที่ทำให้ไทยพัฒนาสู่การใช้ Open Loop ได้มาจากหลายอย่าง ได้แก่ ปัจจุบันไทยมีบัตรเครดิตและบัตรเดบิตรวม 70 ล้านใบ ซึ่งบางส่วนเป็นบัตร Contactless (มีสัญลักษณ์ wifi หันข้างอยู่บนบัตร) ที่สามารถแตะที่เครื่องอ่านและจ่ายเงินได้เลย ซึ่งสามารถแทนที่บัตรเติมเงินที่ใช้ในระบบขนส่งสาธารณะได้ ลดต้นทุนทั้งเวลาประชาชนที่ต้องเดินมาซื้อตั๋ว ลดต้นทุนการบริหารจัดการเรื่องตั๋วให้ลดลงได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้การทำระบบ Open Loop กลายเป็น Use Case และเป็น Global Product ที่ปรับใช้ได้ทั่วโลก เพราะไม่ว่าลอนดอน ไทย และอีก 145 ประเทศทั่วโลก ล้วนมีธนาคารซึ่งเป็นผู้ออกบัตรเครดิต เดบิต ดังนั้นผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง VISA ใช้จุดแข็งนี้ในการขยายบริการใหม่เพิ่มความสะดวกในการใช้เงินรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น
ต่อไปอาจไม่ต้องใช้ “บัตร” อย่างเดียว แต่ต่อยอด Gadget อื่น เช่น มือถือ นาฬิกา ฯลฯ ปัจจุบันมีหลายผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับใช้ได้หากมีการสร้างมาตรฐานการชำระเงินในรูปแบบเดียวกัน เช่น Fitbit pay, Garmin pay, Apple pay, SamSung pay ฯลฯ
ลอนดอน -โมเดล Open Loop ที่เริ่มใช้จริงตั้งแต่ปี 2012 เผยปั้นระบบกว่า 6 ปี
Shashi Verma CTO และผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้าของขนส่งลอนดอน (Transport for London – TfL) บอกว่า โครงการ Open Loop เริ่มมีไอเดียมาตั้งแต่ 2006 จนทำโครงการเสร็จสิ้นในปี 2011 และเริ่มเปิดให้บริการในปี 2012 ส่วนรถเมล์ทั้งเครือข่ายเริ่มใช้ในปี 2014 จุดเด่นคือต้นทุนการบริหารและขายตั๋วลดลงมาอยู่ที่ 8.5% จากเดิมที่อยู่ระดับ 15%
โดย 5 ปีที่ผ่านมา (2012-2019) มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบันอยู่ที่ 6 ล้านครั้งต่อวัน และมีบัตรใหม่มาใช้ในระบบนี้เฉลี่ย 60,000 คนต่อวัน จากการใช้งานทั้งระบบขนส่งมวลชนของลอนดอนอยู่ที่ 10 ล้านครั้งต่อวัน บางส่วนเป็นการใช้งานจากบัตร Oster ที่ใช้สวัสดิการจากรัฐ เช่น เด็ก และผู้สูงอายุ 60 ปีที่เดินทางฟรี
ปัจจุบันระบบ Open Loop เริ่มใช้งานใน 20 เมือง ทั้งรถไฟฟ้า เรือ และใช้งานในอีก 12 ประเทศทั่วโลก เช่น สิงคโปร์ นิวยอร์ค หลังจากนี้จะเริ่มใช้ในอีก 150 เมืองทั่วโลกที่สามารถใช้ Contactless card ใช้ได้ จากจำนวนบัตร Contactless ทั่วโลกที่มีอยู่ 2,000 ล้านใบ
สภาพแวดล้อมแบบอังกฤษก่อนจะเกิด Open Loop
ในเมือง London ประเทศอังกฤษ เริ่มคิดโครงการ Open Loop ใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิตจ่ายค่าโดยสารรถขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ ได้ จากเดิมที่มีบัตรเติมเงินชื่อ Oster อยู่แล้ว
แต่ Pain Point หลักคือถึงมีบัตรเติมเงินแต่คนไม่อยากเสียเวลาเติมเงิน ซึ่งหากดูพฤติกรรมของผู้บริโภค ในการจ่ายเงิน 1 ครั้งไม่ควรใช้เวลสเกิน 30 วินาที ดังนั้นจึงใช้ บัตรต่างๆ ที่ทุกมีอยู่ในกระเป๋าสตางค์มาจ่ายแทนบัตรเติมเงินได้ย่อมสะดวกกว่า
ดังนั้นจึงเกิดการเชื่อมกับโครงสร้างพื้นฐานกับระบบการเงิน เชื่อมโยงสิ่งที่คนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และสร้างมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยเทคโนโลยี รวมถึงการปรับกับแผนธุรกิจ
สรุป
ภาคเอกชนเข้าไปพูดคุยกับภาครัฐไว้แล้ว ดังนั้นช่วงไตรมาส 4 ปี 2019 นี้ต้องจับตาบัตรแมงมุม 4.0 ที่เป็นระบบ Open Loop หรือ EMV จะเปิดตัวตามที่ภาครัฐเคยประกาศไว้หรือไม่?
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา